หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญและทำงานหนักตลอดเวลา โดยเฉลี่ยแล้วหัวใจต้องเต้นเฉลี่ยวันละประมาณ 100,000 ครั้ง ปัจจุบันโรคหัวใจเป็นโรคที่ใกล้เราตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เราคงเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิตของคนใกล้ตัวหรือคนที่รู้จักด้วยสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือกรณีการหมดสติของนักกีฬาในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งมีสาเหตุจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) ถือว่าเป็นโรคหัวใจแบบหนึ่ง ที่มีการกล่าวถึงอย่างมากในปัจจุบันภาวะหัวใจที่เต้นผิดจังหวะนั้น ส่งผลให้เกิดการบีบตัวของหัวใจที่ผิดปกติตามมา หากรุนแรงและปล่อยทิ้งไว้ อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ คืออะไร?
ในขณะที่เรากำลังพัก หัวใจจะเต้น 60 – 100 ครั้ง/นาที และมีจังหวะสม่ำเสมอ โดยในภาวะปกติ หัวใจอาจเต้นเร็วกว่า 100 ครั้ง/นาทีได้ เช่น ตอนออกกำลังกาย ตอนตื่นเต้น ตกใจ และอาจเต้นช้ากว่า 60 ครั้ง/นาที ในขณะที่เรากำลังนอนหลับ นั่งสมาธิ เป็นต้น
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmia) คือ ภาวะที่หัวใจเต้นผิดไปจากปกติ (ปกติคือ 60 – 100 ครั้ง/นาที) แบ่งได้เป็น
- หัวใจเต้นผิดปกติแบบช้า คือ อัตราเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที
- หัวใจเต้นผิดปกติแบบเร็ว คือ อัตราเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที
- หัวใจเต้นผิดปกติแบบไม่สม่ำเสมอ คือจังหวะการเต้นไม่สม่ำเสมอ มีการหยุด สะดุด หรืออาจเต้นเร็วสลับช้า
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการอย่างไร ?
- ใจสั่น
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- อาจมีเจ็บแน่นหน้าอก
- หอบ หายใจเร็ว
- อาจมี วูบ หน้ามืด หมดสติ
สาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัว และความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคน สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ
- ภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea; OSA) ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (electrolyte imbalance)
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มชูกำลัง
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน ยาลดน้ำหนักที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีน
- ยาเสพติดที่มีส่วนประกอบของแอมเฟตามีน
- พันธุกรรม
- ความเครียด
หัวใจเต้นผิดจังหวะ อันตรายแค่ไหน ?
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมีทั้งแบบรุนแรง และแบบไม่รุนแรง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตแบบทันทีทันใดได้ โดยจะมักพบในผู้ป่วยที่มีโรคทางหัวใจอยู่เดิม ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะแบบไม่รุนแรง แบบนี้อาจจะไม่อันตรายถึงชีวิดแต่ก็จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาจมีใจสั่นหรือเป็นลมหมดสติในขณะทำงาน หรือในขณะขับรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ หรือในผู้ป่วยบางคนอาจมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้หากปล่อยไว้ ไม่รักษา จะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมาได้ ดังนั้นหากสงสัยว่ามีอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การซักประวัติ เช่น ประวัติโรคประจำตัว การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด ยาลดน้ำหนัก การดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiogram; EKG) ขณะที่มีอาการ
- การติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบต่อเนื่อง (holter monitoring) เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่องเป็นเวลา 1 – 2 วัน เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการบ่อย เกือบทุกวัน แต่ครั้งละสั้น ๆ
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test; EST) เพื่อประเมินการเต้นผิดจังหวะของหัวใจขณะออกกำลังกาย
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiogram) เพื่อประเมินโครงสร้าง และการทำงานของหัวใจที่อาจสัมพันธ์กับการเต้นผิดจังหวะ
- การตรวจระบบไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study) โดยแพทย์จะใส่สายตรวจสวนหัวใจเข้าไปตรวจเช็กวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจ ซึ่งจะทำในห้องตรวจสวนหัวใจ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจพบภาวะหัวใจเต้นผิดปกติจากการตรวจที่กล่าวไปข้างต้น
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะจะแตกต่างกันตามแต่ละประเภท และความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้ผู้ป่วย แนวทางการรักษา ได้แก่
- การให้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ
- การใช้ไฟฟ้ากระตุกหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นจังหวะปกติ
- การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker) เพื่อกระตุ้นให้หัวใจทำงานตามจังหวะที่กำหนดไว้
- การจี้ทำลายวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (ablation therapy) โดยแพทย์จะใช้สายตรวจสวนหัวใจเข้าไปจี้ทำลายวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติ มักจะทำร่วมกับการตรวจระบบไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study) ที่กล่าวไปข้างต้น
- การใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (automated implantable cardioverter-defibrillator; AICD) เป็นอุปกรณ์ที่จะฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก โดยเครื่องนี้จะตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าหัวใจตลอดเวลา และจะปล่อยไฟฟ้ากระตุกหัวใจทันทีที่มีหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะชนิดอันตราย เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติ และเครื่องนี้ยังสามารถทำงานกระตุ้นหัวใจ ในกรณีที่หัวใจเต้นช้ากว่าปกติได้ด้วย
การป้องกันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นหัวใจ เช่น ชา กาแฟ (ที่มากเกินไป) และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ
- ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคทางหัวใจและหลอดเลือด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
- หากมีโรคประจำตัว ควรติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
สรุป
หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นโรคหัวใจแบบหนึ่งซึ่งหากเป็นชนิดที่รุนแรงอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตอย่างฉับพลันได้ และแม้ว่าชนิดแบบไม่รุนแรงอาจไม่ได้ทำให้เสียชีวิตแบบฉับพลัน แต่ก็มีผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ดังนั้นหากสงสัยหรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลวตามมาภายหลัง