ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ ปัญหาการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ จากข้อมูลกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่าผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 3 พลัดตกหกล้มทุกปี และผู้สูงอายุกว่าหมื่นรายที่พลัดตกหกล้มได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นขา ข้อสะโพกจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และพบว่า 20% ของผู้สูงอายุที่มีข้อสะโพกหัก มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1 ปี ดังนั้นกระดูกสะโพกหักจากการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ เป็นภัยใกล้ตัวที่พบบ่อย และอาจทำให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตได้
อาการกระดูกสะโพกหัก
เมื่อกระดูกสะโพกหัก อาจสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- ปวดบริเวณขาหนีบ หรือสะโพกข้างที่หักอย่างรุนแรง
- อาจมีรอยบวม ช้ำ และอาจมีการเจ็บปวดร้าวไปยังบริเวณหัวเข่าข้างเดียวกันได้
- ไม่สามารถยืน เดิน หรือลงน้ำหนักข้างที่มีกระดูกสะโพกหักได้
- ขาข้างที่มีกระดูกสะโพกหักอาจสั้นกว่าขาอีกข้าง
- ลักษณะปลายเท้าจะหมุนออกจากลำตัว
ใครบ้างเสี่ยงกระดูกสะโพกหัก?
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกสะโพกหักมากที่สุด คือ ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน เมื่ออายุมากขึ้น เนื้อกระดูกจะค่อย ๆ บางลง กระดูกที่เคยมีความแข็งแรงก็อ่อนแอลง ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุมักจะมีหลังค่อม หรือตัวเตี้ยลง เกิดจากการหักยุบตัวลงของกระดูกสันหลังที่พรุน นอกจากนี้หากภาวะกระดูกพรุนเกิดขึ้นบริเวณสะโพก กระดูกก็อาจมีการสึกกร่อน แม้ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุหกล้ม ก็เสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่ายอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดการหกล้ม หรือการกระแทกเพียงนิด ๆ หน่อย ๆ กระดูกและข้อที่เสื่อมสภาพอยู่แล้วจะไม่สามารถรับแรงกระแทกได้เต็มที่ จนทำให้กระดูกสะโพกหักได้
นอกจากนั้นผู้สูงอายุยังมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายด้านอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสายตา สายตายาว เกิดต้อกระจก มีลานสายตาแคบลง การมองเห็นในที่มืดหรือกลางคืนไม่ดีเท่าปกติ ก็อาจทำให้ก้าวพลาดหรือเดินสะดุดสิ่งของต่าง ๆ ได้ และยังมีปัญหากล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลง ซึ่งอาจเกิดจากกล้ามเนื้อลีบจากการไม่ได้ใช้งาน รวมไปถึงมีการลดลงของสัญญาณประสาท ทำให้เสียสมดุลในการทรงตัว ยิ่งเสี่ยงทำให้หกล้มได้ง่ายขึ้น
ช่วงเวลา (ฤดู) ที่ผู้สูงอายุสะโพกหักกันมากที่สุดในแต่ละปี
สภาพอากาศที่หนาวเย็นในฤดูหนาวของประเทศไทย อาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย อีกทั้งยังเป็นฤดูที่ท้องฟ้ามืดเร็วและสว่างช้าเมื่อเทียบกับฤดูกาลอื่น เมื่อผู้สูงอายุลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ มองไม่เห็นสิ่งของเกะกะขวางทางเดิน เกิดการสะดุดหรือลื่นหกล้ม โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนกระดูกสะโพกหักก็ยิ่งมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ “ฤดูหนาว” จึงถือว่าเป็นฤดูกาลที่แพทย์หลาย ๆ ท่านมักเรียกว่า “ฤดูสะโพกหัก” เพราะมีจำนวนคนไข้เข้ารับการรักษาด้วยอุบัติเหตุกระดูกสะโพกหักมากกว่าฤดูกาลอื่น ๆ ของปี ซึ่งข้อมูลนี้สัมพันธ์กับการศึกษาวิจัยในสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ โดยช่วงฤดูหนาวจะมีผู้เข้ารับการรักษาด้วยกระดูกสะโพกหักมากขึ้นถึง 8% ซึ่งอาจมีปัจจัยมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ช่วงระยะเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน อาจส่งผลต่อการมองเห็น รวมไปถึงมีการเปลี่ยนแปลงของระดับวิตามินดี ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมไปสะสมที่กระดูกลดน้อยลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสะโพกหักมากขึ้น
กระดูกสะโพกหัก ทำอย่างไรดี?
