โรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังเป็นโรคที่พบบ่อยในยุคปัจจุบัน และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้อันตรายถึงเสียชีวิต หรืออาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าอาการของหลอดเลือดหัวใจตีบตันคืออาการเจ็บหน้าอก และหลาย ๆ ท่านน่าจะเคยรู้สึกเจ็บหน้าอก และทำให้กังวลจนต้องไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ว่าท่านเป็นโรคหัวใจหรือไม่
บทความนี้ นพ.ณัฐพล เก้าเอี้ยน อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ประจำสถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า จะมาให้ความรู้และอธิบายวิธีการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าอาการเจ็บหน้าอกนั้น ๆ ใช่โรคหัวใจหรือไม่ ?
อาการเจ็บหน้าอกที่ผู้ป่วยมักมาปรึกษาแพทย์โรคหัวใจ
“คุณหมอครับ ผมมีอาการเจ็บหน้าอก มันเป็นอาการของโรคหัวใจรึเปล่าครับ ?”
หลาย ๆ คนคงจะเคยมีอาการเจ็บหน้าอก ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บแบบแปล๊บ ๆ เจ็บแน่นอึดอัดเหมือนมีอะไรมาทับ เจ็บแสบ ๆ เสียด ๆ เจ็บตอนออกกำลังกาย หรือบางคนอาจมาด้วยอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการวูบหมดสติ แล้วเราจะทราบได้อย่างไร ว่าอาการไหน เป็นอาการของโรคหัวใจ
ในความเป็นจริง ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ จะมาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บหน้าอกที่หลากหลายดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งแม้แต่ตัวแพทย์เอง บางครั้งก็แยกอาการเจ็บเหล่านั้นได้ยาก ว่าอันไหนเป็นอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากโรคหัวใจจริง ๆ อันไหนเป็นอาการเจ็บจากอย่างอื่น เราจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบอาการเหล่านั้นครับ
การวินิจฉัยอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะทำการซักประวัติสอบถามอาการและลักษณะของการเจ็บหน้าอกและแพทย์อาจจะแนะนำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อบอกว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, การเดินสายพานตรวจสมรรถภาพหัวใจ หรือผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องฉีดสีหลอดเลือดหัวใจเพื่อเข้าไปตรวจดูหลอดเลือดหัวใจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography; EKG)
เป็นการตรวจเพื่อดูสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจซึ่งสามารถใช้คัดกรอง เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ แต่แพทย์มักแนะนำให้ตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม ทำให้หลาย ๆ คนก็อาจมีคำถามว่า “เราตรวจคลื่นไฟฟ้าอย่างเดียวไม่ได้เหรอครับ” คำตอบคือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก สามารถบอกได้ชัดเจนแค่ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน และมักใช้ควบคู่กับการประเมินค่าหัวใจขาดเลือด หรือที่เราเรียกว่า cardiac enzyme ก็จะได้ความแม่นยำที่มากขึ้น ดังนั้นในรายที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง คลื่นไฟฟ้าหัวใจและค่าหัวใจขาดเลือด (cardiac enzyme) อาจอยู่ในเกณฑ์ปกติทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเดินสายพานในลำดับต่อไป
การเดินสายพานตรวจสมรรถภาพหัวใจ (exercise stress test; EST)
การเดินสายพานตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ง่ายและค่อนข้างสะดวก ในการตรวจผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเจ็บหน้าอก ควบคู่กับการตรวจเลือดของผู้ป่วย เพื่อใช้แยกภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน กับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง
หากค่าหัวใจขาดเลือด (cardiac enzyme) ผิดปกติชัดเจน ก็จะเป็นการยืนยันว่าผู้ป่วยน่าจะมีภาวะหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยก็จะได้ข้ามขั้นตอนการเดินสายพานไปสู่การสวนหัวใจ หรือที่เรียกว่าฉีดสีหัวใจเป็นลำดับต่อไปแทนครับ
สำหรับผู้ป่วยที่มาตรวจเดินสายพาน จะได้รับการติดตัววัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ที่บริเวณหน้าอก เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะที่เรากำลังเดิน โดยเป้าหมายของการเดินสายพานคือ เราต้องการทำให้หัวใจผู้ป่วยเต้นเร็วขึ้น เพราะเมื่อหัวใจเต้นเร็วก็จะต้องการเลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น ถ้าเรามีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเรื้อรังซ่อนอยู่ เมื่อหัวใจเต้นเร็ว เลือดก็จะเริ่มไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ และมีสภาวะขาดเลือดเกิดขึ้น ซึ่งจะแสดงให้เห็นโดยผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอก เหนื่อย หรือมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเราตรวจพบภาวะความผิดปกติจากการเดินสายพานแล้ว จะมีการยืนยันโดยการฉีดสีสวนหัวใจเป็นลำดับต่อไป
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography; CAG)
การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ หรือ coronary angiography ย่อสั้น ๆ ว่า CAG ภาษาหมอ ๆ ก็จะพูดกันว่า ”ไปทำแคท” หรือบางคนอาจเรียกว่า “ฉีดสีหัวใจ” คือ การใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจผ่านทางขาหนีบหรือข้อมือ โดยแพทย์จะฉีดยาชาและใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านหลอดเลือดเข้าไป
หลังจากที่แพทย์สอดสายสวนไปอยู่ที่บริเวณหลอดเลือดหัวใจแล้ว ก็จะฉีดสารทึบแสงเข้าไปในหลอดเลือด เพื่อตรวจสอบว่าหลอดเลือดหัวใจของเรามีการตีบตันหรือไม่ (โดยปกติหลอดเลือดหัวใจของคนเราจะมีทั้งหมด 3 เส้นหลัก ๆ เป็นหลอดเลือดด้านซ้าย 2 เส้น และด้านขวา 1 เส้น) เมื่อแพทย์ได้ข้อมูลว่ามีการตีบของหลอดเลือด ก็จะทำการวางแผนการรักษาต่อไปว่าจะให้การรักษาด้วยการรับประทานยา, ทำบอลลูนและใส่ขดลวด หรือส่งต่อผู้ป่วยให้กับทางแพทย์ศัลยกรรมทรวงอกเพื่อทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (CABG) เป็นลำดับต่อไป
หากแพทย์ประเมินว่าสามารถทำบอลลูนได้ ก็จะดำเนินการซ่อมหลอดเลือดหัวใจต่อไป โดยทำผ่านสายสวนเส้นเดิม (ผู้ป่วยจึงไม่ต้องเจ็บตัวเพิ่มขึ้นจากการทำบอลลูน) หลังจากการทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือดแล้ว แพทย์ก็จะใส่ขดลวดค้ำยันชนิดเคลือบยาที่ป้องกันการตีบซ้ำ (drug eluting stent; DES) เพื่อค้ำยันไม่ให้หลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำ เนื่องจากการทำบอลลูนเพียงอย่างเดียว จะมีโอกาสหลอดเลือดตีบตันซ้ำถึง 50%
หลังจากซ่อมหลอดเลือดเลือดเรียบร้อย แพทย์จะเอาสายสวนออกจากบริเวณข้อมือหรือขาหนีบ โดยถ้าเป็นบริเวณข้อมือ จะมีที่รัดข้อมือใส่ไว้เพื่อห้ามเลือดประมาณ 4 ชม. ซึ่งผู้ป่วยสามารถลุกเดินไปไหนได้ตามปกติ ถ้าเป็นบริเวณขาหนีบ จะมีการกดห้ามเลือดประมาณ 15-30 นาที และมีการวางหมอนทราย แล้วให้ผู้ป่วยนอนราบต่อเป็นเวลาประมาณ 6 ชม. โดยหลังการทำบอลลูนผู้ป่วยจะย้ายไปที่หอผู้ป่วยโรคหัวใจ (cardiac care unit; CCU) และค้างคืนเป็นเวลา 1 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถกลับบ้านได้ในวันต่อมาครับ
สรุป
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากท่านมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย อย่าลืมมาตรวจอาการเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลนะครับ เพื่อให้แน่ใจว่าอาการของเราใช่หรือไม่ใช่โรคหัวใจ ให้ถือคติว่า “มาแล้วไม่ใช่ ดีกว่าใช่แล้วไม่ได้มา อีกเลย”