ลำพังแค่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 เองก็ดูน่ากลัวมากแล้ว ยิ่งถ้าเราหรือคนที่เรารักตั้งครรภ์ในสถานการณ์เช่นนี้ คงน่ากังวลใจมากยิ่งขึ้นไปใหญ่ เรามาดูข้อมูลกันดีกว่า ว่าผู้หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และถ้าติดเชื้อขึ้นมา จะส่งผลกระทบต่อคุณแม่และเด็กในครรภ์อย่างไรบ้าง?
สารบัญ
- ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์
- หอบเหนื่อยระหว่างตั้งครรภ์ ใช่โควิดหรือไม่? อาการแบบไหน ต้องรีบไปพบแพทย์
- โควิด 19 สามารถส่งต่อไปยังลูกในครรภ์ได้หรือไม่
- หากทารกติดโควิด 19 ตัังแต่แรกเกิด จะเป็นอย่างไร?
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจโควิด 19 หรือไม่?
- แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
- หากติดโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
- คุณแม่ติดโควิด 19 สามารถให้นมลูกได้หรือไม่?
- เราควรดูแลตัวเองอย่างไรให้เราและลูกในท้องปลอดภัย
- สรุป
ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงในหญิงตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงติดเชื้อพอ ๆ กับบุคคลทั่วไป
รายงานจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ในอังกฤษ เผยว่า ผู้หญิงไม่ได้ติดเชื้อง่ายขึ้นขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ นอกจากนี้ ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโควิดในระหว่างตั้งครรภ์มักจะไม่แสดงอาการเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด คัดจมูก มีไข้ต่ำ และปวดเมื่อยตามตัว เป็นต้น
อาการอาจรุนแรงได้ ด้วยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
แม้ว่าความเสี่ยงที่แท้จริงของการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตในผู้ตั้งครรภ์จะต่ำมาก แต่ก็มีรายงานที่พบว่าผู้หญิงตั้งครรภ์มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน หากมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 อย่าง ดังต่อไปนี้
- มีอายุมาก
- มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
- มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
อย่างไรก็ดีพบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้ เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดโควิด โดยเฉพาะหากเกิดการติดเชื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 อาการรุนแรงที่ว่า ได้แก่ เพิ่มโอกาสการนอนห้อง ICU เพิ่มโอกาสการใช้เครื่องช่วยหายใจ และเพิ่มโอกาสคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ดังนั้น จึงควรระมัดระวัง ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อนี้ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์อยู่จะดีที่สุด
หอบเหนื่อยระหว่างตั้งครรภ์ ใช่โควิดหรือไม่? อาการแบบไหน ต้องรีบไปพบแพทย์
คุณแม่หลายท่านอาจจะพบว่าตัวเองมีภาวะหายใจลำบาก รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หรือเหนื่อยมากกว่าปกติในระหว่างตั้งครรภ์ แล้วเกิดสับสนหรือกังวลว่าอาการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับโควิดหรือไม่?
ภาวะต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น เกิดขึ้นได้ทุกช่วงของการตั้งครรภ์ เพราะในช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงขนาดของมดลูกที่ใหญ่โตขึ้นจนไปเบียดลิ้นปี่หรือกระบังลมให้ยกสูงขึ้นทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ และยังต้องแบกรับน้ำหนักลูกน้อยในท้อง ทำให้คนเป็นแม่ รู้สึกเหนื่อย ปวดเมื่อย หายใจไม่สะดวกได้ง่าย
แต่เพื่อไม่ให้สับสนกับอาการของโควิด 19 จนต้องกังวลมากโดยไม่จำเป็น บทความนี้ จึงมีข้อแนะนำวิธีการตรวจเช็คอาการเพื่อคัดกรองโอกาสที่จะเป็นโควิดเบื้องต้น หากคุณแม่เข้าเกณฑ์หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือเดินทางไปสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงมาก่อน
- มีไข้สูงร่วมกับอาการหอบเหนื่อย
- อาการหายใจเหนื่อยมีความรุนแรงขึ้น หรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
- เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บขณะหายใจ
- มีอาการไอ ไอร่วมกับมีไข้ หรือไอเป็นเลือด
- ร่างกายดูซีดลง ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าซีดจนเป็นสีม่วง หรือวิงเวียนจะเป็นลม
โควิด 19 สามารถส่งต่อไปยังลูกในครรภ์ได้หรือไม่?
