การสวนหัวใจ หรือ Coronary Angiography (CAG) เป็นหนึ่งในเทคนิคการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงหรืออาการที่บ่งบอกถึงปัญหาหลอดเลือดหัวใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือมีประวัติครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างชัดเจน สามารถดูว่ามีการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษา บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับการสวนหัวใจ ว่าคืออะไร มีขั้นตอนอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
การสวนหัวใจ (CAG) คืออะไร?
การสวนหัวใจ (Coronary Angiography หรือ CAG) คือ เทคนิคการตรวจที่ใช้เพื่อตรวจดูว่าหลอดเลือดหัวใจว่ามีการตีบหรืออุดตันหรือไม่ โดยแพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจจะสอดท่อเล็ก ๆ (catheter) เข้าไปในหลอดเลือด ผ่านทางขาหนีบหรือแขน และฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดผ่านทางสายสวนนี้ แล้วใช้เครื่องเอกซเรย์ถ่ายภาพเพื่อดูการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดหัวใจ วิธีนี้ช่วยให้เห็นความผิดปกติในหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน เช่น หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน
การตรวจสวนหัวใจเป็นการตรวจที่มักจะแนะนำในผู้ที่มีอาการน่าสงสัยว่ามีปัญหาของหลอดเลือดหัวใจ เช่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจไม่เต็มที่ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว หรือผู้ป่วยที่เคยมีภาวะหัวใจขาดเลือดมาก่อน การตรวจนี้สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและช่วยให้แพทย์ตัดสินใจวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือการใส่ขดลวด หรือการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (CABG)
ขั้นตอนการตรวจด้วยการสวนหัวใจ
การสวนหัวใจประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
- การเตรียมผู้ป่วย: แพทย์และพยาบาลจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการงดอาหารและน้ำก่อนการตรวจอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และจะทำการเช็กประวัติสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงยาที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่
- เข้าห้องตรวจ: ผู้ป่วยจะนอนบนเตียงเอกซเรย์แบบพิเศษ ทำความสะอาดบริเวณที่จะใส่สายสวนหัวใจและปิดคลุมร่างกายด้วยผ้าปราศจากเชื้อ
- การใส่สายสวน: แพทย์จะทำการสอดสายสวนหัวใจเข้าไปในหลอดเลือดที่ขาหนีบ หรือที่แขน เพื่อไปยังหลอดเลือดหัวใจที่ต้องการตรวจ
- ฉีดสารทึบรังสี: หลังจากนั้นแพทย์จะทำการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจเพื่อให้เห็นภาพหลอดเลือดหัวใจและประเมินรอยโรค
- ถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ: โดยแพทย์จะใช้การเอกซเรย์ภาพเคลื่อนไหวในการตรวจดูภาพหลอดเลือดหัวใจ และจะสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างแม่นยำ
ทำไมต้องสวนหัวใจ?
การสวนหัวใจ (Coronary Angiography – CAG) เป็นการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยทำด้วยข้อบ่งชี้ต่าง ๆ เช่น
- วินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ: การสวนหัวใจช่วยให้อายุรแพทย์โรคหัวใจสามารถเช็กสภาพหลอดเลือดหัวใจได้อย่างละเอียด ซึ่งแพทย์จะสามารถบอกได้ว่าหลอดเลือดมีการตีบหรืออุดตันหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease)
- ประเมินความรุนแรงของโรค: การตรวจนี้ช่วยในการประเมินความรุนแรงของการตีบหรืออุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยแพทย์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (Angioplasty) หรือการใส่ขดลวด (Stent)
- การวางแผนการรักษา: ข้อมูลที่ได้จากการสวนหัวใจสามารถใช้ในการวางแผนการรักษาที่เฉพาะและมีประสิทธิภาพเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือรักษาด้วยยา
- ติดตามผลการรักษา: สำหรับผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหรือการใส่ขดลวด การสวนหัวใจสามารถใช้เพื่อติดตามผลการรักษาว่าหลอดเลือดที่รักษาไปมีการตีบซ้ำหรือไม่
- ค้นหาโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง: นอกจากการตรวจหลอดเลือดหัวใจแล้ว การสวนหัวใจยังช่วยในการวินิจฉัยภาวะความผิดปกติหรือโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจหรือลิ้นหัวใจ
- เพื่อการวางแผนการรักษาอื่น: ในบางกรณี การสวนหัวใจอาจเป็นขั้นตอนการประเมินหัวใจก่อนการทำการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดหัวใจหรือการรักษาด้วยการสวนหลอดเลือดในบริเวณอื่น
ข้อดีของการสวนหัวใจ
- เป็นการตรวจที่แม่นยำ: การสวนหัวใจถือเป็นการตรวจที่มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากแพทย์สามารถมองเห็นหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันได้โดยตรงจากภาพเอกซเรย์ ทำให้สามารถประเมินสภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจนและช่วยให้การวางแผนการรักษาถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- รักษาในขั้นตอนเดียวกันได้: หากพบว่าหลอดเลือดหัวใจมีการตีบหรืออุดตัน แพทย์สามารถทำการรักษาจุดที่มีการตีบทันทีในขณะที่ทำการสวนหัวใจอยู่ การรักษาดังกล่าว เช่น การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน หรือการใส่ขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention หรือ PCI) เพื่อเปิดหลอดเลือดให้กว้างขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซ้ำในอนาคต
- ลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดรุนแรง: การตรวจและรักษาหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดรุนแรงหรือหัวใจวาย ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
- ช่วยตัดสินใจในการผ่าตัด: หากผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดหัวใจ การสวนหัวใจจะให้ข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้ว่าควรผ่าตัดเมื่อใด และผ่าตัดเชื่อมต่อหลอดเลือดที่บริเวณใด เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด
- ใช้เวลาตรวจไม่มาก: การสวนหัวใจเป็นการตรวจที่ใช้เวลาไม่นานนัก โดยทั่วไปสามารถให้ผลการตรวจได้ในเวลาเพียง 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
- สามารถทำได้ในกรณีฉุกเฉิน: โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหัวใจวาย การตรวจนี้ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสภาพของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างรวดเร็วและทำการรักษาทันที เช่น การขยายหลอดเลือดหรือใส่ขดลวด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ใครควรเข้ารับการสวนหัวใจ?
