ความเครียดในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่หลายคนต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องรายได้ เรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาด ปัญหาด้านสภาวะจิตใจระหว่างที่ work from home เพราะไม่สามารถ cut off หรือแยกแยะสถานที่ทำงานออกจากบ้านได้ ทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริง
แล้วถ้าหากว่าเราอยากจะคลายเครียดช่วงโควิด จะมีแนวทางป้องกันหรือเยียวยาอย่างไรได้บ้าง
สารบัญ
- สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อจิตใจคนอย่างไรบ้าง
- ทำความรู้จักกับความเครียด
- สาเหตุของความเครียด
- เครียดไปแล้วได้อะไร? มาดูผลกระทบ 3 ด้านที่คนเครียดต้องเจอ
- ภาวะซึมเศร้า ปัญหาในยุคโควิด ที่อาจต่อยอดมาจากความเครียด
- แนวทางสังเกตตัวเองเบื้องต้น เพื่อรู้เท่าทันความเครียดของเรา
- 3 กลยุทธ์หลัก จัดการความเครียดให้อยู่หมัด
- เทคนิครับมือความเครียดแบบยั่งยืน ในยุคโควิด 19
- รักษาอาการเครียด ในยุค New Normal ด้วย PR9 Telemedicine
- สรุป
สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อจิตใจคนอย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับว่าเราอยู่กับภาวะโรคระบาดมานานตั้งแต่ต้นปี 2563 แล้ว ส่งผลกระทบต่อทุกคนในโลกใบนี้มากมาย ผลกระทบทางตรงที่เรารู้กันดีอยู่แล้วคือ การมีผู้ติดเชื้อ แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทางลบจากการแพร่ระบาดไม่มากก็น้อย นั่นก็คือกลุ่มที่ถูกบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปโดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราเริ่มมีความเสี่ยงต่อภาวะความเครียดเรื้อรัง
ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 คือ ภาวะความเครียดเรื้อรัง จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการปรับตัว ว่าเราจะปรับตัวกันได้ดีแค่ไหน ยิ่งไม่สามารถทำใจให้เป็นปกติยอมรับและปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล หรือแม้แต่เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้
ภาวะตึงเครียด เมื่อผู้ป่วยโควิด 19 ต้องปรับตัวครั้งใหญ่
แน่นอนว่า ถ้าหากเป็นผู้ติดเชื้อ ย่อมต้องปฏิบัติตามตามมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดของประเทศนั้น ๆ อยู่แล้ว จึงเป็นสภาพบังคับให้ต้องปรับตัวอย่างช่วยไม่ได้ เพราะทันทีที่พบเชื้อ ก็ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาเป็นเวลานาน ๆ อย่างน้อย 2 – 4 สัปดาห์ ต้องปรับพฤติกรรมมากมาย และเผชิญหน้ากับความกลัวต่าง ๆ มากมาย
ผู้ติดเชื้อ จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องประสบกับภาวะเครียด โดยอาจเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุรวมกัน เช่น
- เกิดความรู้สึกผิดหรือความกังวล ที่ตัวเองติดเชื้อ แล้วไปแพร่เชื้อต่อ หรือไปเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแก่ผู้อื่นที่เป็นบุคคลใกล้ชิด
- ลักษณะการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่เหมือนกับการรักษาทั่วไป ต้องแยกตัวอยู่คนเดียวในห้อง สวมใส่ชุดป้องกันที่ต้องปกปิดสีหน้าท่าทาง แยกห่างจากหมอและพยาบาล ไม่สามารถให้บุคคลใกล้ชิดหรือญาติสนิทเข้าไปเยี่ยมได้ ทำให้ผู้ป่วยโควิดรู้สึกโดดเดี่ยว
- ไม่ทราบการรักษาที่แน่นอน สร้างความรู้สึกกลัวและสับสน
จึงนับว่าการติดเชื้อและเข้ารับการรักษา มีผลทำให้บริบทการใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย แถมทำให้เกิดความเครียดและความกังวลใจตามมา
ภัยแฝงของการไม่รู้ว่า “ตัวเองต้องปรับตัว” สำหรับคนทั่วไป
อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ แต่ได้เฝ้าติดตามข่าวการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการอยู่บ้าน รวมถึงต้องทำงานที่บ้าน (work from home) กลับเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสเผชิญหน้ากับความเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะมีเรื่องให้กังวลใจแทบไม่ต่างกันกับผู้ติดเชื้อเอง ได้แก่
- มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด: เกิดความกลัวว่าตัวเองและคนที่ตัวเองรักจะติดเชื้อหรือไม่? ติดตามข่าวสารมากเกินไป ซึ่งอาจมีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม รวมถึงวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางหน้าที่การงานและรายได้ ที่อาจได้รับผลกระทบ
- ต้องอยู่บ้านตลอดเวลา: ทำให้ต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในที่พักที่มีลักษณะเป็นห้องแคบ เช่น คอนโด ทาวน์เฮ้าส์ เป็นต้น ยิ่งทำให้รู้สึกอุดอู้ เกิดความรู้สึกเบื่อหรือเครียดได้
- ต้องทำงานที่บ้าน: ทำให้พื้นที่ที่ควรจะเป็นบ้านสำหรับพักผ่อน กับพื้นที่ที่ควรจะจริงจังตั้งใจทำงาน กลายเป็นสถานที่เดียวกันอย่างแยกไม่ได้ เกิดปัญหาการปรับตัว พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ บางคนอาจมีปัญหา ไม่สามารถปิดจบงาน (cut off) ในแต่ละวันได้
- ประชุมทางไกลใช้เวลานานขึ้นและไม่มีประสิทธิภาพ: เนื่องจากไม่ใช่การเจอตัวแล้วมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเช่นปกติ ทำให้ต้องใช้สมาธิและใช้เวลามากยิ่งขึ้นในการประชุมทางไกล ทำให้เราเผลอเพ่งหน้าจอ ส่งผลต่อความเหนื่อยล้า
- ปฏิสัมพันธ์และการเข้าสังคมที่น้อยลง: การที่เราไม่สามารถออกไปพบปะผู้คนหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกบ้านได้ ส่งผลให้ต้องอยู่กับตัวเองมากขึ้น มีโอกาสเกิดความคิดฟุ้งซ่าน เครียดและกดดัน ไม่มีพื้นที่ให้ระบายออก
- ปัญหาด้านความสัมพันธ์: มีกรณีศึกษาที่คู่รักในประเทศฝรั่งเศสต้องกักตัวอยู่บ้านร่วมกันเป็นเวลานาน ๆ พบว่า เกิดกรณีความรุนแรงในครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ซึ่งอาจเกิดจากอาการเครียดที่ต้องถูกจำกัดพื้นที่ ประกอบกับความกังวลในด้านการงานและรายได้
สำหรับในประเทศไทย แม้ไม่ได้มีรายงานในลักษณะดังกล่าว แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้คนเครียดมากขึ้น และต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกันตลอดทั้งวัน ก็เป็นไปได้ที่จะมีโอกาสทะเลาะ หรือเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ขึ้นได้
คนทั่วไปที่ไม่ใช้ผู้ป่วย จึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสเสี่ยงกับภาวะเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว จึงต้องตระหนักรู้และระมัดระวังสภาวะจิตใจของตัวเองในช่วงนี้ให้ดี พยายามเรียนรู้ที่จะปรับตัวกับสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ให้ได้
ทำความรู้จักกับความเครียด
ความเครียดเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเหตุใดจึงทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตได้
ความเครียด คือ อะไร?
ความเครียด (stress) คือ การตอบสนองทางสรีรวิทยา (physiological) และทางจิตวิทยา (psychological) ของเรา ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่คาดคิด
ปรากฏการณ์ที่ทำให้เราเกิดความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจากปัจจัยภายนอกร่างกาย และจากปัจจัยภายในร่างกาย จุดที่ต้องคอยระวัง คือ อย่าให้ตัวเองเครียดในระดับที่สูงเกินไป (toxic stress)
ความเครียดมีอยู่ 2 ประเภท
- ความเครียดเฉียบพลัน (acute stress) มักเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น เสียงดัง สภาวะอากาศที่หนาวหรือร้อนเกินไป เป็นต้น แล้วส่งผลต่อร่างกายแบบกระทันหัน ร่างกายมีภาวะตื่นตัวต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นความเครียด แต่โดยปกติแล้ว ร่างกายของเราจะค่อย ๆ ปรับสู่ภาวะสมดุลได้เอง
- ความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) เป็นความเครียดที่สะสมเป็นระยะเวลานาน และร่างกายไม่สามารถปรับสู่สภาวะสมดุลได้ด้วยตัวเอง หลายๆ ครั้ง เกิดจากเงื่อนไขทางด้านจิตใจที่ไม่สามารถขจัดออกได้ หรือขจัดออกได้ยาก หรือผู้ที่มีอาการนี้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ เช่น มีปัญหาในที่ทำงาน มีเรื่องที่หวาดกลัวหรือค้างคาใจ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ หรือมีปัญหาในครอบครัว เป็นต้น
ในวงการด้านจิตวิทยา ได้มีการศึกษาว่า ความรู้สึกเครียดที่เหมาะสม มีข้อดีคือ ทำให้เราเกิดความมุ่งมั่นในการเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วยกระตุ้นให้เราตื่นตัว ลุกขึ้นมารับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และแน่นอนว่ามันช่วยให้เราพร้อมรับมือกับภาวะโรคระบาดโควิด 19 ในครั้งนี้ด้วย
แต่ความเครียดเรื้อรังหากเกิดขึ้นและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ก็อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรืออาการก้าวร้าวที่รุนแรงได้
สาเหตุของความเครียด
เพื่อป้องกันและควบคุมระดับความเครียดได้อย่างเหมาะสม ควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่มาให้ดี โดยแบ่งได้เป็น 3 สาเหตุใหญ่ ได้แก่
1. ทางด้านร่างกาย เช่น การอดอาหาร การออกกำลังกายอย่างหักโหม และการเจ็บป่วยเรื้อรัง
2. ทางด้านจิตใจ เช่น ความรู้สึกผิด ความหวาดกลัว ความวิตกกังวล
3. ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความขัดแย้งในครอบครัว การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว การต้องปรับตัวกับสังคมใหม่ ๆ
หากพิจารณาดูแล้ว จะพบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะเครียดได้ทั้ง 3 ด้านเลยทีเดียว
เครียดไปแล้วได้อะไร? มาดูผลกระทบ 3 ด้านที่คนเครียดต้องเจอ
1. ผลกระทบทางร่างกาย: มีทั้งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก (อาจนำไปสู่โรคกระเพาะอาหาร) ภูมิคุ้มกันต่ำลง เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น บางคนที่มีโรคประจำตัว ก็จะกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ง่าย
2. ผลกระทบด้านจิตใจ: ทำให้เราโมโหง่าย ขาดสมาธิ อารมณ์แปรปรวน หลงลืม นอกจากนี้ ความเครียดจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล หากมีมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อเซลล์ประสาท สติปัญญาและความจำ และถ้าปล่อยให้เครียดเรื้อรังต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อาจเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า หรือส่งผลให้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตได้
3. ผลกระทบเชิงพฤติกรรม: นอกจากโอกาสที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวแล้ว ความเครียดอาจยังส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในระยะยาวได้ ส่วนใหญ่จะเป็นพฤติกรรมที่เป็นไปเพื่อการผ่อนคลายหรือระบายอารมณ์ แต่ทำบ่อยจนติดเป็นนิสัย เช่น ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ติดเกม กินมากขึ้น ต้องหาอะไรกินตลอดเวลา หรือ ติดเล่นการพนัน เป็นต้น
ภาวะซึมเศร้า ปัญหาในยุคโควิด ที่อาจต่อยอดมาจากความเครียด
ภาวะซึมเศร้า ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรศึกษาเรียนรู้เอาไว้ เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ อาจทำให้เราต้องอยู่ในสภาพจิตใจที่ย่ำแย่เป็นเวลานาน ๆ แนวทางในการตรวจสอบเบื้องต้น ว่าเราอาจมีอาการซึมเศร้า ได้แก่
- อยู่ในอารมณ์เศร้าหมอง หรือรู้สึกไม่มีความสุขเลยตลอดทั้งวัน อาจทราบหรือไม่ทราบสาเหตุที่เป็นก็ได้ และมีอาการเช่นนี้ทุกวัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์
- อยากอยู่เฉย ๆ ไม่อยากทำอะไรเลย แม้แต่กิจกรรมที่เคยทำแล้วมีความสุข ก็ไม่ทำให้รู้สึกมีความสุขได้อีก ซึ่งจะมีอาการเช่นนี้อยู่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยเป็นร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังนี้
- ไม่มีสมาธิจดจ่อในการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ
- รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือรู้สึกผิด
- รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากหายไป หรืออยากตาย
- นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป
- เบื่ออาหาร หรือรับประทานมากผิดปกติ
หากเรารู้สึกว่ามีอาการดังกล่าวมากเสียจนกระทั่งไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ กระทบกับความสัมพันธ์ กระทบการงานและการเรียน ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษา อย่าปล่อยไว้นานเกินไป จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจมากยิ่งกว่าเดิม (ศึกษาเพิ่มเติมโรคซึมเศร้าและแนวทางการรักษา)
แนวทางสังเกตตัวเองเบื้องต้น เพื่อรู้เท่าทันความเครียดของเรา
สิ่งสำคัญที่สุด คือการตระหนักรู้ให้ได้ก่อนว่า ตอนนี้ตัวเราเองกำลังมีภาวะเครียดอยู่ ซึ่งมีวิธีสังเกต ดังนี้
ด้านร่างกาย
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เกิดอาการกำเริบหรือแปรปรวน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ
- ปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น มีอาการโรคกระเพาะ คลื่นไส้ อาเจียน
ด้านอารมณ์และความคิด
- มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- วิตกกังวล หวาดกลัว มีอาการเครียด
- ขาดสมาธิ จดจ่ออะไรไม่ได้นาน
- ไม่สดชื่น เฉื่อยชา เบื่อหน่าย ไม่รู้สึกอยากทำอะไร (สังเกตจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำน้อยลง)
- เริ่มรู้สึกท้อแท้หมดหวัง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ (อาจพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้า)
ด้านพฤติกรรม
- มีปัญหาด้านการนอนหลับ นอนหลับไม่มีคุณภาพ หรือฝันร้ายอย่างต่อเนื่องวิตกกังวล หวาดกลัว มีอาการเครียด
- มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เช่น กินน้อยลง หรือกินมากขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน
- มีอาการหลงลืม หรือทำงานผิดพลาดบ่อย ๆ
- รู้สึกว่าการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ต้องใช้พลังมาก ไม่ค่อยตัดสินใจ หรือตัดสินใจได้แย่ลง
- ดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด ติดนิสัยบางอย่างที่ไม่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้ ควรพิจารณาร่วมกัน เช่น เมื่อมีอาการปวดหัวบ่อย ๆ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่ค่อยเป็น ร่วมกับอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว ขาดสมาธิ นอนไม่พอ ก็ให้ระวังว่าตัวเองอาจกำลังมีภาวะเครียด และรีบหาทางผ่อนคลายหรือแก้ไขโดยเร็ว หากไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
3 กลยุทธ์หลัก จัดการความเครียดให้อยู่หมัด
หลักการ 3 ข้อในการจัดการความเครียด ได้แก่
1. ตระหนักรู้ว่าเรากำลังเครียดก่อน เป็นอันดับแรก หมั่นสำรวจว่าตัวเองกำลังอยู่ในอารมณ์ใด
2. ศึกษาหาสาเหตุความเครียด โดยใช้โอกาสนี้จดบันทึกและทบทวนตัวเอง
3. เรียนรู้วิธีจัดการความเครียดของตัวเอง
ทั้ง 3 หลักการนี้ ล้วนแต่เป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันและรักษาภาวะเครียดได้ดีในระยะยาว เนื่องจากแต่ละคนอาจมีเงื่อนไขของปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ตัวเองเครียด รวมถึงแนวทางในการลดความเครียดที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกต และทดลองหาวิธีคลายเครียด ที่เหมาะสมที่สุดกับตัวเอง
แนวทางมาตรฐานที่ช่วยคลายความเครียด
