โรค “ไหลตาย” ทางภาคอีสานในอดีตเคยเชื่อว่า “ผีแม่หม้ายมาเอาตัวไป” เนื่องจากมักจะเกิดกับชายหนุ่มในช่วงอายุ 20-50 ปี ที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่พอเข้านอนหลับไปแล้วตอนเช้าจะพบว่าเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ
ปัจจุบันเรามีข้อมูลมากขึ้น และพบว่าผู้ที่เสียชีวิตจากลักษณะดังกล่าว มักพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบที่เรียกว่า Brugada จึงเรียกกันว่า Brugada syndrome (บรูกาด้า ซินโดรม) พบได้บ่อยในชาวไทยที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบภาคอีสาน และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
โรคไหลตาย คืออะไร?
โรคไหลตาย (Sudden Unexplained Nocturnal Death syndrome; SUNDS) คือ กลุ่มอาการที่มีการเสียชีวิตขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ หรือโครงสร้างหัวใจผิดปกติ
ภาวะหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคไหลตาย คือกลุ่มอาการที่เรียกว่า Brugada Syndrome (บรูกาดา ซินโดรม) ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ควบคุมการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ (channelopathy) ส่งผลให้ระบบนำไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้คนไข้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หัวใจไม่สามารถบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายได้ มักเกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับและเสียชีวิตในที่สุด
โรคไหลตายพบเยอะแค่ไหนในเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งตระหนกตกใจจนเกินไปว่าตนเองจะเป็นโรคนี้ หรือเกิดการไหลตายเหมือนในข่าว คนที่เป็นโรคนี้จริงๆ พบได้ประมาณ 0.004% เท่านั้น และจากสถิติในประเทศไทย พบผู้ป่วย Brugada Syndrome ประมาณ 40 คน จากจำนวนประชากร 100,000 คน ส่วนใหญ่พบในคนภาคอีสาน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักเป็นผู้ชายอายุน้อยช่วงอายุ 20 – 50 ปี ดังที่กล่าวไปข้างต้น
ปัจจัยสำคัญของโรคไหลตาย
ปัจจัยสำคัญที่มักจะพบในผู้ป่วยโรคนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวที่อายุน้อยเสียชีวิตเฉียบพลัน
- เคยมีอาการหน้ามืด หรือหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุมาก่อน
อาการที่อาจพบได้ของโรคไหลตาย
แม้ว่าเรามักได้ยินข่าวว่าคนที่เป็นโรคไหลตาย เสียชีวิตไปขณะนอนหลับโดยที่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆมาก่อน แต่มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีอาการบางอย่างมาก่อน แล้วมาพบแพทย์ และแพทย์ได้หาตรวจวินิจฉัยจนพบว่าเป็นโรคไหลตาย อาการดังกล่าวที่อาจพบได้ ได้แก่
- ใจสั่น
- หมดสติไปชั่วขณะ
- วูบ เป็นลม
- เวียนศีรษะ
- ชัก
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- เคยตรวจพบว่ามีหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
- กรณีที่อาการกำเริบระหว่างนอนหลับอาจมีเสียงหายใจครืดคราดคล้ายละเมอ
ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการผิดปกติดังกล่าว
การวินิจฉัยโรคไหลตาย
การวินิจฉัยโรคไหลตาย เบื้องต้นทำได้โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูลักษณะของคลื่นไฟฟ้าหัวใจว่าเข้าได้กับลักษณะของ Brugada syndrome หรือไม่ อาจพิจารณาร่วมกับการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อตรวจดูโครงสร้างของหัวใจว่าปกติหรือไม่ หรือแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจโดยการใส่สายเข้าไปตรวจภายในหัวใจ (EP study) ในรายที่สงสัยว่ามีภาวะ Brugada syndrome หรือตรวจทางพันธุกรรม (genetic testing) เพื่อดูการกลายพันธุ์ในสารพันธุกรรม
เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นหากท่านมีคนในครอบครัวมีประวัติเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น นอนหลับแล้วเสียชีวิต วูบหมดสติเสียชีวิต ตั้งแต่อายุน้อย ๆ แนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคนี้
ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะในผู้เป็นโรคไหลตาย
ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไหลตายต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่
- มีไข้สูง
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุ
- ยาบางชนิด ดังนั้นผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะไหลตาย จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องได้รับยาบางชนิดเช่น ยานอนหลับ หรือยาที่มีผลต่อแร่ธาตุในร่างกาย
การรักษาโรคไหลตาย
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ แต่แพทย์จะให้การรักษาโดยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น การฝังเครื่องกระตุกหัวใจหรือเครื่องซ๊อตไฟฟ้าหัวใจ (AICD), การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ, การจี้ไฟฟ้าหัวใจ (RFA) ซึ่งต้องพิจารณาความเหมาะสมในคนไข้แต่ละราย
สรุป
โรคไหลตายเป็นโรคที่มีการเสียชีวิตขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาจภาวะหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการไหลตายคือกลุ่มอาการที่เรียกว่า Brugada syndrome ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าที่ผิดปกติในห้องหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง และเสียชีวิตได้ ซึ่งมักพบว่าคนที่เป็นโรคนี้เสียชีวิตไปขณะหลับ โดยที่ไม่เคยมีอาการผิดปกติใด ๆ เตือนมาก่อน โรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น หากท่านใดมีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว หรือมีอาการสงสัย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงและตรวจเพิ่มเติมเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสมต่อไป