ถ้าสงสัยว่ามีอาการของกระดูกสะโพกหักควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากในผู้สูงอายุที่หกล้มจนกระดูกสะโพกหัก มักจะยืนไม่ได้ เดินไม่ไหว และทำให้เกิดผลอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น เมื่อปวดจนเดินไม่ไหวก็จะนอนติดเตียง เกิดแผลกดทับเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดภาวะกล้ามเนื้อขาลีบเพราะไม่ได้ใช้งาน บางคนได้แต่นอนราบติดเตียง ลุกนั่งไม่ได้เลย ปอดก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดภาวะปอดบวม บางคนนอนติดเตียงขับถ่ายปัสสาวะลำบาก ก็มีโอกาสเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ที่ร้ายแรงที่สุดกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็คือ มีโอกาสที่ลิ่มเลือดอุดในขาหรือปอดจนทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การไปพบแพทย์อย่างทันท่วงทีก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนอันตรายเหล่านี้ได้
ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกสะโพกหัก
ความรุนแรงของกระดูกสะโพกหักจะขึ้นกับตำแหน่งของกระดูกที่หัก และให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้แตกต่างกันออกไป เช่น กรณีที่มีการหักและทำให้มีการฉีกขาดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนหัวกระดูกสะโพก (femoral head) อาจส่งผลให้บริเวณดังกล่าวขาดเลือดจนเกิดเนื้อกระดูกตาย (avascular necrosis) ในที่สุด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย นอกจากนั้นอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ดังนี้
- ปอดอักเสบ
- กล้ามเนื้อลีบ
- เสี่ยงติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด กรณีได้รับการดูแลไม่เหมาะสม
- กระดูกสะโพกไม่ติดกัน
- ข้อกระดูกเสื่อม
- แผลกดทับ เนื่องจากเคลื่อนไหวน้อย เพราะกลัวเจ็บ
- เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณขา ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ลิ่มเลือดหลุด ลิ่มเลือดนี้จะหลุดและไหลไปที่หัวใจและไหลต่อไปที่ปอดจนไปอุดตันที่ปอด ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำที่ขานี้ สามารถเกิดได้ในผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษา หรือหลังการผ่าตัดซึ่งมีการจำกัดการเคลื่อนไหว ทำให้การไหลเวียนของเลือดดำไม่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้
การตรวจพิเศษยืนยันกระดูกสะโพกหัก
ผู้สูงอายุที่มีอาการของกระดูกสะโพกหัก จะต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ หรืออาจต้องรับการตรวจพิเศษหลังเข้ารับการรักษา เพื่อประเมินผลการรักษา และวางแผนการรักษาต่อเนื่องให้เหมาะสม การตรวจพิเศษประกอบไปด้วย
- เอกซเรย์กระดูกที่สงสัยว่าหัก (X-ray)
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- สแกนกระดูก (bone scan)
การรักษากระดูกสะโพกหัก
แนวทางการรักษากระดูกสะโพกหัก คือ การผ่าตัด ซึ่งควรได้รับการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงแรก หลังกระดูกสะโพกหัก เพราะช่วยลดระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดการใช้ยาบรรเทาการเจ็บปวด และลดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ส่วนใหญ่แนวทางการรักษาจะมีการผ่าตัด 2 ชนิด ดังนี้
- ผ่าตัดยึดตรึงกระดูกด้วยโลหะ (close หรือ open reduction with internal fixation) โดยแพทย์จะทำการจัดกระดูกให้เข้าที่ตามโครงสร้างทางกายวิภาค และใช้สกรูหรือแผ่นเหล็กดึงกระดูกเข้าหากัน
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก (hip replacement) โดยเปลี่ยนบางส่วนหรือทุกส่วนของข้อสะโพก
หลังผ่าตัดควรมีการเคลื่อนไหวและลุกจากเตียงให้เร็วพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการนอนบนเตียงนานและไม่เคลื่อนไหว นอกจากนั้นมีการศึกษาพบว่าหลังผ่าตัดควรได้รับการทำกายภาพบำบัดโดยเร็วที่สุดเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับมาเดินและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
การป้องกันกระดูกสะโพกหัก
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ แนะนำให้ผู้สูงอายุเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายให้พร้อม ดังนี้
- เริ่มตรวจรักษาภาวะกระดูกพรุนแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่หมดประจำเดือนมักจะสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็ว
- ตรวจสายตาและสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยทุกปี
- ส่งเสริมการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม หรือวิตามินดีสูง เพื่อส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมไปสร้างเป็นกระดูก
- ปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเพื่อลดความเสี่ยงในการพลัดตกหกล้ม
- ปรับสภาพแวดล้อมให้มีความสว่างเพียงพอ ผู้สูงอายุสามารถมองเห็นสิ่งกีดขวางได้เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อและข้อต่อ และให้มีความสมดุลในการทรงตัว
สรุป
กระดูกสะโพกหักจากอุบัติเหตุเป็นภัยใกล้ตัวที่พบบ่อย แต่มีอันตรายถึงชีวิต เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา คิดว่าแค่หกล้มเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาอีกมากเลยทีเดียว ดังนั้นถ้ามีอาการแสดงคล้ายกระดูกสะโพกหักควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี