หลายคนคงจะพอรู้แล้วว่า ผู้ที่เป็นโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน เป็นกลุ่มที่มีสิทธิเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
บทความนี้ จะกล่าวถึงหนึ่งในโรคกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโควิด 19 แล้วจะมีอาการรุนแรง นั่นก็คือ โรคอ้วน เหตุผลที่โรคนี้น่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะคนอ้วนส่วนใหญ่ไม่ได้มีแค่โรคเดียว แต่มักจะมีโรคร่วมอื่นๆด้วย ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เชื้อโควิดจะเป็นตัวกระตุ้นให้การอักเสบรุนแรงมากขึ้นจนลามไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ไตวาย หัวใจล้มเหลวปอดล้มเหลว และสุดท้ายอาจทําให้เสียชีวิตได้
โรคอ้วน คืออะไร
โรคอ้วน (Obesity) คือ ภาวะที่มีน้ำหนักตัวหรือสัดส่วนไขมันในร่างกายมากผิดปกติ โดยสามารถคำนวณโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) หากมีค่า BMI ตั้งแต่ 25 kg/m² ขึ้นไปถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนแล้ว
ปัจจุบัน โรคอ้วนได้กลายเป็นวาระระดับโลกถึงขั้นที่องค์การอนามัยโลกได้ตั้ง “วันอ้วนโลก” ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหา สาเหตุ และแนวทางการป้องกันมิให้เกิดโรคอ้วน เนื่องจากภาวะดังกล่าว จะกลายเป็นบ่อเกิดของโรคเรื้อรังอีกมากที่จะตามมา
โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนไทย เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มเป็นโรคอ้วนจนติดอันดับต้น ๆ ของโลก มาจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กในยุคนี้ ที่ชอบกินอาหารประเภท Junk Food ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ และไม่ค่อยออกกำลังกาย เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
โรคอ้วนกับโควิด 19 : การแท็กทีมที่มี ‘ร่างกาย’ เป็นสังเวียน
หากสังเกตจากสถานการณ์ปัจจุบันของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อและเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะมีโรคอ้วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีรายงานว่า คนอ้วนมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลจากการติดเชื้อได้มากกว่าคนผอมถึง 113% นอกจากนี้ ยังเพิ่มอัตราการนอน ICU สูงกว่าคนผอมถึง 74% และพบอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ได้มากกว่าคนผอมถึง 48%
ดังนั้น
กลุ่มคนที่มีโรคอ้วนจึงได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรงหากได้รับเชื้อโควิด 19 แต่ทุกคนสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น?
ปัจจัยแรก : ภาวะอักเสบเรื้อรังจากโรคอ้วน
เหตุผลที่โรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการรุนแรง เมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 ไม่ใช่เพราะว่าการอ้วนจะทำให้ติดเชื้อโควิด 19 ง่ายขึ้นแต่อย่างใด
แต่ความอ้วน เป็นภาวะการอักเสบเรื้อรังอย่างหนึ่ง ที่มักจะเกิดร่วมกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่แข็งแรง เมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 เข้าไป คราวนี้อาการอักเสบจึงรุนแรงขึ้น และอาจลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ไต หัวใจ และปอด จนก่อให้เกิดภาวะการทำงานล้มเหลว และนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ปัจจัยที่สอง : โรคอ้วนกระทบการขยายตัวของปอด
หลายคนอาจจะพอเดาปัจจัยข้อแรกได้ แต่ก็อาจนึกไม่ถึงว่า โรคอ้วนยังสามารถรบกวนการทำงานของปอด แล้วทำให้อาการหลังติดเชื้อโควิด 19 มีความรุนแรงขึ้นได้ด้วย
ต้องเข้าใจก่อนว่า โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ประสิทธิภาพการทำงานของปอดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าปอดแข็งแรงดี จุก๊าซได้มาก ร่างกายก็จะใช้ก๊าซออกซิเจนในกระบวนต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างเต็มที่
แต่เนื่องจากผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนนั้น จะมีปริมาณไขมันสะสมทั้งในช่องท้องและช่องอกมากกว่าปกติ ปริมาณไขมันที่สะสมมากเข้า ก็จะไปดันกระบังลมให้ขึ้นไปเบียดกับช่องอก จนปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่
ทีนี้เมื่อการขยายของปอดแต่ละครั้งไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรแล้ว พอเกิดภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด 19 ขึ้นมา เลยยิ่งไปเพิ่มโอกาสให้เกิดระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
โรคเบาหวาน กับ โควิด 19 อีกปัจจัยร่วมซ้ำเติมการติดเชื้อ
เรายังคงอยู่กันที่ประเด็นของโรคอ้วน เนื่องจากโรคอ้วนมักถูกตรวจพบร่วมกับโรคเบาหวาน แล้วยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เนื่องจากปริมาณไขมันในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ไปรบกวนการทำงานของตัวรับอินซูลิน ส่งผลให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน น้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น และไปกระตุ้นให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักขึ้น
คนที่เป็นโรคเบาหวาน หากควบคุมน้ำตาลไม่ดี จะทำให้ค่าน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ กระทบการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 เข้า ร่างกายไม่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรค ยิ่งทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายในร่างกาย ก่อให้เกิดความอักเสบในอวัยวะสำคัญ ๆ ได้มากขึ้นและรุนแรงขึ้น
เป็นสาเหตุที่หน่วยงานสาธารณสุขต้องออกมารณรงค์ให้ผู้ป่วยทั้ง 2 โรคนี้ ให้รีบไปรับการฉีดวัคซีนนั่นเอง
2 วิธีป้องกัน ถ้าไม่อยากเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง
สำหรับแนวทางการป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด 19 นั้นมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกคือการป้องกันโรคโควิด 19 วิธีที่สองคือ การตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคอ้วนอยู่หรือไม่ แล้วรีบหาทางลดน้ำหนัก ควบคุมหุ่นโดยด่วน!
1. ป้องกันตัวจากโควิด 19 อย่าให้มาซ้ำเติมความอ้วน!
มาตรการและแนวทางปฏิบัติตัวที่หน่วยงานสาธารณสุขได้ออกมาประกาศให้เรากินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องพบเจอใคร (แม้จะเป็นคนในบ้าน) รวมถึงรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นแนวทางป้องกันที่ใช้ได้ดีเสมอ
แม้จะต้องแนะนำเช่นนี้เป็นประจำจนหลายท่านอาจจะรู้สึกว่า “รู้แล้ว!” ก็ตาม แต่ก็เป็นยุทธวิธีแรกที่ช่วยป้องกันไม่ให้โรคนี้มาซ้ำเติมความอ้วนของเราได้จริง ๆ
และการฉีดวัคซีนจึงเป็นอีกมาตรการสำคัญที่จำเป็นต้องรีบทำ เพื่อเสริมแนวป้องกันให้กับตัวเอง เพราะถ้าติดเชื้อขึ้นมาจริง ๆ อย่างน้อยการได้รับวัคซีนก็ยังลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้
อ้วนแล้ว พร้อมฉีดวัคซีนแล้ว สมัครหมอพร้อมได้เลย
เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคอ้วน เป็น 1 ใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่เป็นเป้าหมายในการรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ดังนั้น จึงมีการกำหนดเงื่อนไข คนที่เข้าหลักเกณฑ์ “โรคอ้วน” ที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนขอจองฉีดวัคซีนกับหมอพร้อมได้นั้น จะต้องมีน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือ คนที่มีดัชนีมวลกาย (BMI)เกิน 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (BMI ≥ 35)
ใครที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด สามารถลงทะเบียนผ่าน แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ได้เลย ส่วนใครที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่สะดวกลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าว สามารถติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้โรงพยาบาลแจ้งสิทธิ์ของท่านให้กับส่วนกลางกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
2. รักษาตัวจากโรคอ้วน ลดหลายโอกาสเสี่ยง
รู้ไว้ใช่ว่า การลดความอ้วนไม่ได้ช่วยแค่ประเด็นเรื่องโควิด 19 แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกหลายโรคเลยทีเดียว!
อ้วนคือแค่ไหน แค่ไหนเรียกว่า ‘อ้วน’
การที่เราจะแก้ปัญหาอะไรได้นั้น เราก็ต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังมีปัญหา
การรับรู้ว่าตัวเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคอ้วน หรืออ้วนไปแล้วเรียบร้อยนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่เป็นนิมิตหมายอันดี ที่เราจะได้รีบศึกษาหาทางป้องกันหรือรักษาให้เรียบร้อย
วัดจาก BMI
ในทางการแพทย์นั้น เรามีวิธีเช็คว่าเราเข้าข่ายเป็น ‘โรคอ้วน’ แล้วหรือยัง โดยพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) ซึ่งมีสูตรในการหา ดังนี้
แต่ไม่ต้องกังวลว่าการคำนวณ BMI จะยุ่งยาก เพราะปัจจุบัน เราสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันฟรี ๆ ที่ช่วยในการคำนวณ BMI ได้มากมาย หรือแม้แต่สามารถค้นหาเครื่องคิดเลขคำนวณ BMI ได้ เพียงพิมพ์ค้นหาว่า “เครื่องคำนวณ BMI” ใน Google เท่านั้นเอง
วัดจาก เส้นรอบเอว
เราสามารถประเมินภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีไขมันในช่องท้องมากเกินไปได้ จากการวัดเส้นรอบเอว ด้วยการใช้สายวัด โดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
- ต้องอยู่ในท่ายืน หากนั่งอยู่ อาจทำให้ค่าที่ได้มากเกินความเป็นจริง
- ใช้สายวัด วัดรอบเอว โดยให้สายวัดพาดผ่านบริเวณกึ่งกลางระหว่างตำแหน่งกระดูกเชิงกรานและชายโครงซี่สุดท้าย
- ค้างไว้ ให้สายวัดแนบกับลำตัว ปรับระดับให้สายวัดขนานกับพื้น แต่อย่ารัดแน่น
- ให้วัดในช่วงที่หายใจออก
ให้ถือว่าบุคคลต่อไปนี้ อยู่ภาวะอ้วนลงพุง
- ผู้ชาย ที่วัดเส้นรอบเอวได้มากกว่า 90 ซม.
- ผู้หญิง ที่วัดเส้นรอบเอวได้มากกว่า 80 ซม.
เมื่อพิจารณาร่วมกัน ระหว่างค่า BMI และเส้นรอบเอวได้แล้ว เราก็จะประเมินได้คร่าว ๆ แล้วว่า ตัวเองกำลังเป็นโรคอ้วนหรือไม่?
