ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คนไทยเริ่มรู้จักคุ้นชินกันมากขึ้น ความอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ล้วนส่งผลให้เกิดทุพพลภาพหรืออาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยสาเหตุหลักเกิดจากโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ยังมีอีกสาเหตุที่แม้จะพบไม่บ่อยนัก แต่มีอันตรายถึงชีวิตได้ นั่นก็คือโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองคืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นภาวะที่ผนังของหลอดเลือดบางส่วนเกิดการอักเสบหรือเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดการบางลงของผนังหลอดเลือดตำแหน่งนั้น เมื่อได้รับแรงดันจากเลือดที่ไหลเวียนอยู่ภายในก็ทำให้เกิดการโป่งพองขึ้นเป็นกระเปาะออกจากผนังหลอดเลือดข้างเคียง ซึ่งอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการแตกและทำให้เกิดเลือดออกในสมองได้
อันที่จริงแล้วโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก จากการศึกษาพบว่ามีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 1-5 ของประชากรทั่วไป และในกลุ่มนี้มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีการแตกของหลอดเลือดเกิดขึ้น แต่ความอันตรายของภาวะนี้อยู่ที่ความรุนแรงของโรคซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 1 ใน 3 หากเกิดการแตกของหลอดเลือดโป่งพองขึ้นมา
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเกิดจากอะไร?
เราสามารถแบ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลให้เกิดการโป่งพองของหลอดเลือดสมองเป็น 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้
ปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้
ปัจจัยที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ที่สำคัญ คือ ความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการทำให้หลอดเลือดเกิดการโป่งพอง และยังทำให้หลอดเลือดโป่งพองนั้นขยายขนาดขึ้นด้วย ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการแตกของหลอดเลือดมากขึ้น ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเกิดโรคได้ เช่น ไขมันในเลือดสูง การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาหรือสารเสพติด รวมถึงประวัติการบาดเจ็บบริเวณสมองหรือหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้
ส่วนปัจจัยที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น อายุ เพศหญิง ประวัติครอบครัวที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยเฉพาะญาติสายตรง โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ (fibromuscular dysplasia, Ehlers-Danlos syndrome, Marfan syndrome) และโรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease)
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมีอาการอย่างไร?
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองจะยังไม่มีอาการ จนกระทั่งเกิดการแตกขึ้นและทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมาก นอกจากนี้เลือดที่ออกจะทำให้เกิดการอักเสบและบวมของสมองโดยรอบ ส่งผลให้เกิดอาการซึม หมดสติ หรือชัก ผู้ป่วยบางรายอาจมีระบบการหายใจล้มเหลว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะเตือนนำมาก่อนเกิดการแตกของหลอดเลือดสมอง (sentinel headache) ซึ่งเกิดจากการเริ่มปริแตกเล็กน้อยของหลอดเลือด มักนำมาก่อนเกิดการแตกจริงไม่นาน หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทัน อาจช่วยป้องกันหรือลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้
ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจพบอาการแสดงทางระบบประสาทที่เกิดจากการกดเบียดของหลอดเลือดโป่งพองที่มีขนาดใหญ่ได้ เช่น อาการมองภาพซ้อนหรือหนังตาตกจากการกดเบียดเส้นประสาทใบหน้าคู่ที่ 3
จะทราบได้อย่างไรว่าเรามีหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่หรือไม่?
การวินิจฉัยภาวะนี้จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางรังสีวิทยา โดยการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (computer tomography; CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging; MRI) เพื่อมองหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง หากไม่พบความผิดปกติชัดเจนแต่ยังสงสัยภาวะนี้อยู่ แพทย์จะทำการตรวจโดยใช้สายสวนทางหลอดเลือดแดง (cerebral angiogram) เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดสมองอย่างละเอียดอีกครั้ง
ใครควรได้รับการตรวจหาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง?
โดยปกติแล้วจะทำการตรวจเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงที่น่าสงสัยภาวะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมอง (subarachnoid hemorrhage) ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทุกราย
สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองเพื่อหาภาวะนี้ เว้นแต่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดสมองโป่งพองมากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่
- มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองหรือประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง (first degree relative) ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป
- มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองหรือประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง 1 ราย ร่วมกับมีโรคหรือภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เช่น โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease)
- ผู้ป่วยมีภาวะหรือโรคที่สัมพันธ์กับการมีหลอดเลือดสมองโป่งพอง ได้แก่ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบแคบ (coarctation of aorta) หรือมีภาวะลิ้นหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดชนิด bicuspid aortic valve
วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองทำได้อย่างไร?
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองจะทำโดยแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมประสาท ซึ่งมีทั้งวิธีการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดแดง ใส่ขดลวดเพื่ออุดหลอดเลือดส่วนที่โป่งพอง และวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะ ทั้งนี้การเลือกว่าจะให้การรักษาด้วยวิธีการใดนั้น แพทย์จะตัดสินใจโดยพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งอาการของผู้ป่วยในขณะนั้น ลักษณะรูปร่าง ขนาด รวมถึงตำแหน่งของหลอดเลือดที่โป่งพองด้วย
เนื่องจากวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองนั้น มีความเสี่ยงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการรักษาได้ โดยทั่วไปจึงแนะนำให้ทำการรักษาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เองทำให้เกิดปัญหาในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองแต่ยังไม่มีอาการ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพบจากการตรวจคัดกรอง หรือพบโดยบังเอิญจากการตรวจโรคทางสมองอื่น ในกรณีนี้แพทย์และผู้ป่วยจำเป็นต้องตัดสินใจร่วมกันโดยพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการรักษากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยหลักการทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้รักษาก็ต่อเมื่อความเสี่ยงของการแตกของหลอดเลือดโป่งพองสูงกว่าความเสี่ยงที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษานั่นเอง
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองทำได้อย่างไร?
- รักษาภาวะความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยการกินยา และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็มจัด และไขมันสูง
- งดสูบบุหรี่ นอกจากบุหรี่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองแล้ว ยังทำให้หลอดเลือดที่โป่งพองขยายขนาดมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อโอกาสแตกของหลอดเลือดโป่งพอง
- งดแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หากเป็นผู้ที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่แล้ว แนะนำให้ติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และสังเกตอาการผิดปกติของตนเองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะที่รุนแรงและอาการผิดปกติทางระบบประสาท
เอกสารอ้างอิง
- Thompson, B Gregory et al. “Guidelines for the Management of Patients with Unruptured Intracranial Aneurysms: A Guideline for Healthcare Professionals from the American Heart Association/American Stroke Association.” Stroke vol. 46,8 (2015): 2368-400.
- Chalouhi N, Hoh BL, Hasan D. Review of cerebral aneurysm formation, growth, and rupture. Stroke. 2013 Dec;44(12):3613-22.
- Zhao J, Lin H, Summers R, Yang M, Cousins BG, Tsui J. Current Treatment Strategies for Intracranial Aneurysms: An Overview. Angiology. 2018 Jan;69(1):17-30.