ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและตันเฉียบพลันเป็นการ เจ็บป่วยที่สำคัญของคนไทย โดยที่มีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้มากขึ้น อาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือเจ็บหน้าอก และเหนื่อย ไม่สามารถออกกำลัง หรือปฏิบัติภารกิจทางกายได้ ซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดที่ตีบ และการเสียชีวิตก็มักจะเกิดมากจากมีภาวะการตายเฉียบพลันของกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดจากหลอดเลือดที่อุดตันโดยไม่มีอาการเตือนมาก่อน
การตีบของหลอดเลือด หรือ การตันของหลอดเลือดนั้น
เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นภาวะเสื่อม (Degenerative Change) อย่างหนึ่งของร่างกาย โดยไขมันในผนังหลอดเลือดนี้ก็จะมีแคลเซียม หรือ หินปูน สะสมร่วมไปด้วย จนทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็ง การตรวจวัดหินปูนหรือแคลเซียมที่เกาะอยู่กับหลอดเลือดหัวใจ ก็เปรียบเสมือนการตรวจวัดการเกาะหรือสะสมของไขมัน ในผนังหลอดเลือดนั่นเอง
ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจเพื่อประเมินโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจหลายอย่างด้วยกัน อาทิเช่น การตรวจระดับไขมันในเลือด การวัดความดันโลหิต การเดินสายพาน (Exercise Stress Test) เป็นต้น การตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Detection) ก็เป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งมีหลักฐานการศึกษาวิจัยรองรับมากมาย ว่าระดับหรือค่าที่ตรวจพบได้ สามารถทำนายโอกาสที่จะเกิดการเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้แม่นยำกว่าการตรวจเดี่ยววิธีอื่นๆ
CT Coronary Calcium Score
สามารถตรวจวัดระดับแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และสามารถตรวจวัดได้ก่อนมีอาการของโรคหัวใจนานหลายปี ค่าที่วัดได้จาก CT Coronary Calcium Score นี้ จะนำไปใช้เพื่อการบอกโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากขึ้นหลายเท่าตัว จึงควรได้รับการตรวจเพื่อที่จะนำข้อมูลไปประกอบการคำนวณอัตราเสี่ยงและมาตรการตรวจรักษา ป้องกัน ที่เหมาะสมกับบุคคลได้
ผู้ที่ควรตรวจ CT calcium score คือ
- ผู้ป่วยทั่วไปที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางของการเกิดโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคไตวาย