ในระยะแรกที่ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง อาจจะได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาและการคุมด้วยอาหาร
แต่เมื่อโรคดำเนินหรือลุกลามต่อไปจนไตของผู้ป่วยหยุดทำงานหรือทำงานน้อยมากจนไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการของเสียที่คั่งค้างในร่างกายตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเมื่อมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องรับการรักษาเพื่อขจัดของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย
วิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย
มีอยู่ 3 วิธี คือ
1. โดยการล้างช่องท้องด้วยน้ำยา
2. โดยการใช้เครื่องไตเทียมหรือฟอกเลือด
3. โดยการเปลี่ยนไต
1. การรักษาโรคไตวายเรื้อรังโดยการล้างช่องท้องด้วยน้ำยา
วิธีการนี้เรียกย่อๆ ว่า CAPD (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis) แพทย์จะใส่ท่อพลาสติกขนาดเล็กๆ เข้าในช่องท้องผู้ป่วยวัสดุที่ใช้ทำท่อนี้จะเป็นวัสดุที่มีความคงทนถาวรมีอายุการใช้งานได้หลายปี โดยไม่เสื่อมสภาพ ปลายด้านหนึ่งของท่อจะฝังอยู่ในช่องท้องของผู้ป่วย ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งยื่นออกมาบริเวณผนังหน้าท้อง ผู้ป่วยจะใส่น้ำยาล้างช่องท้องเข้าไปภายในช่องท้อง วันละประมาณ 4-6 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ลิตร น้ำยาจะอยู่ในช่องท้อง แต่ละครั้งประมาณ 4-6 ชั่วโมงตามความสะดวกของผู้ป่วย
ขณะที่น้ำยาอยู่ในช่องท้อง ของเสียต่างๆ ที่เป็นพิษคั่งค้างอยู่ในร่างกายจะซึมจากกระแสเลือดผ่านทางผนังหน้าท้องด้านในเข้าสู่น้ำยาล้างช่องท้องและในที่สุดเมื่อถึงเวลาที่กำหนด ผู้ป่วยก็จะปล่อยน้ำยาที่มีของเสียทิ้งไป ผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยาล้างช่องท้องเข้าออกทุกๆ วัน ผู้ป่วยที่ต้องไปทำงานหรือประกอบธุรกิจนอกบ้านก็สามารถนำน้ำยาไปเปลี่ยนในสถานที่ทำงานได้อย่างง่ายดาย
ข้อดีของการรักษาโดยวิธีล้างช่องท้องด้วยน้ำยามีหลายประการอาทิเช่น
– ผู้ป่วยหรือญาติทำได้เองที่บ้านหรือที่ทำงาน ไม่ต้องเสียเวลามาโรงพยาบาลบ่อยๆ
– ผู้ป่วยอาจจะมีโอกาสรับประทานอาหาร ประเภท โปรตีน น้ำ เกลือโซเดียมและเกลือโพแทสเซียมได้มากกว่าผู้ป่วยที่ใช้เครื่องไตเทียมเพราะการล้างช่องท้องผู้ป่วยจะเสียโปรตีน น้ำ และเกลือแร่ไปกับของเสียต่างๆ ดังนั้นจึงต้องทานอาหารทดแทน
ส่วนข้อเสียของการรักษาโดยวิธีนี้ คือ
– ต้องรักษาความสะอาดของท่อพลาสติกในช่องท้องอย่างเคร่งครัดที่สุดเพราะมีโอกาสติดเชื้อในช่องท้องทำให้ช่องท้องอักเสบ การติดเชื้อในช่องท้องจะทำให้ผู้ป่วยปวดท้อง มีไข้ ถ้าช่องท้องอักเสบบ่อยๆ อาจจะทำให้ผนังช่องท้องเสื่อมสภาพไป ทำให้ต้องหยุดการรักษาโดยวิธีนี้
– ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการอุดตันของท่อพลาสติกในช่องท้องบ่อยๆ ทำให้ต้องเสียเวลาแก้ไข
2. การรักษาโรคไตวายเรื้อรังโดยการใช้ไตเทียมหรือการฟอกเลือด
เครื่องไตเทียมหรือเครื่องฟอกเลือด คือเครื่องมือที่ใช้กรองของเสียจากเลือดแทนไต หลักการใช้ไตเทียมนี้คือนำเลือดของผู้ป่วยเข้าไปผ่านการกรองในเครื่องไตเทียม เครื่องกรองนี้ประกอบด้วยเยื่อบางๆ
จำนวนมากด้านหนึ่งของเครื่องกรองนี้จะทำให้เลือดไหลผ่าน ของเสียจากเลือดผู้ป่วยจะซึมผ่านเยื่อกรองนี้เข้าไปในน้ำยาไตเทียมซึ่งในที่สุดก็ไหลออกจากเครื่องและทิ้งไป สำหรับเลือดสะอาดที่ถูกกรองแล้วจะไหลกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ทำให้ร่างกายสะอาด การใช้ไตเทียมต้องทำเป็นเวลา 3-5 ชั่วโมง ต่อครั้งและต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ตามอาการของผู้ป่วย
ข้อดีของการรักษาโดยใช้ไตเทียม
– การกรองของเสียออกแต่ละครั้งทำได้รวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น 3-5 ชั่วโมง แต่ต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
– ผู้ป่วยไม่ต้องมีท่อหรือสายพลาสติกคาอยู่ที่หน้าท้อง
– เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้
ข้อเสียของการรักษาโดยใช้ไตเทียม
– ต้องจำกัดอาหาร โปรตีน น้ำ เกลือโซเดียม และโพแทสเซียมโดยเคร่งครัดกว่าวิธีล้างช่องท้อง
– ต้องมาทำที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล
การรักษาด้วยวิธีล้างช่องท้องหรือการใช้ไตเทียมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่จะใช้วิธีใดรักษานั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย จิตใจ ตลอดจนสภาพฐานะเศรษฐกิจและสภาพครอบครัวของผู้ป่วย แพทย์จะคำนึงถึงสภาพต่างๆดังกล่าว และใช้เป็นข้อพิจารณาก่อนที่จะแนะนำการรักษาโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง
3. การผ่าตัดเปลี่ยนไต
การผ่าตัดเปลี่ยนไตคือการผ่าตัดนำไตจากผู้อื่นไปใส่ให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายไตที่จะนำมาใส่ให้กับผู้ป่วยอาจจะได้มาจากคนที่ถึงแก่กรรมใหม่ๆ ด้วยอุบัติเหตุต่างๆหรืออาจจะมาจากคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งปกติต้องได้จากพ่อ – แม่ – ลูก ญาติพี่น้องสายโลหิตเดียวกัน หรือในบางกรณีจากสามี – ภรรยา ผู้บริจาคไตและผู้ป่วยที่รับไตจะต้องได้รับการตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่ามีเลือดกรุ๊ปตรงกันและมีเนื้อเยื่อในร่างกายที่เข้ากันได้ จึงจะอนุญาตให้ผ่าตัดเปลี่ยนไตได้ การเปลี่ยนไตที่จะได้รับผลสำเร็จที่ดีที่สุด คือการเปลี่ยนไตระหว่างฝาแฝดพี่น้อง รองลงไปได้แก่พี่น้องท้องเดียวกันที่มีสภาพเนื้อเยื่อเหมือนกัน ถัดลงมาอีกได้แก่ พ่อ – แม่ – ลูกหรือพี่น้องท้องเดียวกันที่มีสภาพเนื้อเยื่อเหมือนกันบางส่วน อันดับสุดท้ายคือการเปลี่ยนไตจากการบริจาคจากคนที่เพิ่งถึงแก่กรรมที่ไม่ใช่พี่น้องของผู้ป่วย ซึ่งได้รับการตรวจเลือดกรุ๊ปและเนื้อเยื่อแล้วว่าใกล้เคียงและเข้ากันได้ดีกับผู้ป่วย
การเปลี่ยนไตโดยการซื้อขายจากบุคคลอื่นที่มีชีวิตอยู่แต่ไม่ใช่ญาติพี่น้องของผู้ป่วย เป็นเรื่องที่แพทย์ทั่วโลกยังไม่ยอมรับเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมาย จรรยาบรรณทางการแพทย์และศีลธรรม เพราะอาจเกิดการบังคับขู่เข็ญลักขโมยไตและเป็นการซื้อขายกัน ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนไตแล้วจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิต้านทานของร่างกายให้ลดลงอยู่เสมอ เพราะถ้าไม่กดภูมิต้านทานไว้ ร่างกายของผู้ป่วยจะสร้างภูมิต้านทานไปทำลายไตใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยน การรับยากดภูมิต้านทานนี้มีผลดีอย่างมากมายแต่มีอันตรายอยู่ด้วย เพราะทำให้ภูมิต้านทานของผู้ป่วยต่ำกว่าปกติ ถ้าไม่ระมัดระวังตัวให้ดีอาจทำให้ติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายกว่าคนปกติ
ยาที่ผู้ป่วยเปลี่ยนไตแล้วต้องรับประทานเป็นประจำได้แก่ ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone), ไซโคลสะปอริน (Cyclosporin, Neoral), อิมมูแรน (Imuran), เซ็ลเซ็ปต์ (Cellcept), โปรกราฟ (Prograf), ราปามัยซิน (Rapamycin) ยาเหล่านี้ผู้ป่วยจะต้องใช้ไปตลอดชีวิตเพราะถ้าขาดยา ไตที่ได้รับการเปลี่ยนใหม่จะถูกทำลายและเสียไปในเวลาอันรวดเร็ว ที่จริงแล้วการเปลี่ยนไตเป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ได้ผลดีที่สุดเพราะเมื่อเปลี่ยนไตสำเร็จ ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตยืนยาวและดำรงชีวิต ประกอบอาชีพได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังสามารถให้กำเนิดบุตรและตั้งครรภ์ได้ด้วย
เมื่อแพทย์ผู้ชำนาญทางโรคไตพบผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายก็มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยที่สภาพร่างกายเหมาะสมได้รับการเปลี่ยนไตอยู่เสมอๆ วงการแพทย์ของไทยเรามีความรู้ความสามารถที่ก้าวหน้าและมีอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่ใช้ในการเปลี่ยนไตได้ทัดเทียมกับต่างประเทศที่เจริญแล้ว แต่น่าเสียดายว่าการเปลี่ยนไตในประเทศที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร โดยสาเหตุหลักเพราะเรายังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีในการให้ความรู้ความเข้าใจ ทำให้ญาติของผู้ป่วยที่เพิ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมักจะปฏิเสธที่จะบริจาคไตของผู้ตายให้แก่ผู้ป่วยโรคไต
นอกจากนี้ญาติพี่น้องครอบครัวสายตรงของผู้ป่วยโรคไตวาย มักจะไม่ยินยอมบริจาคไต 1 ข้างให้กับผู้ป่วย ส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจว่าการบริจาคไต 1 ข้างให้กับญาติพี่น้องสามารถทำได้โดยไม่มีอันตรายต่อผู้บริจาค