ปัจจุบัน คนไทยมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการที่สำคัญที่พบคือ เจ็บหน้าอก และเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เป็นผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลดลง ซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดแดงเลี้ยงหัวใจที่ตีบ นำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดเรื้อรังและภาวะหัวใจล้มเหลวได้
การตีบตันของหลอดเลือดนั้น เกิดได้จากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นภาวะความเสื่อมของร่างกาย (degenerative change) ซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง โดยไขมันในผนังหลอดเลือดนี้ก็จะมีแคลเซียม หรือหินปูนสะสมจนทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็งและตีบตันได้
ดังนั้นหากตรวจวัดแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะอยู่กับหลอดเลือดหัวใจได้ ก็เปรียบเสมือนการตรวจวัดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดนั่นเอง ปัจจุบันมีวิธีการตรวจเพื่อประเมินโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหลายอย่าง การตรวจหนึ่งที่สามารถบอกได้คือการตรวจที่เรียกว่า “coronary calcium score หรือการวัดแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ” ซึ่งสามารถใช้ประเมินโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
สารบัญ
- Coronary calcium score หรือแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจคืออะไร?
- ตรวจ coronary calcium score บอกอะไรได้บ้าง?
- ข้อดีของการตรวจ coronary calcium score
- ใครบ้างควรตรวจ coronary calcium score?
- การเตรียมตัวก่อนตรวจ coronary calcium score
- ตรวจ coronary calcium score ทำอย่างไร?
- ผลตรวจแบบไหนที่แสดงว่ามีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ?
- สรุป
Coronary calcium score หรือแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจคืออะไร?
Coronary calcium score (coronary artery calcium score; CAC) หรือค่าแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจคือการใช้เทคโนโลยีของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อตรวจหาระดับของแคลเซียมหรือหินปูนที่หัวใจ โดยเฉพาะที่หลอดเลือดหัวใจ โดยการสะสมของแคลเซียมนี้มักเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงทำให้มีการสะสมของแคลเซียมที่ผนังของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังบอกได้ถึงแคลเซียมที่บริเวณลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจได้อีกด้วย
ตรวจ coronary calcium score บอกอะไรได้บ้าง?
การตรวจ coronary calcium score จะบอกถึงปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสัมพันธ์กับไขมันในหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดส่วนอื่น ๆ
สรุปคือ ถ้าพบว่าค่า CAC ขึ้นสูง เราก็อนุมานได้ว่าคนไข้อาจจะมีเส้นเลือดหัวใจตีบหรือมีความเสี่ยงจะเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ/เส้นเลือดสมองตีบในอนาคต ซึ่งแพทย์จะนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ต่อ ร่วมกับประวัติและอาการของคนไข้ว่าจะต้องทำการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เช่นการวิ่งสายพาน (EST) หรือการฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจ (CTA หรือ CAG) รวมถึงการควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
ข้อดีของการตรวจ coronary calcium score
ไม่ต้องออกกำลังกาย คนไข้จะนอนราบ ผ่านเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่ต้องฉีดสี ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารในการตรวจ อีกทั้งการใช้คอมพิวเตอร์อ่านระดับของแคลเซียมค่าที่ตรวจได้จึงมีความแม่นยำ
ใครบ้างควรตรวจ coronary calcium score?
การตรวจ coronary calcium score จะสามารถตรวจเพื่อหาข้อบ่งชี้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจระดับน้อยถึงปานกลาง ซึ่งได้แก่
- เพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป
- เพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือหญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่ความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่เป็นเบาหวาน
- ผู้ที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุง
- ผู้ที่ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่มีลักษณะงานที่นั่งอยู่กับโต๊ะหรือมีวิถีชีวิตประจำที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
การเตรียมตัวก่อนตรวจ coronary calcium score
- สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
- งดชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ยา และสารอื่น ๆ ที่จะทำให้หัวใจเต้นเร็ว
- งดสูบบุหรี่และออกกำลังกายก่อนตรวจอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- ก่อนตรวจเจ้าหน้าที่จะให้เปลี่ยนเสื้อผ้าและถอดเครื่องประดับ ดังนั้นควรเลือกสวมใส่ชุดที่สะดวกในการเปลี่ยนในวันที่ทำการตรวจ
- ถ้าท่านกำลังตั้งครรภ์หรือมีโอกาสที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ยังไม่ควรตรวจ
ตรวจ coronary calcium score ทำอย่างไร?
ขั้นตอนการตรวจ coronary calcium score ทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที โดยมีขั้นตอนดังนี้
- เจ้าหน้าที่จะทำการติดขั้วบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจก่อนการตรวจ coronary calcium score
- ผู้ที่ได้รับการตรวจจะต้องนอนบนเตียงตรวจเฉพาะของเครื่อง CT scan โดยนอนในท่านอนหงาย
- ในขณะตรวจอาจต้องกลั้นหายใจเป็นเวลาสั้น ๆ ประมาณ 5-10 วินาที เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน
ผลตรวจแบบไหนที่แสดงว่ามีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ?
การประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจจะประเมินจากคะแนนแคลเซียมที่ตรวจได้ ดังนี้
- คะแนน 0: ไม่มีแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ มีโอกาสในการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเส้นเลือดสมองตีบภายในอนาคตน้อยมาก (10 years risk of MI/stroke < 1%)
- คะแนน 1 ถึง 100: มีแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจระดับน้อย มีโอกาสในการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเส้นเลือดสมองตีบในอนาคตน้อย แต่ควรควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ดูแลเรื่องอาหาร การออกกำลังกายและการควบคุมน้ำหนัก (10 years risk of MI/stroke < 10%)
- คะแนน 101 ถึง 400: มีแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจระดับปานกลาง มีโอกาสในการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรือเส้นเลือดสมองตีบในอนาคตปานกลาง ควรควบคุมปัจจัยเสี่ยง และสามารถพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ เช่น ตรวจการเดินสายพานเพิ่ม (10 years risk of MI/stroke 10-20%)
- คะแนน 401 ขึ้นไป: มีแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจระดับสูง มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดสมองตีบในอนาคตสูง แนะนำให้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม (10 years risk of MI/stroke > 20%)
ref: Liew G, Chow C, van Pelt N, Younger J, Jelinek M, Chan J, Hamilton-Craig C. Cardiac Society of Australia and New Zealand Position Statement: Coronary Artery Calcium Scoring. Heart Lung Circ. 2017 Dec;26(12):1239-1251. doi: 10.1016/j.hlc.2017.05.130. Epub 2017 Jun 16. PMID: 28690020.
สรุป
ปัจจุบันการตรวจเพื่อวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดมีหลายอย่าง การตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจหรือ coronary calcium score ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่มีความปลอดภัย ตรวจได้เร็ว มีความแม่นยำสูง เป็นมาตรฐานในการตรวจคัดกรอง (screening test) ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและหลอดเลือดสมองตีบในอนาคต