สารบัญ
- การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแนวทางใหม่
- การผ่าตัดแบบตัดสงวนเต้า คืออะไร
- 3 ข้อดีของการผ่าตัดแบบสงวนเต้า
- ระยะที่เหมาะสมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้า
- การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้า ต้องรู้อะไรบ้าง ?
- สรุปการผ่าตัดแบบสงวนเต้า
- การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ คืออะไร ?
- 2 แนวทาง การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่
- วิธีการผ่าตัด LD flap เป็นอย่างไร ?
- ข้อดีและข้อควรทราบของ LD flap
- ใครเหมาะที่จะผ่าตัดแบบ LD flap บ้าง ?
- วิธีการผ่าตัดแบบ TRAM flap เป็นอย่างไร ?
- ข้อดีและข้อควรทราบของ TRAM flap
- ใครเหมาะที่จะผ่าตัดแบบ TRAM flap บ้าง ?
- สรุปการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่
- สรุป
การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแนวทางใหม่
“การผ่าตัด” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคการรักษาหลักของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่มุ่งเน้นเพียงการรอดชีวิต เป็นการผ่าตัดที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสวยงามมากขึ้น
การรักษาในปัจจุบันของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมก็เช่นเดียวกัน เพราะเรามีเทคนิคการผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery: BCS) ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือหากมีบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านม (Breast Reconstruction) ได้ทันทีโดยใช้เต้านมเทียมหรือใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง เติมเต็มความมั่นใจผู้ป่วย ให้ใช้ชีวิตหลังการรักษาได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดิม
การผ่าตัดแบบตัดสงวนเต้า คืออะไร
การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery: BCS) คือ การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งจะใช้วิธีทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาช่วยในการตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก โดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมด แพทย์จะออกแบบบาดแผล ประเมินปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณที่จะผ่าตัดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเกิดการเสียรูปทรง หรือบิดเบี้ยวหลังผ่าตัด ซึ่งการตรวจพบมะเร็งในระยะแรก ๆ สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้
3 ข้อดีของการผ่าตัดแบบสงวนเต้า
- สามารถเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ เต้านมจะมีรูปทรงใกล้เคียงกับตอนก่อนรักษา
- มีระยะพักฟื้นที่สั้นกว่า ผู้ป่วยอาจนอนพักฟื้นแค่ 1 คืน หรือบางราย แพทย์อาจให้กลับได้เลย
- ทำให้ไม่สูญเสียความมั่นใจ ส่งผลดีต่อจิตใจของผู้เข้ารับการรักษา
ระยะที่เหมาะสมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้า
ระยะของมะเร็งเต้านม จะแบ่งเป็น 5 ระยะ ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบสงวนเต้าสามารถทำได้ในมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 0 ถึง 2 หรืออาจรักษามะเร็งระยะที่ 3 ได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ทั้งนี้ ในการผ่าตัดแบบสงวนเต้าต้องทำรักษาควบคู่ไปกับการฉายรังสีด้วย
ระยะของ มะเร็งเต้านม |
ลักษณะอาการ | การผ่าตัด แบบสงวนเต้า |
---|---|---|
ระยะที่ 0 | ระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ยังไม่ลุกลามไปเนื้อเยื่อของเต้านม | สามารถทำได้ |
ระยะที่ 1 | ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. ยังไม่ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลือง | สามารถทำได้ |
ระยะที่ 2 | ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 ซม. ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่น | สามารถทำได้ |
ระยะที่ 3 | ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. ลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น | แล้วแต่กรณี |
ระยะที่ 4 | มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นแล้ว | ไม่สามารถทำได้ |
การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้า ต้องรู้อะไรบ้าง
เราแบ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกวิธีผ่าตัดได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ตัวมะเร็ง และผู้ป่วย
ปัจจัยด้านลักษณะมะเร็ง
แพทย์จะวิเคราะห์ตำแหน่งของมะเร็ง เพื่อกำหนดตำแหน่งของบาดแผล รวมถึงลักษณะการจัดวางแนวแผล อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบสงวนเต้าต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่เหมาะกับการรักษาข้างต้น ในกรณีดังนี้
- หากลักษณะของมะเร็งบ่งบอกว่ามีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูงหรือมีความร้ายแรง
- ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่เกินไป เมื่อเทียบกับขนาดเต้านม
- มะเร็งกระจายตัวหลายตำแหน่ง หรือเกิดขึ้นเป็นหลาย ๆ หย่อมในเต้านม
ปัจจัยด้านผู้ป่วย
- อายุ: ปัจจุบัน วิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้า ยังไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ๆ
- กรรมพันธุ์ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ: หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งซ้ำได้ในอนาคต การผ่าตัดสงวนเต้าอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มนี้
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมอีกข้างออกด้วย หากผู้ป่วยได้รับการตรวจยืนยันว่ามียีนมะเร็งเต้านม (BRCA-1, BRCA-2) เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งที่เต้านมอีกข้างที่ยังปกติอยู่ - โรคประจำตัว และสภาพร่างกาย: หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือสภาพร่างกาย ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉายแสงได้ อาจไม่เหมาะกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้า เนื่องจากต้องได้รับการฉายแสงเป็นควบคู่ไปด้วยในการรักษา
- การตั้งครรภ์: ผู้ป่วยมีครรภ์ จะไม่สามารถเข้ารับการฉายรังสีได้ จึงไม่สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้
- ประวัติการฉายรังสี: หากผู้ป่วยเคยมีประวัติการฉายรังสีบริเวณทรวงอกมาก่อน จะไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้
- ลักษณะเต้านมของผู้ป่วย: เนื่องจากการผ่าตัดแบบสงวนเต้าจะคำนึงถึงความสมดุลของเต้านมทั้งสองข้างภายหลังการผ่าตัด จึงต้องมีพิจารณารูปทรงและขนาดของเต้านมด้วย
หากผู้ป่วยมีเต้านมขนาดเล็ก อาจมีข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เลือกวิธีผ่าตัดก่อนแล้วเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่
สรุปการผ่าตัดแบบสงวนเต้า
การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast conserving surgery: BCS) มีข้อดีคือ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด เหมาะกับผู้ที่มีความประสงค์จะเก็บรักษาเต้านมไว้ ภายใต้ความเหมาะสม ทั้งในด้านร่างกาย และด้านลักษณะของมะเร็งที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ซึ่งอาจเกิดจากระยะของมะเร็งที่ไม่เหมาะสม หรือปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็ตาม อีกวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่ต้องการมีเต้านมใหม่ที่ใกล้เคียงกับเต้านมเดิม คือ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction)
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ คืออะไร
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction) คือ การผ่าตัดเพื่อสร้างรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่ให้ใกล้เคียงกับเต้านมเดิม ในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า โดยใช้เต้านมเทียมหรือใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง เนื้อเยื่อที่นิยมได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง และกล้ามเนื้อและไขมันบริเวณที่หลัง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นและกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง
2 แนวทาง การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่
การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แบบช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและปลอดภัย ปัจจุบันจะมีแนวทางการผ่าตัดที่นิยมอยู่ 2 แบบ ต่างกันที่ตำแหน่งของเนื้อเยื่อที่เลือกใช้ ได้แก่
- เทคนิค LD flap (Latissimus Dorsi flap) จะใช้ผิวหนังกล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลังในการผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านม
- เทคนิค TRAM flap (Transverse Rectus Abdominis Musculocutaneous flap) จะใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง ในการผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านม
ทั้ง 2 เทคนิคนี้ เป็นเทคนิคตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ปลอดภัย สามารถเก็บรักษาได้แม้กระทั่งหัวนมและผิวหนังเดิมของผู้ป่วย มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพียงแค่ 3 วัน ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ จะเหมือนเต้านมจริงทั้งในลักษณะของเนื้อเต้านมและรูปร่าง
วิธีการผ่าตัด LD flap เป็นอย่างไร
วิธีการผ่าตัด Latissimus Dorsi (LD) flap หรือ LD flap เป็นวิธีที่ใช้ในการผ่าตัดเพื่อสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมที่ต้องการทำการผ่าตัดเต้านมออก ซึ่งวิธีการนี้จะใช้ผิวหนังกล้ามเนื้อ Latissimus Dorsi และไขมันบริเวณหลังมาผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านม ภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด
ข้อดีและข้อควรทราบของ LD flap
การผ่าตัดแบบ LD flap จะใช้กล้ามเนื้อที่หลัง ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน อีกทั้งผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสุขภาพได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง รวมทั้งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย
ระยะการนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล เทียบเท่ากับการผ่าตัดในมะเร็งเต้านมตามปกติคือประมาณ 3 วัน สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวและสังคม
แม้ว่าการผ่าตัด LD flap reconstruction จะดูยุ่งยากเล็กน้อย แต่ก็เพิ่มเวลาในการผ่าตัดไม่มากนัก และเนื่องจากวิธีการนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้เต้านมเทียมช่วยเสริม แต่จะใช้เพียงแผ่นผิวหนังและชั้นไขมันบริเวณหลังรวมไปถึงกล้ามเนื้อ LD ของตัวผู้ป่วยเองทั้งหมด
ดังนั้นผลของการผ่าตัดในระยะยาวแล้ว จะได้ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนเต้านมจริงมากที่สุด ทั้งในด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความพึงพอใจ และความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่เช่นเดิมได้เป็นอย่างดี
ใครเหมาะที่จะผ่าตัดแบบ LD flap บ้าง
- ผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็กถึงปานกลาง
- ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อย ไม่มาก
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องมาตกแต่งได้ เนื่องจากมีรอยแผลเป็นบริเวณหน้าท้องมาก่อน
- ใช้ผ่าตัดเสริมเพื่อแก้ไขในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยวิธีอื่นมาก่อน
วิธีการผ่าตัดแบบ TRAM flap เป็นอย่างไร
วิธีการผ่าตัดแบบ Transverse Rectus Abdominis Musculocutaneous flap หรือ TRAM flap คือ การผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่โดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องมาผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านมภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด
ข้อดีและข้อควรทราบของ TRAM flap
การผ่าตัดใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่นกัน เนื่องจากมีความปลอดภัย มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ระยะการนอนรักษาตัวประมาณ 3-5 วัน
นอกจากนี้ยังได้เต้านมที่มีลักษณะหย่อนคล้อยสวยงาม มีความนุ่มเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับเต้านมจริง เนื่องจากกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องมีความหนาและนุ่ม
ข้อควรทราบของการทำ TRAM flap
การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ อาจต้องใช้เวลานานกว่า และตัวผู้ป่วยเองอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่บริเวณหน้าท้องได้ เช่น ผนังหน้าท้องอ่อนแรง ไส้เลื่อน และจะมีแผลเป็นบนผนังหน้าท้องในตำแหน่งที่อาจสังเกตเห็นได้
ใครเหมาะที่จะผ่าตัดแบบ TRAM flap บ้าง
- เหมาะสมสำหรับเต้านมทุกขนาด ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
- ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อยมาก
- ผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีผนังหน้าท้องหนาเพียงพอ (และไม่มีแผลเป็นหรือเคยรับการรักษาดูดไขมันที่หน้าท้อง)
- ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะอ้วนหรือเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
- ผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ หรือหยุดสูบบุหรี่มาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน
สรุปการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่
การผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมขึ้นมาใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวเอง นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องทำการผ่าตัดเต้านมออกไป มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น
ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความประสงค์ผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกและต้องการเสริมสร้างเต้านมใหม่ วิธีการดังกล่าวนี้ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยผู้ป่วยได้มาก อย่างไรก็ตามต้องปรึกษาศัลยแพทย์ก่อน ถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี
สรุป
ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการตรวจเต้านมและการส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำให้ค้นพบมะเร็งในระยะแรก ๆ ได้มากขึ้น มีผลให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น
การผ่าตัดซึ่งเป็นการรักษาที่มุ่งเน้นเพียงการรอดชีวิตในอดีต ได้เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นการผ่าตัดที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสวยงามมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด และสามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ หรือหากจำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันทีในการผ่าตัดนั้น
โรงพยาบาลพระรามเก้า มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ค้นหาความเสี่ยง และคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม โดยเรามีเป้าหมายให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป หากสนใจปรึกษาสามารถติดต่อ ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลพระรามเก้าhttps://www.praram9.com/departments/breast-clinic-center/