ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นการเจ็บป่วยที่สำคัญของคนไทย โดยมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้มากขึ้น
อาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือเจ็บหน้าอกและเหนื่อย ไม่สามารถออกกำลังหรือปฏิบัติภารกิจทางกายได้ ซึ่งมักเกิดจากหลอดเลือดที่ตีบ และการเสียชีวิตก็มักเกิดจากการมีภาวะการตายฉับพลันของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดที่อุดตันฉับพลัน
การตีบของหลอดเลือด หรือการตันของหลอดเลือดนั้น มักจะมีภาวะการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะเสื่อมอย่างหนึ่ง (Degenerative Change) และการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดนี้จำเป็นต้องมีการสะสมของแคลเซียมหรือหินปูนร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็ง ดังนั้นการตรวจแคลเซียมที่เกาะอยู่กับหลอดเลือดหัวใจก็เปรียบเสมือนการตรวจพบการเกาะหรือสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจเพื่อคาดเดาโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจหลายอย่างด้วยกันอาทิ การตรวจระดับไขมันในเลือด การตรวจความดันโลหิต การเดินวิ่งสายพาน (Exercise Stress Test) และการตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานการศึกษาวิจัยที่มีมากมาย และดูเหมือนว่าจะใช้ระดับหรือค่าที่ตรวจพบในการคาดเดาโอกาสที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้เพิ่มขึ้นจากการตรวจโดยทั่วไป และจะใช้ได้เป็นประโยชน์ในการแยกแยะผู้ที่มีความเสี่ยงในระดับกลาง
Vector atherosclerosis, coronary arteries desiase heart attack awareness concept with male doctor poiting to vessels poster. Cholesterol thrombosis red cells illness. Healthcare medical problem design
ตัวอย่างเช่น นายนิพนธ์ เป็นชายอายุ 64 ปี มีประวัติความดันสูง เป็นโรคเบาหวานอยู่เดิม และสูบบุหรี่จัด มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอกบ้างเมื่อเดินขึ้นบันไดไปชั้นที่ 3 จากลักษณะข้อมูลนี้บ่งบอกได้ว่านายนิพนธ์มีโอกาสเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจสูง (ปัญหาที่กล่าวถึงคือมีโอกาสที่มีจะมีอาการแน่นหน้าอกฉับพลัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเสียชีวิตฉับพลันทันที หรือต้องตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อหัวใจของคุณได้รับการรักษาด้วยการทำผ่าตัดบายพาส หรือขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน) โอกาสที่สูงก็คือ มากกว่า 30% หมายความว่า ในระยะ 5 ปีข้างหน้า คนร้อยคนแบบคุณนิพนธ์ 30 คนก็จะเกิดปัญหาดังกล่าว คุณนิพนธ์ควรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ การตรวจแคลเซียมคงจะไม่เอื้อประโยชน์เท่าใดนัก ยกเว้นแต่ตรอกย้ำถึงความจำเป็นของการดูแลรักษาเมื่อพบว่ามีการสะสมของแคลเซียมเป็นอย่างมาก
รายต่อมา นางสาวยุพิน อายุ 24 ปี มีอาชีพพยาบาล ไม่มีประวัติเจ็บป่วยเดิมแต่อย่างใด แต่มีอาการเจ็บหน้าอกแปร๊บ ๆ เป็นระยะ และไม่สูบบุหรี่ ลักษณะแบบนี้บ่งบอกถึงผู้ที่ยังปราศจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดปัญหาจากโรคหลอดเลือดหัวใจใน 10 ปีข้างหน้า การตรวจแคลเซียมในหัวใจไม่มีความจำเป็น และไม่เอื้อประโยชน์เท่าใดนัก
Vector poster Causes of heart disease. Illustration of a man with a heart attack.
