Carpal Tunnel Syndrome หรือเรียกย่อ ๆ ว่า CTS เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป มักพบในคนวัยทำงานที่ใช้มือในการทำงานมาก ๆ เช่น การขับรถนาน ๆ กวาดบ้าน ซักผ้า ใช้คอมพิวเตอร์ เล่นเกมส์ ใช้โทรศัพท์ ผู้ป่วยบางรายจะกังวลและมีความเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะจากเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้มีคำถามตามมาอีกว่าอาการเหล่านี้เกิดจากอะไร มีผลกระทบร้ายแรงหรือไม่ หายขาดได้หรือไม่
อาการโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการชาบริเวณปลายนิ้วมือ ส่วนใหญ่อาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ ที่ปลายนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง โดยอาการมักจะเป็นหลังตื่นนอนหรือผู้ป่วยในบางรายอาจมีอาการปวดร่วมด้วย ในกรณีที่เป็นมากอาจจะมีอาการชามือทั้งวัน ชาทั้งมือ มีอาการอ่อนแรงของมือ หยิบจับของลำบาก กล้ามเนื้อในฝ่ามือลีบ อาการชาอาจจะเป็นทั้ง 2 ข้างหรือข้างเดียวก็ได้ และมักเด่นชัดในมือข้างที่ถนัด การใช้ข้อมือจะกระตุ้นอาการให้เป็นมากขึ้น เช่น งานที่ต้องใช้ข้อมือมาก ๆ งานที่ต้องค้างในท่าเหยียดข้อมือหรืองอข้อมือนาน ๆ ซึ่งมักจะพบบ่อยในหมู่แม่บ้านที่ต้องทำอาหาร กวาดบ้าน ซักผ้า บิดผ้า งานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน พนักงานโรงแรม พนักงานขุดเจาะถนน กลุ่มคนไข้ที่ใช้มือในการโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์สื่อสารนาน ๆ เช่น เล่นเกม เป็นต้น สภาวะหรือโรคประจำตัวที่ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็น Carpal Tunnel Syndrome ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ โรคข้อเสื่อม คนไข้ที่เคยมีอาการบาดเจ็บบริเวณข้อมือ คนอ้วน การตั้งครรภ์ และมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
พยาธิสภาพ
เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทมีเดียน (median nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อแขนและมือ รวมทั้งการรับความรู้สึกของฝ่ามือ บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนาง เส้นประสาทนี้จะออกมาจากไขสันหลังมาถึงบริเวณต้นคอจนถึงปลายนิ้วมือ โดยในช่วงบริเวณข้อมือจะต้องลอดผ่านอุโมงค์ที่เรียกว่า Carpal Tunnel เมื่ออุโมงค์นี้แคบลงจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การอักเสบ การบวมน้ำ หรืออยู่พับข้อมือค้างในท่าเดิมนาน ๆ
การวินิจฉัยโรค
ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการดังกล่าวข้างต้น ตรวจร่างกายมักจะพบอาการชา บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และครึ่งหนึ่งของนิ้วนางหรือนิ้วใดนิ้วหนึ่ง ถ้ามีอาการมาก มักจะพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทมีเดียนร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อที่ช่วยการขยับนิ้วโป้ง และอาจจะพบว่ามีกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งมือทางด้านนิ้วโป้งฟีบลง ในบางรายถ้าใช้นิ้วมือหรืออุปกรณ์เคาะลงบนเส้นประสาท จะมีอาการชาหรือเหมือนไฟช็อตไปตามนิ้วมือ และการงอมือเข้ามาชนกัน จะมีอาการชามากขึ้นที่ปลายนิ้วมือ
การตรวจร่างกายจะต้องตรวจเพิ่มเติมในการตรวจกล้ามเนื้อแขนและกล้ามเนื้อมือ ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่น ๆ ที่เป็นไปได้
การตรวจโดยไฟฟ้าวินิจฉัย (Electrodiagnosis)
ส่วนใหญ่การตรวจวินิจฉัยด้วยไฟฟ้ามักทำในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาและทำกายภาพแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ หรือในผู้ป่วยที่มีการวางแผนการรักษาด้วยการผ่าตัด
การตรวจด้วยไฟฟ้าวินิจฉัยเป็นการตรวจที่สำคัญที่สุด สามารถยืนยันการวินิจฉัยและสามารถแยกโรคที่มีอาการคล้าย ๆ กันออกมาได้ เช่น โรคการกดเส้นประสาท การอักเสบของแผงประสาทแขน นอกจากนั้นยังสามารถบอกความรุนแรงของอาการเพื่อนำไปสู่การรักษาและยังสามารถใช้ในการติดตามการรักษาได้ด้วย
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็น CTS
- เพศหญิงมักจะเป็นมากกว่าเพศชาย
- ผู้ที่มีข้อมือกลม
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ที่ทำงานที่ต้องใช้ข้อมือมาก กระดกขึ้นลงบ่อย ๆ
- ผู้ที่ทำงานที่มีการสั่นสะเทือนมือและแขนนานๆ
- มักจะพบบ่อยในกลุ่มแม่บ้านที่ต้องทำอาหาร กวาดบ้าน ซักผ้า บิดผ้า
- พนักงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน พนักงานโรงงาน พนักงานขุดเจาะถนน กลุ่มคนไข้ที่ใช้มือในการโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์สื่อสารนาน ๆ เช่น เล่นเกม เป็นต้น