โรคมะเร็ง (cancer) เป็นโรคที่น่ากลัวและร้ายแรง และเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของโลก โดยองค์การอนามัยโลกรายงานว่าในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทย โรคมะเร็งถือว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2022 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ 120,000 คนต่อปี
เนื่องจากโรคมะเร็งมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ๆ จึงทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจนเกิดการลุกลามของมะเร็ง และทำให้รักษายาก และเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น
โรคมะเร็งคืออะไร?
มะเร็ง (cancer) เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย เซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกว่าปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ทัน ส่งผลให้เซลล์มะเร็งรวมตัวกันเป็นก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ ไปกดเบียดเนื้อเยื่ออวัยวะข้างเคียง และหากไม่ได้รับการรักษา เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผ่านระบบเลือดและน้ำเหลือง ทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะ ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
เนื้องอกอาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป เนื้องอกบางชนิดเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดา ไม่ได้ลุกลามหรือทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง การวินิจฉัยว่าเนื้องอกนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
โรคมะเร็งที่พบได้บ่อย
มะเร็งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จากสถิติจากองค์การอนามัยโลก รายงานจำนวนผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยปี 2022 แบ่งตามเพศดังนี้
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย 5 อันดับแรก
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายไทย 5 อันดับแรก
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
อาการ สัญญาณเตือนของโรคมะเร็ง
มะเร็งระยะแรกมักไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน หลายครั้งที่พบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพทั่วไปอย่างไรก็ตาม มะเร็งบางชนิดอาจแสดงอาการบางอย่างในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง โดยอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- มีไข้
- มีเลือดออกผิดปกติที่อวัยวะต่าง เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือมูกเลือด มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีรอยจ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย หรือมีจุดแดงตามผิวหนัง
- มีอาการปวดของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปวดหลัง หรือปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง
- ท้องอืด ปวดเสียด ท้องเฟ้อแน่น อึดอัดท้อง เรื้อรัง หรือ ท้องผูกสลับท้องเสีย
- น้ำหนักลดลงมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ด โดยไม่ทราบสาเหตุ
- แขนและ/หรือขาอ่อนแรง มีอาการชัก โดยที่ไม่มีประวัติของโรคอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการชัก
- กลืนลำบาก เสียงแหบ ไอเรื้อรัง
- แผลหายยาก รักษาไม่หาย
- มีการเปลี่ยนแปลงของหูดและไฝตามร่างกาย มีก้อนหรือตุ่มต่าง ๆ ตามร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง เกิดจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายและภายในร่างกาย
ปัจจัยภายนอกร่างกาย เป็นปัจจัยที่เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
- สารเคมีต่าง ๆ
- สารเคมีในอาหาร: เช่น สารอะฟลาทอกซินจากเชื้อราในอาหารแห้ง สีผสมอาหาร สารกันบูด
- ควันบุหรี่และเขม่ารถยนต์
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สารเคมีจากเนื้อสัตว์แปรรูป: เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน
- สารเคมีในอุตสาหกรรม:
- รังสีต่าง ๆ
- รังสีจากแสงแดด
- รังสีเอกซเรย์
- รังสีจากวัสดุอุปกรณ์กัมมันตภาพรังสี
- การติดเชื้อเรื้อรัง
- ไวรัสตับอักเสบบีและซี
- เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ไวรัส Epstein-Barr
- ไวรัส Human papillomavirus (HPV) ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
- พยาธิใบไม้ตับ ทำให้เกิดมะเร็งตับและท่อน้ำดี
ปัจจัยภายในร่างกาย เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่สามารถดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
- อายุ
- พันธุกรรม
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- การระคายเคืองเรื้อรัง
- ภาวะทุพโภชนาการ
อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
การวินิจฉัยโรคมะเร็ง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อจะช่วยยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดใด ระยะใด และเพื่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม แพทย์จะใช้วิธีการวินิจฉัยหลายวิธีประกอบกัน ดังนี้
- การตรวจร่างกายโดยแพทย์: แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด คลำหาต่อมน้ำเหลืองที่โต ก้อนเนื้อผิดปกติ หรือรอยโรคอื่น ๆ ในบางชนิดของมะเร็งผู้ป่วยสามารถตรวจด้วยตัวเองเบื้องต้นได้ เช่น การตรวจเต้านม
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: ตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรือเสมหะ เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง หรือเซลล์มะเร็ง ตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง
- การตรวจทางพยาธิวิทยา: โดยจะเป็นการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือเซลล์จากบริเวณที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง แล้วส่งตรวจเพื่อวิเคราะห์ลักษณะของเซลล์ ตรวจสอบว่าเซลล์เหล่านั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ และเพื่อระบุชนิดของมะเร็ง
- การตรวจทางรังสี: เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเฉพาะอวัยวะ (MRI) การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยเทคนิคเหล่านี้ช่วยให้แพทย์มองเห็นก้อนเนื้อ มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และช่วยระบุระยะของโรค
- การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษ: เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร การตรวจอัลตราซาวด์อวัยวะต่าง ๆ
โดยแพทย์จะเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค อาการ และประวัติของผู้ป่วย
การตรวจคัดกรองมะเร็ง
การตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นวิธีการที่สำคัญ ช่วยให้พบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ส่งผลต่อแนวทางการรักษาและโอกาสหายจากโรค เพราะการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ ทำให้มีโอกาสรักษาหายสูง การรักษามีความซับซ้อนน้อยลง รวมทั้งผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลง
ปัจจุบัน โปรแกรมการตรวจคัดกรองมะเร็งมักรวมอยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพทั่วไปหรืออาจมีโปรแกรมเฉพาะโรคเพื่อการตรวจที่ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรคมะเร็งทำได้โดย
- การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง
- AFP: ตรวจคัดกรองมะเร็งตับ
- CEA: ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้
- PSA: ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
- CA153: ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ThinPrep Pap Test: ตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก
การรักษาโรคมะเร็ง
ในการรักษาโรคมะเร็ง แพทย์จะวางแผนการรักษาโดยพิจารณาตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ตำแหน่ง ระยะของโรคและความรุนแรงของโรค ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการรักษาหลายวิธีประกอบกันเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด การรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการตรวจพบและรักษาที่ระยะรุนแรงแล้ว วิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยทั่วไป มีดังนี้
- การผ่าตัด: เป็นการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อมะเร็งออก เหมาะสำหรับมะเร็งระยะแรก ๆ หรือมะเร็งที่ยังไม่ลามไปยังอวัยวะอื่น
- การให้ยาเคมีบำบัด: เป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย อาจใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรือหลายชนิดร่วมกัน มักใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด หรือการฉายรังสี
- การฉายรังสี: เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง อาจฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย หรือสอดเครื่องมือฉายรังสีเข้าไปในร่างกาย มักใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด หรือยาเคมีบำบัด
- การรักษาด้วยฮอร์โมน: เป็นการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เหมาะสำหรับมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก
- การรักษาแบบผสมผสาน: เป็นการรักษาร่วมกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
การป้องกันโรคมะเร็ง
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคมะเร็งที่จำเพาะเจาะจง แต่บุคคลทั่วไปสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพ ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเคมี แสงแดด
- จัดการความเครียด
- ตรวจสุขภาพและคัดกรองมะเร็งเป็นประจำ
สรุป
โรคมะเร็งคือการเกิดเซลล์ผิดปกติที่เติบโตอย่างไม่ปกติและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรมหรือปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับหรือสัมผัสสารเคมี การควบคุมปัจจัยเสี่ยงและการตรวจคัดกรองเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็ง