ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 เป็นประเด็นที่คนทั่วไปกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เพราะคงไม่มีใครที่ต้องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด 19 แต่กลับต้องมาพบกับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
จากสถิติทั่วโลก พบว่าผลข้างเคียงรุนแรงจากการได้รับวัคซีนโควิด 19 มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ
สำหรับประเทศไทย เมื่อนับสถิติจากกรณีที่ฉีดไปแล้วประมาณ 1.6 ล้านโดส พบว่ามีความรุนแรงจากผลข้างเคียงวัคซีนโควิดเฉลี่ยประมาณ 1.2 ราย จาก 100,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หน่วยงานสาธารณสุขยังคงติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และคาดว่าปัญหาอาการผลข้างเคียงรุนแรงจะค่อย ๆ ลดลง
ดังนั้น หากพิจารณาเปรียบเทียบกันดูแล้ว การตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จึงได้ประโยชน์มากกว่าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป
สารบัญ
- ความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 : อนุมัติฉุกเฉิน ด้วยความรัดกุม
- ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 และแนวทางแก้ไข
- ผลข้างเคียงการเกิดภาวะลิ่มเลือด จากวัคซีนชนิด viral vector (vaccine induced thrombosis thrombocytopenia; VITT)
- แนวทางการป้องกันผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19
- กลุ่มบุคคลที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19
- สรุป
ความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 : อนุมัติฉุกเฉิน ด้วยความรัดกุม
ถึงแม้ว่า วัคซีนโควิด 19 จะเป็นวัคซีนใหม่ ที่ได้รับการอนุมัติในภาวะฉุกเฉิน และกำลังอยู่ในการทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในระยะยาว แต่ก็มีข้อมูลต่าง ๆ ที่ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ที่เป็นอันตราย ได้แก่
- ผ่านการอนุมัติให้ใช้ได้โดยองค์กรระดับโลกอย่าง WHO รวมถึงสำนักงานด้านอาหารและยาของนานาประเทศ ซึ่งรวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยด้วย
- ผ่านการทดสอบอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การทดสอบในห้องปฏิบัติการ การทดสอบในสัตว์ทดลอง รวมถึงการทดสอบกับคน และมีการนำเสนอผลการวิจัยการทดสอบมาตรฐานระดับสากล
- อย. ได้พิจารณาคัดเลือกวัคซีนต่าง ๆ จากผลการวิจัยทดสอบตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต สถานที่ผลิต คุณภาพวัคซีน โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนหลายสาขาโดยเฉพาะ จึงสามารถอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพื่อนำมาใช้ในประเทศได้
- หน่วยงานสาธารณสุข ได้มีการติดตามข้อมูลความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของอาการไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีน จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในระดับโลกอย่างสม่ำเสมอ
- หน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้มีการสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนที่ใช้ประเทศไทย เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนที่ใช้ประเทศ และพบว่าวัคซีนในปัจจุบันที่ใช้ในประเทศ มีความปลอดภัย
แม้ว่าจะเป็นการรับรองให้ใช้วัคซีนได้ ในเงื่อนไขภาวะฉุกเฉิน แต่ยังคงใช้มาตรฐานการพิจารณาอย่างเข้มงวด
ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 และแนวทางแก้ไข
อาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน (Adverse Event Following Immunization) หมายถึง อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังการได้รับวัคซีน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากวัคซีนโดยตรง (Adverse reaction) หรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรงก็ได้ เช่น เกิดจากความเครียดหรือวิตกกังวลของผู้รับวัคซีน หรืออาจมาจากภาวะร่วมอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน
ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ที่มีอาการไม่รุนแรง
ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 เป็นอาการไม่พึงประสงค์รูปแบบหนึ่ง อาการที่อาจพบได้ทั่วไปหลังได้รับวัคซีน มักเกิดขึ้นเมื่อฉีดไปแล้วหลายชั่วโมงจนถึง 3 วัน โดยปรากฏในรูปแบบของอาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงว่า ร่างกายกำลังได้รับการกระตุ้นจากวัคซีนให้สร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่
ข้อแนะนำ หากมีผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ที่ไม่รุนแรง
วิธีลดปวดบวมบริเวณที่ฉีด |
|
แนวทางลดความไม่สบายตัวจากอาการไข้ |
|
อย่างไรก็ตาม หากอาการโดยรวมยังไม่ดีขึ้น หรือบริเวณที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ผลข้างเคียงมีอาการแย่ลงภายใน 24 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์
โดยทั่วไปวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ เช่น astrazeneca จะมีผลข้างเคียง เรื่อง ปวด บวม แดง มีไข้ สูงกว่า วัคซีนเชื้อตาย เช่น sinovac หรือ sinopharm และ คนอายุน้อย จะมีผลข้างเคียงดังกล่าว มากกว่าผู้สูงอายุ
ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง
หลังได้รับวัคซีนโควิด 19 ผลข้างเคียงที่มีอาการรุนแรงขึ้นได้ ได้แก่
- มีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง หรือ anaphylaxis ได้แก่ ผื่นลมพิษ ความดันตก หอบ จะเป็นภายใน 30 นาที หลังได้รับวัคซีน
- เกิดภาวะลิ่มเลือด จากวัคซีน ชนิด viral vector เช่น astrazeneca (vaccine induced thrombosis thrombocytopenia) (มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 2.5 ถึง 10 ต่อล้านเหตุการณ์) ส่วนใหญ่จะเป็นลิ่มเลือดอุดตัน ที่หลอดเลือดดำในสมอง ซึ่งอาการจะมาด้วยปวดหัวรุนแรง ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีน
กรณีที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้วมีอาการแพ้วัคซีนรุนแรงแบบ anaphylaxis หรือ มีภาวะที่สงสัยลิ่มเลือดอุดตันหลังได้ astrazeneca เช่น ปวดหัวรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์
อาการแพ้วัคซีน คืออะไร?
อาการแพ้วัคซีน (Hypersensitivity reaction) เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากร่างกายตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนมากกว่าปกติ และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ
หากเป็นอาการแพ้รุนแรงชนิดแอนาฟแล็กซิส (Anaphylaxis) มักเกิดขึ้น 15-30 นาทีหลังฉีดวัคซีน มีอาการตั้งแต่ ผื่นคันคล้ายลมพิษ ไปจนถึงระดับที่รุนแรง เช่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ และหมดสติ โดยมักเป็นหลายระบบพร้อมกัน หากมีอาการแพ้วัคซีน ควรรีบนำตัวส่งแพทย์โดยด่วน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก โดยมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1-10 ในหนึ่งล้านเหตุการณ์เท่านั้น
ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ที่เกิดจากความเครียด (ISRR)
ผลข้างเคียงที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองจากความเครียด หรือ Immunization Stress-Related Response (ISRR) เป็นกลุ่มอาการที่นิยามโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) หมายถึงอาการทางกายที่เป็นผลมาจากภาวะทางใจ เกิดจากร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียดในการได้รับวัคซีนร่วมกับอาการข้างเคียงตามปกติที่เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีน เป็นผลให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ
ภาวะผิดปกติที่เกิดจากการตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เป็นลม ปวดท้องเกร็ง คลื่นไส้ ตามัว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
ภาวะที่เกิดจากอาการทางระบบประสาท เช่น มีอาการชา อ่อนแรงเล็กน้อย ชั่วคราว ยกเว้นบางรายที่อาจเกิดได้ช้าเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน (ระหว่าง 1-3 วัน) ในคนไข้กลุ่มนี้ ได้มีการทำวิจัยทำเอ็กซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าในสมองก็ไม่พบความผิดปกติ มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในผู้ที่อายุน้อย
ผลข้างเคียงการเกิดภาวะลิ่มเลือด จากวัคซีน ชนิด viral vector (vaccine induced thrombosis thrombocytopenia; VITT)
ภาวะ VITT คือการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ ที่พบได้หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีการรายงานพบภาวะ VITT ได้หลังการฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด viral vector ปัจจุบัน พบในวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ AstraZeneca และ Johnson & Johnson กลไกที่ทำให้เกิดภาวะ VITT เกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนบางส่วนที่ทำให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ
งานวิจัยที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ จากหลากหลายแห่ง (รายละเอียดเพิ่มเติม) พบว่า อุบัติการณ์การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ พบได้ 10 คนในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Astrazeneca 1 ล้านคน (309 / 32.9 ล้านคน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ) และในวัคซีนของ Johnson & Johnson พบได้ 3.2 ต่อ 1 ล้านคน (28 / 8.7 ล้านคน จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา) ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นผู้ป่วยหญิงอายุระหว่าง20-60 ปี และพบว่าผู้หญิงเกิดภาวะนี้มากกว่าผู้ชาย 2.5 เท่า
(อ้างอิงจาก Ling B, et al. Am J Emerg Med 2021;49:58-61)
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน สามารถพบได้ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 30 วันหลังจากฉีดวัคซีน และมักเกิดขึ้นหลังวัคซีนโดสแรก อาการขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนมากจะพบที่หลอดเลือดดำในสมอง อาการอาจเริ่มจากมึนศีรษะ ปวดศีรษะ และปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ตามัว และชักได้
รองลงมาคือลิ่มเลือดอุดตันในช่องท้อง โดยพบว่าผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดท้องเล็กน้อยในตอนแรก ทิ้งไว้อาจมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย ถ้ามีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาโรงพยาบาล ส่วนอาการที่พบน้อย จะเป็นภาวะที่มีเลือดออก เพราะภาวะ VITT เป็นภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำ โดยอาจพบว่ามีรอยจ้ำช้ำ หรือมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ
ปัจจุบัน อัตราเสียชีวิตจากภาวะ VITT อยู่ที่ประมาณ 20% ซึ่งมีแนวทางการรักษา คือ ให้การให้ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIG) เพื่อยับยั้งภูมิคุ้มกันที่มากเกินปกติหรือเปลี่ยนถ่ายเลือด (plasma exchange) ถ้ามีลิ่มเลือดอุดตัน ให้ยาละลายลิ่มเลือดอื่นที่ไม่ใช่ heparin ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องได้รับเกร็ดเลือด
แนวทางการป้องกันผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19
แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนต่าง ๆ ที่ใช้ในการป้องกันโควิด 19 ไม่มากนัก แต่ก็มีข้อควรปฏิบัติเบื้องต้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด ได้แก่
ข้อปฏิบัติตัว ก่อนรับวัคซีน
พิจารณาว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามฉีดวัคซีน หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดหรือไม่? และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำนั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ให้มากที่สุด
ให้ปฏิบัติตัวได้ตามปกติ ไม่ต้องเครียดหรือวิตกกังวล กินยาประจำได้ตามปกติ ยกเว้นกลุ่มยาที่ระบุไว้ว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อน นอกจากนี้ ให้ออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่อย่าหักโหมเกินไป ส่วนเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ หากดื่มเป็นประจำอยู่แล้วไม่ต้องงด แต่ให้งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และที่สำคัญที่สุด พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากนี้ ควรวางแผนการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สอง ตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
- วัคซีนซิโนแวค ให้เว้นระยะห่างก่อนฉีดเข็มที่สอง 2-4 สัปดาห์
- วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ให้เว้นระยะห่างก่อนฉีดเข็มที่สอง 10-12 สัปดาห์
ข้อปฏิบัติตัว ในวันที่ฉีดวัคซีน
ควรนั่งรอดูอาการประมาณ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการข้างเคียง หรืออาการแพ้วัคซีนโควิด
ข้อปฏิบัติตัว ภายหลังการฉีดวัคซีน
หากมีไข้ ให้รับประทานพาราเซตามอล 500 มก. ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ซึ่งไข้มักจะมีไม่เกิน 2 วัน หลังฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ ควรเฝ้าดูอาการตัวเองอย่างเข้มงวดไปอีกอย่างน้อย 30 วัน ในระหว่างนั้น ให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีเหตุการณ์ผิดปกติจากผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 สามารถโทรปรึกษาได้ที่ hotline กรมควบคุมโรค โทร 1422 และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร 1669
ศึกษาเพิ่มเติม เตรียมตัวฉีดวัคซีนโควิด 19 ต้องทำอย่างไรบ้าง
กลุ่มบุคคลที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19
- บุคคลที่มีประวัติแพ้รุนแรง (anaphylaxis) จากวัคซีนอื่นมาก่อน แนะนําให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้
- ผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่เสถียรหรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันชนิดเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบชนิดเฉียบพลัน ให้ควบคุมอาการของโรคให้คงที่ แล้วจึงสามารถฉีดได้ทันที
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินต้านการแข็งตัวของเลือด ควรมีผลระดับ INR อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 ไม่ควรหยุดยาเอง หากสงสัยว่าภาวะการแข็งตัวของเลือดมีปัญหา ควรปรึกษาแพทย์
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ ปอด หัวใจ แนะนําให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 1 เดือนหลังผ่าตัดและมีอาการคงที่แล้ว หรือเมื่อพ้น 1 เดือนหลังได้รับการรักษาภาวะปฏิเสธอวัยวะ โดยให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน
- ผู้ป่วยโรคเลือดที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง ผู้ป่วยโรคเลือดที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell therapy) การปลูกถ่ายชนิด Car-T cell ให้ปรึกษาอายุรแพทย์โรคโลหิต
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาแอนติบอดี เช่น rituximab, omalizumab, benralizumab, dupilumab แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้วัคซีน
- ผู้ป่วยโควิด 19 ที่เคยได้รับการบําบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโควิด 19 หรือ monoclonal antibodies for treatment of COVID-19 (casirivimab & imdevimab) แนะนําให้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้เมื่อพ้น 3 เดือนหลังได้รับการบําบัดดังกล่าว
- ผู้ป่วยที่เป็นไมเกรน โรคซึมเศร้า หรือผู้ที่กินยาคุม ไม่มีความจำเป็นต้องหยุดยา ก่อนไปฉีดวัคซีนโควิด
ที่มา แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีน COVID-19 (rcpt.org) จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์
สรุป
มีข้อกังวลใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 เกิดขึ้นมากมายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนับวันก็ยิ่งมีข้อสงสัยที่ละเอียดยิบย่อยมากขึ้น เช่น “กินยาชนิดหนึ่งอยู่ ไปฉีดวัคซีนจะเป็นอะไรไหม?” ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่เราต้องตื่นตัว เมื่อต้องเตรียมตัวให้พร้อมและแน่ใจว่าปลอดภัยก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
ดังนั้น บทความนี้จึงต้องการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงวัคซีนโควิด 19 ให้ละเอียด ครบถ้วน และน่าเชื่อถือที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะได้รับข้อมูลเพียงพอ และสามารถเข้ารับฉีดวัคซีนเพื่อร่วมกันปกป้องชีวิตของเราเองและสังคมของเรา ให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็วที่สุด