ในโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาและสถานการณ์ตึงเครียด อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในปัจจุบันได้ เช่น ซึมเศร้า เบื่อหน่าย วิตกกังวล หงุดหงิด เป็นต้น ซึ่งหลายคนสงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นั้นจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
อารมณ์เศร้าเป็นอารมณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ในมนุษย์ แต่ถ้าหากอารมณ์เศร้าคงอยู่เป็นเวลานาน และไม่ได้รับการแก้ไข มีโอกาสก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยจะทำให้เกิดการเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีผลต่ออารมณ์เศร้าของมนุษย์ ก่อให้เกิดเป็น “โรคซึมเศร้า” ได้
ปัจจุบันโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนไม่น้อย บางคนเป็นโดยที่ตนเองไม่ทราบ บางคนเข้าใจว่าเป็นเพราะคิดมากไปเอง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
โรคซึมเศร้าคืออะไร ?
จากการศึกษาทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง 3 ชนิด ได้แก่ ซีโรโทนิน นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน ทำให้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม ซึ่งจะต่างจากอารมณ์เศร้าตามปกติที่สามารถหายได้เองเมื่อความเครียดหมดไป
ดังนั้น เมื่อโรคซึมเศร้ามีเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเช่นเดียวกับโรคทางกายอื่น ๆ ไม่สามารถหายเองได้
โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร ?
- รู้สึกเศร้า หดหู่ ท้อแท้ ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ กังวลหรือหงุดหงิดมากจนเกินไป จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง
- สูญเสียความสนใจในหลายกิจกรรม ไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ เก็บตัว ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาจรับประทานอาหารมากกว่าปกติได้
- นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือนอนหลับมากจนเกินไป
- การเคลื่อนไหวช้าลง หรืออาจกระวนกระวายมากจนเกินไป
- อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง
- สมาธิลดลง ความจำแย่ลง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง คิดว่าตนเองเป็นภาระ สูญเสียความมั่นใจในตนเอง
- ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดถึงความตายบ่อยครั้ง
โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงระดับที่กระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก 9 อาการดังกล่าวข้างต้น เป็นสัญญาณเตือนให้สงสัยว่าอาจจะมีโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนอยู่ในระดับที่รุนแรง ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
โรคซึมเศร้ารักษาอย่างไร?
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาหายได้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการรักษาในปัจจุบันมีหลายวิธี ดังนี้
1. การรักษาด้วยยา (Pharmacological treatment)
เป็นการรักษาหลัก โดยยารักษาอาการซึมเศร้าจะไปช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่สมดุล ส่วนระยะเวลาในการรักษาสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าครั้งแรกโดยส่วนใหญ่ประมาณ 9-12 เดือน แล้วแต่ระดับความรุนแรงของโรค
จากการศึกษาพบว่าหากหยุดยาก่อนกำหนด ผู้ป่วยมักมีโอกาสกำเริบได้ถึงร้อยละ 80
2. การรักษาด้วยจิตบำบัด (Psychotherapy)
เป็นการรักษาที่มักใช้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ซึ่งการทำจิตบำบัดมีหลายวิธี เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive-behavioral therapy; CBT), การบำบัดแบบประคับประคอง (supportive psychotherapy) เป็นต้น
การเลือกวิธีบำบัดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายและความถนัดของผู้บำบัด การศึกษาในปัจจุบันพบว่าการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัดเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษา
3. การรักษาด้วยอุปกรณ์ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation; TMS)
เป็นการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ที่สามารถปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านหนังศีรษะ เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์สมอง ส่วนใหญ่มักใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีข้อห้ามในการให้ยารักษา
4. การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy)
ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือมีอาการรุนแรงมากเฉียบพลัน หรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง
โรคซึมเศร้า ให้เราช่วยดูแลคุณผ่าน PR9 Telemedicine
Telemedicine คือ บริการปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาผนวกกับการบริการด้านสุขภาพ โดยให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพแบบ real-time ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
“Health Care You Can Trust
เรื่องสุขภาพ...ไว้ใจเรา”
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพทางจิตใจ เช่น ภาวะเครียดจนนำไปสู่อาการของโรคซึมเศร้า ที่ไม่ควรปล่อยไว้
ซึ่งทางโรงพยาบาลพระรามเก้า คำนึงถึงผู้รับบริการเป็นสำคัญ โดยมีช่องทางบริการในการรักษาด้วย “PR9 Telemedicine ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนก็ปรึกษาหมอได้” ผ่านทาง Line Official Account
โดยที่ผู้รับบริการสามารถปรึกษาปัญหาทางสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผ่าน video call ซึ่งแพทย์จะสามารถวินิจฉัยอาการเบื้องต้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษา ตลอดจนการจัดส่งยาให้แก่ผู้รับบริการถึงบ้าน
“PR9 Telemedicine” จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตยุค new normal ให้ผู้รับบริการอุ่นใจ มั่นใจ ปลอดภัยจาก COVID-19 และมีสุขภาพที่ดีได้แม้ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
รพ.พระรามเก้า พร้อมดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทุกปัญหาสุขภาพ สามารถทำนัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ ผ่านช่องทางการติดต่อ
✅ Line Official Account ผ่าน video call คลิก link https://lin.ee/euA1bAc หรือโทร 1270
✅ เปิดให้บริการเวลา 8.00 น. ถึง 16.00 น. ของทุกวัน…เพราะคุณคือคนสำคัญ
สรุป
ความเข้าใจต่อโรคซึมเศร้าของหลายคนในปัจจุบัน เชื่อว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าเป็นเพราะอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายเหตุปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้าขึ้น ได้แก่ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งได้รับความเข้าใจอย่างถูกต้องจากคนรอบข้าง จะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