โควิด-19 ในผู้ป่วยโรคหัวใจ
โควิด-19 โรคระบาดที่สำคัญของยุคนี้ ถึงตอนนี้ทุกคนคงคุ้นเคยกับไวรัสตัวนี้ซึ่งมีอันตราย หากติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงก็ทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่สุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการน้อย หรืออาจไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ในขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หากติดโควิด-19 จะทำให้มีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้ป่วยโรคหัวใจติดโควิด-19 อันตรายมากกว่าคนทั่วไป
มีรายงานของวารสาร The Lancet ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ รายงานว่าในจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีถึง 40% ที่เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีโรคหัวใจมีความเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป และยังมีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Cardiology รายงานอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคหัวใจแล้วติดโควิด-19 ร่วมกับมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย สูงถึง 70% ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจจึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและต้องหลีกเลี่ยงการติดโควิด-19
ไวรัสโควิด-19 อันตรายต่อหัวใจอย่างไร ?
คนทั่วไปหากได้รับเชื้อโควิด-19 แล้ว พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ เสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด จนกระทั่งอาจทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติไป ในขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า
ปัจจุบันเชื่อว่ากลไกที่เชื้อโควิด-19 มีผลต่อหัวใจมีกลไกหลัก ๆ คือ
- เชื้อโควิด-19 ทำลายเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง เนื่องจากเชื้อโควิด-19 จะจับกับตัวรับชนิดหนึ่งที่ผิวเซลล์มนุษย์เพื่อเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ ตัวรับนี้มีชื่อว่า ACE-2 receptor (angiotensin-convertingenzyme 2 receptor) ตัวรับชนิดนี้พบมากที่ปอดและหัวใจ จึงทำให้เซลล์หัวใจและปอดได้รับความเสียหายจากเชื้อโควิด-19 ได้โดยตรง พบว่าผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 พบเอนไซม์โทรโปนิน (troponin) ในเลือดสูงขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
- มีภาวะขาดออกซิเจนของหัวใจ เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ทำให้ปอดเสียหาย ทำให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อยลง ร่วมกับในช่วงของการติดเชื้อร่างกายและกล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น แต่ปอดไม่สามารถทำงานแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้อย่างเพียงพอ สุดท้ายกล้ามเนื้อหัวใจก็จะขาดออกซิเจนและนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด และขาดออกซิเจนได้
- กระตุ้นการเกิดลิ่มเลือด เชื้อโควิด-19 จะทำให้เซลล์ในหลอดเลือดทั่วร่างกายและหลอดเลือดหัวใจเสียหาย แล้วกระตุ้นทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือด ซึ่งหากลิ่มเลือดนี้เกิดในหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดการอุดตัน ตามมาด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด
- เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เชื้อโควิด-19 จะกระตุ้นให้มีการหลั่งสารการอักเสบ (cytokines) ซึ่งทำลายเซลล์หัวใจ จนทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติไป
อาการทางโรคหัวใจเมื่อติดโควิด-19
โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะทางหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่าอาจเกิดภาวะ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย โดยพบเอนไซม์โทรโปนิน (troponin) ในเลือดสูงขึ้น
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
ซึ่งผู้ที่ติดโควิด-19 อาจมีอาการต่าง ๆ ได้แก่
- ใจสั่น
- เจ็บแน่นหน้าอก
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
- รู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก
หากมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางหัวใจและหลอดเลือด จึงควรหมั่นใส่ใจและคอยสังเกตอาการของตนเองหากติดโควิด-19 และรีบไปโรงพยาบาลถ้ามีอาการข้างต้น
ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) ต่อหัวใจ
เป็นที่ทราบกันว่าผู้ที่ติดโควิด-19 หลังจากหายจากการติดเชื้อแล้ว มักมีอาการต่าง ๆ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากโควิด-19 หรือที่เรียกว่า ภาวะลองโควิด (long covid) ซึ่งมักมีอาการสมองล้า อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ
โดยผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่เคยผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจอื่น ๆ จะมีแนวโน้มที่จะมีอาการทางหัวใจในภาวะลองโควิดได้มากกว่าผู้ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งอาการทางหัวใจที่หลงเหลืออยู่ที่พบในภาวะลองโควิด ได้แก่
- ใจสั่น
- เจ็บหน้าอก
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดโควิด-19 จึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ ข้างต้น และหากมีอาการแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเพื่อตรวจและวินิจฉัยเพิ่มเติม
อ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคหัวใจ รู้ก่อน รักษาทัน ป้องกันได้
การป้องกันไวรัสโควิด-19
การดูแลป้องกันตัวเองอย่างที่เราคุ้นเคยยังคงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เพื่อป้องไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจที่รุนแรงและอันตราย
- ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
- หากมีอาการสงสัยว่าติดโควิด-19 ควรรีบไปโรงพยาบาล
- รักษาระยะห่าง หรือ social distancing อย่างน้อย 1 เมตร
- สวมหน้ากากอนามัย โดยควรสวมให้พอดีกับใบหน้า
- จัดที่บ้านและที่ทำงานให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- ไม่ไปในสถานเสี่ยง ที่มีคนเบียดเสียด หรือที่ที่มีคนเยอะ
- ล้างมือบ่อย ๆ
สรุป
ผู้ที่มีโรคหัวใจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดโควิด-19 แล้วจะมีอาการรุนแรงและอาจรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้เป็นโรคหัวใจมีโอกาสติดโควิด-19 ได้มากกว่าคนปกติ และ หลังหายจากโควิดแล้วยังมีอาการของภาวะลองโควิดได้มากกว่าอีกด้วย
ดังนั้นการป้องกันและรักษามาตรการ รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากโควิด-19 ได้ และผู้เป็นโรคหัวใจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมไม่ให้โรคหัวใจแย่ลง