โรคหัวใจถือเป็นโรคยอดฮิตโรคหนึ่งในยุคปัจจุบัน ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษา อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “หัวใจโต” ซึ่งถือเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของหัวใจ และอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจที่รุนแรงได้ ดังนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจโตและการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
หัวใจโต คืออะไร?
หัวใจโต (cardiomegaly) เป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติกับโครงสร้างหัวใจ เป็นภาวะที่ตรวจพบได้ ซึ่งอาจตรวจพบตอนทำเอกซเรย์ทรวกอก การทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือจากการตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ ภาวะนี้ไม่ใช่โรค เป็นภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่หรือหนาตัวขึ้น มักเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันสูง โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ จนนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นจึงนับได้ว่าภาวะหัวใจโตนี้เป็นสัญญาณหนึ่งของโรคหัวใจ
อาการของภาวะหัวใจโต
- หายใจถี่ โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือเมื่อนอนลง
- เหนื่อยง่าย
- ขาบวม
- อ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นเร็ว
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- วิงเวียน เป็นลม
- ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง
อาการเหล่านี้อาจไม่ปรากฏเสมอไป และอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุของหัวใจโต บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าอาการจะรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ
หัวใจโตเกิดจากอะไร?
ภาวะหัวใจโตเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุ ดังนี้
- โรคหัวใจขาดเลือด (coronary artery disease): เกิดจากการสะสมของคราบพลัคและไขมันในหลอดเลือดหัวใจ เกิดหลอดเลือดอุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง หรือเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย จนหัวใจบีบตัวน้อยลง ทำให้เลือดเหลือค้างภายในหัวใจมากขึ้น ทำให้ห้องหัวใจมีการขยายตัวจนมีภาวะหัวใจโต
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart defects): ความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่เกิดตั้งแต่กำเนิด ความผิดปกติเหล่านี้อาจทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจโตได้
- โรคหัวใจล้มเหลว (heart failure): เป็นภาวะที่หัวใจทำงานแย่ลงจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ เกิดภาวะหัวใจโตได้
- โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathy): ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดและความหนาผิดปกติ
- โรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease): การตีบและการรั่วของลิ้นหัวใจทำให้ทิศทางการไหลของเลือดในห้องหัวใจผิดปกติ ทำให้เลือดค้างอยู่ในห้องหัวใจ เกิดภาวะหัวใจโตได้
- มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardial effusion): ทำให้เมื่อเอกซเรย์ทรวงอก จะพบว่าหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ความดันในปอดสูง (pulmonary hypertension): ทำให้หัวใจห้องขวาทำงานหนักขึ้น เกิดภาวะหัวใจโตได้
- ความดันสูง (hypertension): เมื่อความดันสูง หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเอาชนะแรงดันในหลอดเลือดที่สูง เพื่อพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการหนาตัว และโตขึ้น
- โรคไทรอยด์ (thyroid disease): ทั้งภาวะไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไป (hyperthyroidism) และภาวะขาดไทรอยด์ ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตได้
- เบาหวาน (diabetes): โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมจะทำให้หลอดเลือดเสียหาย ซึ่งรวมถึงหลอดเลือดหัวใจ เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจโตตามมาได้
- ภาวะโลหิตจาง (anemia): ซึ่งทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายได้ไม่เพียงพอ หัวใจจึงต้องสูบฉีดเลือดมากขึ้นเพื่อชดเชยออกซิเจนที่ลดลงในกระแสเลือด เกิดเป็นภาวะหัวใจโตได้
- โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ (cardiac amyloidosis): เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย เป็นโรคที่มีการสะสมโปรตีนอะไมลอยด์ที่หัวใจ ทำให้ผนังห้องหัวใจหนาตัวขึ้นอย่างถาวร ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ
- การดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลานานจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอและโตขึ้น
- การใช้ยาบางชนิด: ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ อาจทำให้หัวใจโตได้
- การตั้งครรภ์: (ในบางกรณี) ในระหว่างตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ในบางกรณี หัวใจอาจขยายตัวและหนาตัวชั่วคราว
- การออกกำลังกาย: โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก (aerobic exercise) ในนักกีฬาบางคน หัวใจอาจจะขยายใหญ่ขึ้น จากการออกกำลังกายหนักและนานเป็นประจำ โดยทั่วไปภาวะหัวใจโตแบบนี้ไม่จัดเป็นโรคหรือภาวะที่อันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษา
ใครบ้างเสี่ยงต่อภาวะหัวใจโต
- ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว
- ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่มีโรคความดันสูง
- ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- ผู้ที่อ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- ผู้ที่มีไทรอยด์ผิดปกติ
- ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง
การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจโต
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)
- การเอกซเรย์ทรวงอก
- การทำอัลตราซาวนด์หัวใจ (echocardiogram)
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (cardiac MRI; CMR)
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (cardiac CT scan)
การรักษาหัวใจโต
การรักษาภาวะหัวใจโตจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ โดยทั่วไปแล้วการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดหัวใจโตและป้องกันไม่ให้หัวใจโตแย่ลง ซึ่งมีทั้งการรักษาด้วยยา และการผ่าตัดหรือทำหัตถการต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น หากภาวะหัวใจโตเกิดจากความสูง แพทย์อาจสั่งยาเพื่อลดความดัน หากภาวะหัวใจโตเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือด แพทย์อาจแนะนำให้ทำการขยายหลอดเลือดหัวใจหรือผ่าตัดบายพาสหัวใจ ในบางกรณี แพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น
การป้องกันภาวะหัวใจโต
เพื่อป้องกันภาวะหัวใจโตทำได้โดยการลดและป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ควรงดสูบและหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ และรีบรักษาอาการใด ๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจโต เช่น ความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัวหรือมีอายุมากกว่า 35 ปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ
สรุป
ภาวะหัวใจโตคือภาวะที่หัวใจมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวหรือห้องหัวใจขยายตัว ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุหลาย ๆ อย่าง การตรวจสุขภาพ และหมั่นสังเกตอาการ ว่ามีอาการที่เข้าได้กับอาการของภาวะหัวใจโตหรือไม่ ก็จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยที่อันตรายหรือภาวะที่รุนแรงได้
การดูแลสุขภาพร่างกายก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้รวมถึงภาวะหัวใจโตด้วย