- ออกกำลังกาย โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 หลายคนอาจรู้สึกว่าการไปออกกำลังกายเป็นเรื่องไม่สะดวก แต่ที่จริงแล้ว มีแนวทางออกกำลังกายมากมาย ที่เราสามารถทำที่บ้านได้ เช่น การทำโยคะ การแกว่งแขน การเต้นแอโรบิค เป็นต้น ทุกครั้งที่เราออกกำลังกาย สมองจะหลั่งสารแห่งความสุข (Endrophine) ออกมา ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสบายและมีความสุข
- ฟังดนตรีคลายเครียด เช่น ดนตรีหรือเพลงที่เราชอบ ที่มีทำนองและจังหวะสบาย ๆ หรืออาจดูซีรีส์และหนังที่มีเนื้อหาไม่เครียด เช่น หนังตลก หรือหนัง Feel Good สร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้น
- บางคนอาจเหมาะกับการฟังเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำตก เสียงฝนตก (หาฟังได้ตาม YouTube) หรือบางคนอาจชอบฟังเสียง ASMR (autonomous sensory meridian response) ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายคนยอมรับว่าฟังเสียงชนิดนี้แล้วทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เป็นเวลา ตั้งเวลาเริ่มงาน และเลิกงานให้ชัดเจน (อย่าเอาเวลาพักผ่อนไปทำงาน)
- คิดในแง่บวก มีทัศนคติที่ดี ฝึกฝนแนวคิดเชิงเติบโต (growth mindset)
- ฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ ฝึกการหายใจลดความเครียด หรือนั่งสมาธิ
- หาคนรู้ใจ หรือเพื่อนที่เราสามารถปรับทุกข์หรือพูดคุยด้วยได้ในยามที่เครียด
นอกจากนี้ การเข้าใจและยอมรับการการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับความปกติใหม่ (new normal) จนเป็นนิสัย เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ได้ผลในการลดความเครียดอย่างยั่งยืน
เทคนิครับมือความเครียดแบบยั่งยืน ในยุคโควิด 19
เมื่อรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทางที่ดีที่สุดคือการยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ใช่การต่อต้าน เพราะจะเป็นการสร้างแรงเสียดทานให้เกิดขึ้นในใจตัวเองเสียเปล่า ๆ
การปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จนกระทั่งติดเป็นนิสัยที่สามารถทำได้เป็นปกติ ทำให้เราเกิดความเคยชิน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างยืดหยุ่น พร้อมยอมรับความเป็นปกติใหม่ (new normal) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6 แนวทางปลูกนิสัยในช่วงโควิด 19 เพื่อต่อสู้กับความเครียด
ในช่วงที่โควิด 19 เกิดการแพร่ระบาดเช่นนี้ มีแนวทางที่ควรฝึกปฏิบัติจนเคยชิน ได้แก่
- ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ได้แก่ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะ พยายามฝึกทำให้เป็นเรื่องปกติ
- ศึกษาและทำความรู้จักโควิด 19: ปกติแล้วเรามักจะกลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก หรือไม่เข้าใจ ยิ่งในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาด หลายคนอาจรู้สึกรังเกียจผู้ติดเชื้อ หวาดกลัวไม่อยากเข้าใกล้ ซึ่งมีแต่จะสร้างความเครียดให้กับตัวเขาเองและผู้ป่วย การทำความรู้จักกับโควิด 19 จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ จัดการให้ปลอดภัยได้ ช่วยลดความกังวลที่ไม่จำเป็น
- ติดตามข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน: คิดเสมอว่า เราอยู่ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากเกินกว่าที่ใครคนหนึ่งจะติดตามได้ทั้งหมด นอกจากนี้ ใคร ๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ทั้งนั้น แนวทางที่เหมาะสม คือ ลดความถี่ในการติดตามข่าวสารลง เราอาจจะรู้ช้ากว่าคนอื่นบ้างก็ไม่เป็นไร ขอให้เป็นข่าวที่มีเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง คัดกรองมาแล้ว ดีกว่ารับมาทั้งหมด แล้วมาทำให้เราเครียดและเหนื่อยล้า
- ใช้กิจกรรมที่ชอบทำ เยียวยาตัวเอง: ทุกคนมีงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ทำแล้ว ช่วยให้เราลดความเครียด และรู้สึกผ่อนคลายได้ สำหรับคนที่รู้จักตัวเองดีอยู่แล้ว อาจจะใช้ช่วงเวลาที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ต่อยอดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราชอบหรือเคยคิดจะทำ
- มองหาความสุขง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว: หมั่นเฝ้าสังเกตและรู้สึกดี ๆ กับสิ่งที่มีอยู่รอบตัว เช่น เราอาจจะรู้สึกขอบคุณตัวเองและคนใกล้ชิด ที่วันนี้ไม่ได้ติดโควิด ยังมีงานทำ รถก็ไม่ติด ไม่ต้องรีบตื่นเช้ามาก ได้เข้านอนเร็วขึ้นกว่าปกติ ได้อยู่และเล่นกับลูกหลานในครอบครัว แถมยังมีเวลาพักผ่อน เป็นต้น หากฝึกทักษะให้มองเช่นนี้จนเป็นนิสัย จะช่วยให้เรารู้สึกเบาตัวขึ้น มีความสุขได้ง่ายขึ้น
- ใช้โอกาสนี้ ค้นหาความชอบใหม่ ๆ ให้ตัวเอง: หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน พอไม่ได้ออกจากบ้านเป็นเวลานานวันเข้า ต้องทำแต่งาน หรือไม่มีอะไรให้ทำ ก็อาจจะเกิดความเครียดขึ้นมาได้
ปัจจัยของความสุข มักมาจากการที่ได้ทำอะไรที่ตัวเองชอบหรือถนัด เพราะเราสามารถใช้กิจกรรมที่เราชอบ เป็นเครื่องมือช่วยลดความเครียดและสร้างความผ่อนคลายได้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่สามารถทำได้ตอนกักตัวอยู่ที่บ้าน เช่น การเล่นดนตรี การร้องเพลง นั่งสมาธิ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เรียนคอร์สออนไลน์ เป็นต้น หรืออาจจะถือโอกาสนี้ ลุกขึ้นลองสิ่งแปลกใหม่ที่ยังไม่เคยลอง แน่นอนว่าช่วงแรก อาจจะยังฝืน ๆ ต้องฝึกฝนอยู่บ้าง เพราะยังไม่เก่งมากพอ แต่ถ้าได้เริ่มทำจนชำนาญแล้ว จะรู้สึกสนุกขึ้นเอง ใครจะรู้ว่า นี่อาจจะเป็นหนทางสู่การสร้างรายได้ใหม่ก็เป็นได้
รักษาอาการเครียด ในยุค New Normal ด้วย PR9 Telemedicine
Telemedicine คือ บริการปรึกษาแพทย์ผ่านทางออนไลน์ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาผนวกกับการบริการด้านสุขภาพ โดยให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพแบบ real-time ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
“Health Care You Can Trust
เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา”
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะทางจิตใจ เช่น ภาวะเครียดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา ซึ่งทางโรงพยาบาลพระรามเก้า คำนึงถึงผู้รับบริการเป็นสำคัญ โดยมีช่องทางบริการในการรักษาด้วย “PR9 Telemedicine ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนก็ปรึกษาหมอได้” ผ่านทาง Line Official Account โดยที่ผู้รับบริการสามารถปรึกษาปัญหาทางสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผ่าน video call ซึ่งแพทย์จะสามารถวินิจฉัยอาการเบื้องต้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการรักษา ตลอดจนการจัดส่งยาให้แก่ผู้รับบริการถึงบ้าน
“PR9 Telemedicine” จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิตยุค new normal ให้ผู้รับบริการอุ่นใจ มั่นใจ ปลอดภัยจาก COVID-19 และมีสุขภาพที่ดีได้แม้ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
รพ.พระรามเก้า พร้อมดูแลและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทุกปัญหาสุขภาพ สามารถทำนัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ ผ่านช่องทางการติดต่อ
✅ Line Official Account ผ่าน video call คลิก link https://lin.ee/euA1bAc หรือโทร 1270
✅ เปิดให้บริการเวลา 8.00 น. ถึง 16.00 น. ของทุกวัน…เพราะคุณคือคนสำคัญ
สรุป
ในช่วงที่โควิด19 กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่หลาย ๆ คนจะต้องเผชิญกับความเครียด เพราะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือคนทั่วไปก็ตาม ส่งผลกระทบทำให้เรามีสภาวะทางใจที่แย่ลง ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดโรคที่ตามมาจากความเครียด เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ดังนั้น วิธีคิดและวิธีผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้ตัวเองเครียดมากเกินไปจึงสำคัญมาก
อย่างไรก็ดี โควิด 19 มีแนวโน้มที่จะยังอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะฉะนั้น นอกจากวิธีการจัดการความเครียดเบื้องต้นแล้ว เรามาหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับโควิด 19 ให้ได้อย่างไม่ทุกข์มากนักกันจะดีที่สุด เพียงแค่เรายอมรับความเปลี่ยนแปลงไปตามจริง ค่อย ๆ ปรับจนเป็นความเคยชิน ฝึกฝนใช้สติปัญญาของเราในการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มองหาโอกาสที่แฝงอยูในวิกฤติให้เจอในที่สุด