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อสงสัยนี้ไว้ว่า ยังไม่ทราบข้อสรุปที่แน่ชัด และยังไม่เคยพบว่ามีไวรัส (active virus) จากการตรวจตัวอย่างน้ำคร่ำภายในครรภ์แม่และตัวอย่างนมแม่ นอกจากนี้ ยังมีสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็น
ดังกล่าว คือ
- ส่วนใหญ่ ไม่พบการติดเชื้อโควิดในทารกแรกเกิดที่เกิดจากมารดาที่ติดโควิด
- สำหรับกรณีที่พบเชื้อโควิดในทารกแรกเกิดหลังคลอด (ซึ่งพบได้น้อย ประมาณ 2-5% ทั่วโลก) และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่า ทารกได้รับเชื้อมาก่อน ระหว่าง หรือภายหลังจากคลอดแล้ว
- ยังไม่มีรายงานว่า การติดเชื้อทำให้เพิ่มโอกาสแท้ง
หากทารกติดโควิด 19 ตั้งแต่แรกเกิด จะเป็นอย่างไร?
ทารกแรกเกิดที่มีการตรวจพบเชื้อโควิด 19 มักจะมีอาการไม่มาก หรือแทบไม่มีอาการเลย อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีที่ทารกแรกเกิดติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงอยู่บ้างเหมือนกัน
จริง ๆ แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวล จะมาจากผู้เป็นแม่ด้วย อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า หากติดเชื้อโควิดในไตรมาสที่ 3 อาการคุณแม่ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น และอาจจะส่งผล กระทบต่อลูกในครรภ์ด้วยเช่นกัน
ผู้หญิงตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจโควิด 19 หรือไม่?
ข้อแนะนำคือ แม้ว่าจะตั้งครรภ์อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจโควิด 19 เพราะที่จริงแล้ว การเดินทางออกไปข้างนอก หรือไปอยู่ร่วมกับคนมาก ๆ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ
การเก็บตัวอยู่บ้าน ทำจิตใจให้สงบ และสื่อสารกับสมาชิกในบ้านให้เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเหมาะสมจะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าหากพบว่าตัวเองมีอาการที่บ่งชี้ว่าอาจติดโควิด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
การศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังอย่าง New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ได้รายงานว่าจากการศึกษาเบื้องต้นในผู้หญิงตั้งครรภ์จำนวน 35,691 รายที่ได้รับวัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยในผู้หญิงตั้งครรภ์
ดังนั้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (Center for Disease Control and Prevention; CDC) และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ของสหราชอาณาจักร จึงได้ปรับปรุงข้อมูลคำแนะนำใหม่ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ไว้ว่า
ทาง Joint Committee on Vaccination and Immunization (JCVI) แนะนำให้กลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (มากกว่า 12 สัปดาห์) สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยมีสูตินารีแพทย์ผู้ดูแลให้ข้อมูลเรื่องข้อดี/ข้อเสียของวัคซีน รวมถึงใช้เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงเช่นเดียวกันกับกลุ่มประชากรทั่วไป เช่น อายุ โรคประจำตัวต่างๆ และตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้หญิงตั้งครรภ์แต่ละราย
เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาความเสี่ยงในกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 เบื้องต้น ได้แก่
- กลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป
- กลุ่มที่เป็นแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสสัมผัสติดต่อผู้ติดเชื้อสูง
- กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19
- กลุ่มที่ตรวจพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป (มีภาวะอ้วนเกิน)
อย่างไรก็ดีข้อมูลด้านความปลอดภัย มีเพียง 2 บริษัทดังกล่าวเท่านั้น หากท่านต้องการรับวัคซีนในระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้ดูแลก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนทุกครั้ง
ผลข้างเคียงและการแพ้วัคซีน
ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด 19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ก็ไม่ต่างกับบุคคลทั่วไป เช่น อาจมีอาการไข้หลังได้รับวัคซีน ซึ่งสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หลังได้รับวัคซีน
แต่มีข้อแนะนำว่า หากเราเคยมีอาการแพ้วัคซีนชนิดอื่น ๆ มาก่อน (โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้วัคซีนได้เช่นเดียวกับการได้รับวัคซีนทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ หากมีโครงการที่จะฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ด้วยในช่วงนี้ ควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจก่อน เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม
อยู่ในช่วงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?
จากข้อมูลวิจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำว่ากรณีคุณแม่ที่อยู่ในระหว่างให้นมบุตร สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดให้นม
ฉีดวัคซีนไปแล้ว วางแผนตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) ระบุว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์หลังได้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ได้แก่ บริษัท Pfizer และ Moderna เนื่องจากตามทฤษฎีแล้ว วัคซีนจะไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ และยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนชนิดนี้จะมีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีแผนตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีน ควรเข้ามาพบสูติแพทย์เพื่อปรึกษาและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
หากติดโควิด 19 ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ว่าทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อจากผู้เป็นแม่ รวมถึงความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ติดเชื้อนั้นมีโรคประจำตัวร่วมด้วยหรือไม่ และผู้ติดเชื้อที่ตั้งครรภ์จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ทั่วไปในกลุ่มอายุเดียวกัน แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากอยู่ดี เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม
ดังนั้น เมื่อทราบว่าตัวเองติดโควิดในระหว่างตั้งครรภ์ ให้ตั้งสติและพยายามทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ตามที่บทความนี้ได้อธิบายไว้เบื้องต้น และควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน
คุณแม่ติดโควิด 19 สามารถให้นมลูกได้หรือไม่?