ขณะที่ นายพินิจ ชายอายุ 50 ปี ไม่มีประวัติหัวใจในครอบครัว แต่มีนิสัยชอบสูบบุหรี่ ไม่จำกัดอาหาร น้ำหนักขึ้นมาโดยเฉลี่ยครึ่งกิโลกรัมต่อปีหลังจากจบมหาวิทยาลัย ยังสามารถเดินห้างสรรพสินค้าได้โดยไม่มีอาการแต่อย่างใด คุณพินิจยังไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนไข้ แต่ก็กลัวจะเป็นโรคหัวใจ เพราะเพิ่งจะมีเพื่อนเสียชีวิตฉับพลันทันทีในขณะเล่นกอล์ฟเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว จากลักษณะของคุณพินิจบ่งบอกถึงผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงในระดับกลางที่จะเกิดปัญหาเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจราว 10-20 % หรือในระยะ 5 ปีข้างหน้า คนร้อยคนอย่างคุณพินิจ 10-20 คนจะเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บหน้าอกฉับพลันต้องทำบายพาสหรือต้องทำบอลลูนหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตฉับพลันทันที
คุณพินิจไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ในใจก็คิดว่าหยุดสูบบุหรี่ได้ก็คงจะพอ การตรวจหาและวัดระดับการสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจในคนทั่วไปที่มีลักษณะแบบนี้จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เพื่อบ่งบอกถึงความเสี่ยงในอนาคต และช่วยตัดสินใจในการเลือกการดูแลรักษา นอกเหนือไปจากการเลิกสูบบุหรี่
ถ้าคุณพินิจ มีระดับการสะสมของแคลเซียมมากกว่า 400 ขึ้นไป หรืออยู่ในกลุ่มไตรมาศระดับบนในคนกลุ่มอายุเดียวกัน โอกาสที่จะเกิดปัญหาโรคหลอดเลือดหัวใจจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากคือเกือบ 30% และหมายถึงความจำเป็นที่ต้องหยุดบุหรี่อย่างจริงจัง ความจำเป็นที่ต้องรับยาบางอย่างเพื่อป้องกันการอุดตันของโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ยาแอสไพริน ยาสเตติน และอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องเดินสายพานเพื่อทราบถึงสภาพความคล่องตัวของการไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดหัวใจ
กรณีนี้ คุณพินิจมีระดับการสะสมของแคลเซียมไม่มากนัก คือน้อยกว่า 100 การเลิกบุหรี่ก็คงเป็นสิ่งที่น้อยที่สุดที่ควรจะทำ แต่ยังไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ส่วนผู้ที่มีระดับระหว่าง 100-400 ก็เป็นกลุ่มที่ต้องระวังมากขึ้น ควรเลิกบุหรี่เช่นกัน และควรตรวจแคลเซียมหัวใจอีกครั้งทุก 2 ปี ซึ่งถ้ามีปริมาณมากขึ้นก็คงต้องมีการปรับพฤติกรรมบางอย่างมากขึ้น เช่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี รวมไปถึงรับประทานยาเพื่อชะลอการสะสมของไขมันมากขึ้นอีก เช่น ยาในกลุ่มสเตติน ยาแอสไพริน
ข้อดีของการตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ
คือ ไม่ต้องออกกำลัง นอนเฉย ๆ ผ่านเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่ต้องฉีดสีคือให้น้ำเกลือ ข้อสำคัญคือไม่เจ็บตัว แต่เสียสตางค์ ข้อมูลที่ได้ไม่แปรตามผู้อ่านมากนัก (เพราะคอมพิวเตอร์อ่าน) และค่าที่ตรวจได้คงที่ ถ้าตรวจซ้ำในระยะเวลาใกล้กัน (ไม่เหมือนกับค่าระดับน้ำตาลในเลือด หรือความดันเลือดที่แปรเปลี่ยนในแต่ละเวลาและคนที่วัด)
ดังนั้น การตรวจแคลเซียมจึงคงจะเป็นทางเลือกในการตรวจหัวใจที่แพทย์ใช้เพื่อตัดสินใจ และอาจจะหมายถึงใครคนใดคนหนึ่งอาจจะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคหัวใจฉับพลันทันทีก็ได้