การรักษาตัวเองจากโรคอ้วน
ไม่มีใครรู้สึกว่า การเป็นหวัด เป็นไข้ ท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ เป็นเรื่องที่ต้องรู้สึกผิด ต้องตำหนิตัวเอง หรือทำให้อับอาย และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง
โรคอ้วนเองก็เช่นกัน เนื่องจากภาวะอ้วนนั้น มีปัจจัยหลายอย่างที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะระบบการเผาผลาญที่เสียสมดุลไป ดังนั้นจึงนับว่าเป็น ‘โรค’ ได้ไม่ต่างจากโรคประเภทอื่น ๆ เมื่อทราบว่าตัวเองเป็นแล้ว หน้าที่ของเราจึงเป็นแค่การพยายามรักษาตัวเองให้หายจากโรคนี้เท่านั้นเอง
รักษาด้วยการปรับพฤติกรรม ช้า... แต่ชัวร์
โรคอ้วน มักมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา
ขอย้ำว่าสาเหตุหลักคือ ‘พฤติกรรมประจำวัน’ ไม่ใช่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ดังนั้น แนวทางที่ได้ผลช้า แต่สำเร็จชัวร์ จึงมาจากการปรับที่พฤติกรรมประจำวัน ไม่ใช่การเพิ่มกิจกรรมเข้ามาประเดี๋ยวประด๋าว เช่น การหักโหมออกกำลังกายอย่างหนัก การกินแต่สลัดและผลไม้แทนมื้ออาหาร การอดอาหาร การงดแป้ง เป็นต้น
เพราะการปรับเปลี่ยนที่ทำได้เพียงชั่วคราว มักทำให้เรารู้สึกอึดอัด ไม่มีความสุข เพิ่มความเครียดให้กับร่างกายและจิตใจ นอกจากทำให้เราอ่อนแอลงแล้ว เมื่อถึงเวลาผ่อนคลาย อาจทำให้เกิดภาวะโยโย่ และกลับมามีน้ำหนักหรืออ้วนมากกว่าเดิม เนื่องจากสมดุลของระบบเผาผลาญของเราไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี (แถมยังถูกทำให้แย่ลงอีกด้วย)
เราจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และการใช้พลังงานของเราให้เหมาะสม ดังนี้
- ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารประเภท “ทอด หวาน มัน เค็ม” แล้วปรับเปลี่ยนไปกินอาหารประเภท “ต้ม ปิ้ง นึ่ง ย่าง” ให้มากขึ้นแทน เพราะประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ การทำให้ตัวเองรู้สึกอิ่มเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับประเภทของอาหารที่รับเข้าไป ให้ได้รับพลังงานที่ลดลง เมื่อเทียบกับสไตล์การกินแบบเดิมของเรา
- ดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หมั่นจิบน้ำเรื่อย ๆ กระจายไปในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ถ้าเราดื่มน้ำอย่างถูกต้อง จะช่วยให้การไหลเวียนของโลหิต แล้วยังกระตุ้นการขับถ่ายของเราให้ทำงานได้ดีด้วย
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก กาแฟมอคค่าเพิ่มวิปครีม
- จำกัดปริมาณการบริโภคผลไม้ เนื่องจากผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาล ควรเลือกผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร
- เพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน อย่านั่งทำงานตลอดทั้งวัน ให้ลุกขึ้นมาขยับตัวบ้าง หรือทำงานบ้านในยามว่าง ซึ่งก็เป็นวิธีการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำเท่าที่ทำได้ หากไม่สะดวกออกนอกบ้าน ก็สามารถออกกำลังกายอยู่บ้านได้ มีท่าออกกำลังกายเรียกเหงื่อมากมายที่ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ
สรุป
มีรายงานและผลสรุปวิจัยมากมายที่กล่าวถึงความเสี่ยงของอาการรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด 19 ดังนั้น การรักษามาตรการป้องกันตัวเองจากโควิด 19 อย่างเข้มงวด จึงเป็นปราการด่านหน้าที่ดีให้พ้นจากโควิด
ในขณะที่การรีบเข้ารับการฉีดวัคซีน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเรา หรือหากติดเชื้อจริง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ลดอัตราการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตได้
แน่นอนว่า การฟิตหุ่นและลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของการช่วยลดความเสี่ยงของผู้ที่เป็นโรคอ้วน อาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยทันทีในช่วงโควิด 19 ในสภาพที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน เต็มไปด้วยความวิตกกังวล ไม่สะดวกไปออกกำลังกายข้างนอก แต่การเริ่มต้นตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักเสียตั้งแต่วันนี้เลยก็ยังดีกว่าการอยู่บ้านเฉย ๆ
ขอให้คิดในแง่ดีว่า ให้ใช้โอกาสที่ไม่สามารถไปกินข้าวข้างนอกได้ เป็นโอกาสอันดีในการคุมอาหาร ลดน้ำหนัก ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงของอันตรายจากโควิด แต่ยังช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกด้วย