โรคปอดอักเสบ (pneumonia) คือการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อปอด ถุงลม และเนื้อเยี่อข้างเคียง เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับอายุ โรคประจำตัว เกิดได้จากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
โดยทั่วไปมักจะพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า เราสามารถแบ่งชนิดของปอดอักเสบติดเชื้อได้หลายแบบ ปัจจุบันนิยมแบ่งตามสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบได้แก่ ปอดอักเสบในชุมชน (Community acquired pneumonia, CAP) หรือปอดอักเสบในโรงพยาบาล (Hospital acquired pneumonia, HAP) เพื่อประโยชน์ในการรักษาที่เหมาะสม ในทีนี้เราจะกล่าวถึงปอดอักเสบในชุมชน
อาการแสดงและการวินิจฉัย
อาการของปอดอักเสบติดเชื้อที่พบได้บ่อยได้แก่ มีไข้ ไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก เจ็บเสียดบริเวณหน้าอกเวลาหายใจเข้า
การวินิจฉัย แพทย์ตรวจร่างกายพบเสียงปอดผิดปกติ ร่วมกับเอ็กซเรย์ปอดพบฝ้าขาวผิดปกติ
ปัจจัยเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปอดอักเสบติดเชื้อได้แก่
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี, เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ, โรคปอด, โรคไต, โรคเบาหวาน, โรคตับ
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นผู้ที่ ติดเชื้อไวรัส HIV, โรคมะเร็ง
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
สาเหตุ
เชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบติดเชื้อพบได้ทั้งแบคทีเรีย, ไวรัส หรือเชื้อรามีการติดต่อได้หลายวิธี
- เชื้อจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนสำลักลงไปในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง
- การนำเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่างโดยตรง ผ่านการไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการนำเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอดโดยตรง
- การแพร่กระจายผ่านการติดเชื้อในกระแสเลือด
- การลุกลามจากการติดเชื้อจากอวัยวะข้างเคียง เช่น การเป็นฝีในตับแตกเข้าปอด
- เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบติดเชื้อในชุมชนที่พบได้บ่อยคือ เชื้อแบคทีเรีย เช่น Strephylococus pneumoniae, Haemophilus influenzae, Moraxella catarrhalis เป็นต้น หรือเชื้อไวรัส เช่น influenza, rhinovirus, adenovirus, coronavirus เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่าปอดอักเสบ
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจร่างกาย และทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจ X- Ray ปอดและตรวจเลือด รวมถึงนำเสมหะของคนไข้ไปตรวจเพาะเชื้อเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและตรวจแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ซึ่งผลตรวจที่ได้จะนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
การรักษา
- การรักษาแบบจำเพาะ การใช้ยาฆ่าเชื้อ โดยแพทย์จะเลือกยาที่คิดว่าครอบคลุมเชื้อก่อโรคที่น่าจะเป็นสาเหตุของปอดอักเสบติดเชื้อ โดยพิจารณาจากอาการทางคลินิก และระบาดวิทยา
- การรักษาแบบประคับประคอง โดยจะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาพ่นขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ยาลดไข้ ยาแก้ไอ
- การรักษาภาวะแทรกซ้อน ในบางรายภาวะปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงมาก อาจมีภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ
การป้องกัน
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบติดเชื้อ ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันปอดอักเสบติดเชื้ออยู่ 2 ชนิด เพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน
- วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ซึ่งควรจะฉีดวัคซีนทุกปี
สำหรับการดูแลสุขภาพปอดของเรา คือ ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตามธรรมชาติของปอด , หมั่นดูแลสุขอนามัยส่วนตัว สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ดื่มสุรามากจนมึนเมาเพราะอาจสำลักเอาเชื้อโรคจากปากเข้าปอด และเมื่อมีอาการหวัดควรรีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ และหมั่นตรวจสุขภาพปอดของเราทุกปี