ทาง WHO แนะนำว่า หากผู้เป็นแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มากก็สามารถให้นมได้ และควรทำด้วย เนื่องจากในน้ำนมมีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่จำเป็นและลูกควรได้รับการสัมผัสจากแม่ นอกจากนี้ การบีบน้ำนมอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แม่ยังคงมีน้ำนมให้นมลูกได้แม้หายป่วยแล้ว
แต่ผู้ให้นมลูก ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ตามข้อแนะนำทั้งก่อนและหลังสัมผัสตัวเด็ก ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้าของตัวเองและของลูก ห้ามหอมแก้มหรือจุ๊บลูก หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ภายในพื้นที่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยต่อเด็กอยู่เสมอ
กรณีที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เช่น ไอมากแต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ อาจให้พ่อเป็นผู้ป้อนนมลูกแทน (พ่อก็ต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคเช่นเดียวกับแม่) หรือ อาจให้ใช้วิธีบีบน้ำนมให้ทารกดื่มแทนการให้นมจากเต้า หรือใช้เครื่องปั๊มนมได้ แต่ต้องล้างมือก่อนและหลังใช้เครื่องปั๊มนมทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากแม่รับยาต้านไวรัสบางชนิด เช่น Favipiravir หรือ Darunavir ยาจะถูกขับออกทางน้ำนมด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูก สำหรับยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมลูก
เราควรดูแลตัวเองอย่างไร ให้เราและลูกในท้องปลอดภัย
สุดท้ายนี้สิ่งที่สำคัญคือสุด คือ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อยู่ ควรระมัดระวังตัวเองให้ห่างไกลจากโควิด โดยมีข้อปฏิบัติตัวดังนี้
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ (อย่างน้อย 20 วินาที) หรือหากจำเป็น ให้ใช้แอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70% ในการล้างมือ
- ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้าของตนเอง หรือหากจำเป็นต้องสัมผัสจริง ๆ ควรล้างมือด้วยสบู่ก่อน
- สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง : เป้าหมายหลักของการสวมใส่หน้ากากอนามัยก็คือ ป้องกันไม่ให้ตัวเองแพร่เชื้อให้กับคนอื่น และช่วยป้องกันละอองเสมหะหรือน้ำลายจากผู้อื่นได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังเป็นกุศโลบายไม่ให้เราเผลอเอามือมาแตะบริเวณใบหน้าของตนเองโดยไม่รู้ตัวด้วย
- กินอาหารที่ปรุงสุก โดยใช้ช้อนกลางของตัวเอง (ไม่ใช้ช้อนกลางร่วมกับคนอื่น)
- รักษาระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร ไม่พูดคุยกันแบบหันหน้าเข้าหากัน และหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด
- การเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดแม้แต่ภายในบ้านของตัวเอง จะยิ่งลดความเสี่ยงในการติดโควิด เนื่องจากเราไม่มีทางรู้เลยว่า สมาชิกในบ้านอาจได้รับนำเชื้อจากภายนอกเข้ามาแล้วหรือไม่ยัง
- หากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจเป็นโควิด ให้รีบพบแพทย์ทันที
ไม่เพียงแต่คุณแม่เท่านั้น คุณพ่อบ้านหรือคุณสามี และสมาชิกในครอบครัวท่านอื่น ๆ ก็ต้องช่วยกันระมัดระวังเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เผลอนำเชื้อจากภายนอกมาติดคนในบ้านเรา
สรุป
การติดโควิด 19 ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ นับเป็นประเด็นหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจและเป็นกังวลอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า ผู้หญิงที่ติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะแท้งหรือเสียชีวิต จะพบแต่เพียงว่ามี ‘โอกาส’ ที่จะมีอาการรุนแรงสูงกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงช่วงอายุเดียวกันที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
แต่แน่นอนว่า การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการติดโรคดังกล่าวนั้นย่อมเป็นการดีที่สุดทั้งต่อตัวเอง ต่อลูกในครรภ์ และต่อคนที่คุณรัก โดยสามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับคนทั่วไป
สำหรับผู้ที่กำลังพิจารณาว่าจะไปรับการฉีดวัคซีนดีหรือไม่? ขอแนะนำให้ท่านปรึกษาสูตินารีแพทย์ที่ท่านฝากครรภ์เพื่อให้คำแนะนำและข้อมูลที่เหมาะสมกับคุณแม่แต่ละท่าน และคอยติดตามข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานสาธารณสุขอย่างโดยใกล้ชิด