เบาหวานเป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ผู้ป่วยเบาหวานหลายท่านไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ มักมีค่าน้ำตาลในเลือดแกว่งขึ้นลง บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยเบาหวาน เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มักมีอาการเป็นลม หมดสติ ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เสี่ยงต่อภาวะโรคหัวใจ
เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง (continuous glucose monitoring; CGM) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถตรวจวัดระดับน้ำตาลได้แบบต่อเนื่องตลอดเวลา และส่งข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือได้แบบเรียลไทม์ มีระบบเตือนเมื่อระดับน้ำตาลตก ช่วยให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้ และส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต แพทย์ประจำตัวสามารถเข้าถึงผลน้ำตาลแบบเรียลไทม์ วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
@praram9hospital ใครรู้จักเครื่องนี้บ้าง 🙋🏻♀️ #CGM #เครื่องติดตามน้ำตาลต่อเนื่อง #เบาหวาน #Diabetes #Praram9Hospital #โรงพยาบาลพระรามเก้า ♬ หวานใจ speed - คุณ23
เครื่องตรวจน้ำตาลต่อเนื่องคืออะไร?
เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง (continuous glucose monitoring; CGM) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้วัดระดับน้ำตาลทุก ๆ 3 นาทีตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะติดเครื่องนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์
โดยเป็นเครื่องติดที่หน้าท้อง มีเซ็นเซอร์เป็นโลหะปลอดภัย ยาวประมาณ 7 มม. สอดเข้าชั้นไขมันใต้ผิวหนัง แล้วเครื่องดังกล่าวนี้ส่งสัญญาณข้อมูลผ่านบลูทูธเข้าแอพพลิเคชั่นในมือถือและเข้าสู่อินเตอร์เน็ต ซึ่งตัวผู้ป่วย แพทย์และทีมผู้ดูแลสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์
ใครบ้างที่ควรใช้เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง?
- ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดแกว่งมาก ๆ ได้แก่ ช่วงที่น้ำตาลขึ้นสูงและช่วงที่น้ำตาลตก
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดยาอินซูลิน 3 ครั้งต่อวันขึ้นไป
- ผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อย โดยเฉพาะในรายที่ไม่มีอาการเตือน หน้ามืด หมดสติ
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) สูง แม้จะกินยาสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว
- ผู้ป่วยเบาหวานที่อยากเรียนรู้ระดับน้ำตาลของตนเอง
ผู้ป่วยเบาหวานที่เจาะน้ำตาลปลายนิ้วอยู่แล้ว ทำไมยังต้องติดเครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง?
- เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่องสามารถบอกแนวโน้ม (trend arrow) การขึ้นลงของระดับน้ำตาลซึ่งไม่สามารถบอกได้โดยการเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว มีข้อดีคือช่วยในการปรับยา อาหารและการออกกำลังกายได้แบบเรียลไทม์
- มีแอพพลิเคชั่นเตือน (alarm) ให้ดื่มน้ำหวานทันทีที่น้ำตาลเริ่มตก แม้ในขณะนอนหลับอยู่
- มีระบบดูแลและเฝ้าระวัง (remote monitoring) จากทีมสหสาขา และใช้ข้อมูลที่ได้จากเครื่องวางแผนปรับพฤติกรรมแบบเรียลไทม์ เพื่อควบคุมค่าระดับน้ำตาลสะสม (estimated HbA1C หรือ glucose management indicator; GMI) ให้ดีขึ้นได้ใน 2 สัปดาห์
ข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง
- ผู้ป่วยต้องตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ววันละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อตั้งค่าของเครื่องให้ถูกต้อง
- เนื่องจากการทำงานของเครื่องเป็นการวัดระดับน้ำตาลจากสารน้ำระหว่างเซลล์ที่ตำแหน่งติดอุปกรณ์ ซึ่งระดับน้ำตาลอาจมีค่าแตกต่างจากน้ำตาลปลายนิ้วได้ประมาณ 10 – 20% และอาจช้ากว่าอาการและระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 15 – 20 นาที ในกรณีอาการไม่สัมพันธ์กับค่าที่ได้จากเครื่อง แนะนำให้เจาะน้ำตาลปลายนิ้ว และรักษาตามระดับน้ำตาลปลายนิ้ว
- อาจทำให้เกิดภูมิแพ้ผิวหนังได้สำหรับคนที่แพ้ง่าย
- อาจมีอาการรำคาญหรือเจ็บบริเวณที่ติดอุปกรณ์
- อาจพบการติดเชื้อผิวหนังตำแหน่งติดได้บ้าง ไม่สามารถเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และเครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ (MRI)
- เครื่องกันน้ำ สามารถอาบน้ำสะดวก
- อาจพบการติดเชื้อผิวหนังตำแหน่งติดอุปกรณ์ได้บ้าง