10 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยอ้วนพุ่งติดอันดับหนึ่งของโลก จากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสาเหตุหลัก คือ พฤติกรรมการบริโภคของเด็ก กินอาหาร Junk Food ขนมขบเคี้ยว และไม่ออกกำลังกาย จึงทำให้เด็กไทยเป็นโรคอ้วนสูงขึ้น
สถานการณ์ภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนถึงในปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 13.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารมากเกินความจำเป็น ทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เสี่ยงมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และยังเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
ภาวะอ้วนในเด็ก คือ เด็กที่มีน้ำหนักตัว และปริมาณไขมันมากเกินกว่าปกติ เมื่อเทียบกับน้ำหนัก และความสูงมาตรฐานในช่วงอายุเดียวกัน หากน้ำหนักมากกว่า ร้อยละ 40 จะถือว่าเป็นโรคอ้วนซึ่งพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร ถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่จะทำให้เกิดภาวะอ้วน จากการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการทั้ง 5 หมู่ รวมไปถึงการไม่ออกกำลังกาย จึงทำให้เด็กไทยมีอัตราภาวะอ้วนเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ สาเหตุยังมาจากครอบครัว ด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหารในครอบครัวมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็ก เด็กจะรับประทานอาหารตามที่บิดามารดารับประทานและจัดหาให้ ในครอบครัวที่มีบิดามารดาอ้วน พบว่า บุตรจะอ้วนตามไปด้วย
การออกกําลังกาย ปัจจุบันเด็กใช้พลังงานน้อยลง เนื่องจากมีอุปกรณ์อํานวยความสะดวกมากขึ้น และบิดามารดาจะเป็นผู้ทําเองทั้งหมด หลังจากเด็กกลับจากโรงเรียนหรือช่วงวันหยุด เด็กมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่สำหรับการดูทีวี การเล่นเกมส์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งอย่างน้อยเวลาเหล่านี้ จะใช้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง/วัน และช่วงเวลาที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มักจะมีการรับประทานอาหารพวกขนมของหวาน ไอศกรีม หรือ น้ำอัดลม ร่วมด้วย สุดท้าย เด็กจะเกิดความอ้วน จากการไม่มีเวลาออกกําลังกาย
พันธุกรรม ก็มีส่วนทำให้เด็กเกิดภาวะอ้วน เนื่องจาก ข้อมูลของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ยังบอกอีกว่า หากบิดามารดามีน้ำหนักมาก ลูกจะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 80 ถ้าบิดามารดาคนใดคนหนึ่งอ้วน โอกาสที่ลูกอ้วนลดลงร้อยละ 40 ถ้าผอมทั้งบิดามารดาบุตรมีโอกาสอ้วนร้อยละ 14 และสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักตัว เช่น การเปลี่ยนแปลงภาวะโภชนาการของทารก การไม่ได้กินนมแม่และกินนมผงตั้งแต่แรกเกิด การศึกษาของพ่อแม่ผู้ปกครอง เศรษฐฐานะของครอบครัว วิธีการเลี้ยงดูที่ส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมการกินที่ไม่มีระบบขอบเขต ข้อจำกัด จึงทำให้เด็กกินทั้งนม ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มในปริมาณมาก การอยู่อาศัยใกล้ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
โรคอ้วนในเด็ก มักส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตั้งแต่ ไขมันในเลือดสูง ทั้งคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดแอลดีแอล (ไขมันชนิดไม่ดี) ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่ / ความดันโลหิตสูง / เบาหวาน / ความผิดปกติของร่างกายด้านกระดูกและข้อ ภาวะการหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก และอาจจะส่งผลในระยะยาวด้านจิตใจ คือ มั่นใจในตัวเอง ถูกเพื่อนล้อและอาจจะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
ส่วนวิธีการป้องกันภาวะอ้วนเบื้องต้น คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการบริโภคอาหาร การควบคุมอาหาร รวมไปถึงการออกกำลังกาย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้ภาวะอ้วนในเด็ก มีอัตราจากที่สูงขึ้นทั่วโลก ให้มีอัตราที่ลดลง และเกิดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ลดลงตามไปด้วย ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ควรใช้มาเป็นเครื่องลงโทษหรือรางวัลในการต่อรองกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแก่เด็ก และหากพบว่า บุตรหลานมีภาวะอ้วน ควรได้รับการตรวจประเมิน โดยแพทย์ เพื่อหาสาเหตุรวมถึงดูแลรักษา เพื่อหาวิธีการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้