ผู้ที่แพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการสวนหัวใจ ได้แก่
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือมีอาการที่บ่งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ร่วมกับมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ เช่น
- ผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจในครอบครัว
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือระดับไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่ายผิดปกติ และตรวจพบความผิดปกติที่บ่งชี้โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ผู้ที่ต้องผ่าตัดหัวใจเพื่อประเมินหลอดเลือดหัวใจก่อนการผ่าตัด
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการสวนหัวใจ
แม้ว่าการสวนหัวใจจะเป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เช่น
- อาการแพ้สารทึบรังสี: ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้สารทึบรังสีที่ฉีดเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการคัน หรือตุ่มแดงที่ผิวหนัง
- การบาดเจ็บที่หลอดเลือด: การสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดที่หลอดเลือดได้
- การเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด: หลังการสวนหัวใจอาจมีความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดที่ใส่สายสวน
- ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับไต: สารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต หรือเป็นโรคไตอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคไต การทำงานของไตจะกลับมาเป็นปกติได้เอง
ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำและดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้
การดูแลหลังสวนหัวใจ
หลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับการสวนหัวใจแล้ว ขั้นตอนการดูแลหลังการตรวจเป็นก็มีความสำคัญ เพราะมีผลต่อการฟื้นตัวหลังการสวนหัวใจ และช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยการดูแลหลังการสวนหัวใจมีข้อแนะนำดังนี้
- การพักฟื้น: หลังจากการสวนหัวใจ ผู้ป่วยจะพักอยู่ในโรงพยาบาล 1 วัน เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสังเกตอาการ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ผู้ป่วยก็จะสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกันหรือวันรุ่งขึ้น
- การดูแลแผลบริเวณที่ใส่สายสวน: แผลตำแหน่งที่ถูกสอดสายสวน (catheter) เช่น บริเวณขาหนีบหรือแขนควรต้องดูแลอย่างเหมาะสม ห้ามงอเป็นเวลา 6 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือกดทับบริเวณนั้น และรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการบวม แดง หรือการมีน้ำเหลืองไหลออกจากแผล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบแจ้งแพทย์
- การหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก: ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากการสวนหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ การยกของหนัก หรือกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก เพื่อป้องกันไม่ให้แผลที่ใส่สายสวยมีเลือดออกหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
- การดื่มน้ำมาก ๆ: สารทึบรังสีที่ถูกฉีดเข้าไปในระหว่างการตรวจจะถูกขับออกจากร่างกายทางไต ดังนั้น การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยเร่งกระบวนการขับสารทึบรังสีออกจากร่างกาย
- มาพบแพทย์ตามนัด: หลังการสวนหัวใจ ควรมาพบแพทย์ตรงตามการนัดหมาย เพื่อการติดตามผลการตรวจและพิจารณาแนวทางการรักษา การดูแลสุขภาพ และอาจให้มีการรับประทานยาเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต
สรุป
การสวนหัวใจ (CAG) เป็นการตรวจที่สำคัญในการวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยวิธีนี้ช่วยให้อายุรแพทย์โรคหัวใจสามารถเห็นสภาพภายในหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถวินิจฉัยการตีบหรืออุดตันได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ การสวนหัวใจยังสามารถทำได้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ทันทีเมื่อพบปัญหา เช่น การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหรือใส่ขดลวด นอกจากนี้การสวนหัวใจยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามการตรวจสุขภาพยังคงมีความสำคัญทั้งการตรวจสุขภาพประจำปี และการตรวจสุขภาพหัวใจ เพราะทำให้ทราบถึงสุขภาพร่างกายโดยรวม และสุขภาพเฉพาะของหัวใจ เพื่อการป้องกันและรักษาสุขภาพอย่างเหมาะสม