โดย นพ. สมชัย ลีลาศิริวงศ์ และ รศ.พญ.รวีรัตน์ สิชฌรังษี
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19 ในช่วงนี้ ค่อนข้างสร้างความสับสนให้กับประชาชนพอสมควร เราจึงได้รวบรวมข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญ เช่น เราควรรีบไปรับการฉีดหรือไม่ มีโรคประจำตัวฉีดได้ไหม ในประเทศไทยมีตัวไหนให้เลือกบ้าง และมีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงอะไรที่ควรทราบ เพื่อให้ทุกคนสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ภายใต้ข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอ
สารบัญ
- ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วป้องกันการติดเชื้อโควิดจริงหรือไม่
- วัคซีนโควิด 19 ทั้ง 4 ชนิดหลัก
- วัคซีนโควิด 19 ที่น่าสนใจในปัจจุบันมียี่ห้ออะไรบ้าง
- ข้อสังเกตเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในปัจจุบัน
- ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนโควิด 19 ที่พบ
- วัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทยมีกี่ยี่ห้อ ใช้เทคนิคอะไรในการผลิต
- ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด 19 จะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด
- ใครที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 กลุ่มไหนมีโอกาสได้รับก่อน
- คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม หรือขณะให้นมลูกฉีดวัคซีนได้ไหม
- ใครอีกบ้างที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- วิธีการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19
- ได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
- สรุป
ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วป้องกันการติดเชื้อโควิดจริงหรือไม่
หากพูดถึงภาพรวมของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแล้ว จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ และ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่มีอาการ
ตามข่าวที่รายงานถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามักเห็นกันส่วนใหญ่แล้ว เช่น วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพโดยรวมร้อยละ 95 เป็นต้น กรณีนี้จะหมายถึงประสิทธิภาพของการป้องกันโรคที่มีอาการ ในขณะที่การศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันโรคแบบไม่มีอาการนั้นยังบอกได้เพียงแนวโน้ม และส่วนมากยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
จึงสรุปได้ว่า ในปัจจุบัน วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ผู้เข้ารับการฉีดจึงยังอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้อยู่ เพียงแต่วัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ลดโอกาสที่จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตได้
วัคซีนโควิด 19 ทั้ง 4 ชนิดหลัก
วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งหมดในปัจจุบัน มีอยู่ 4 ชนิดหลัก ๆ โดยแบ่งจากเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้แก่
- วัคซีนโควิด 19ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA vaccines) เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า สำหรับกรณีโควิด 19 นี้ วัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ของไวรัสชนิดนี้ แล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมาปัจจุบันมีสองเจ้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ BioNTech/Pfizer และ Moderna
วัคซีนโควิด 19 ชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector vaccines) โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ (ไม่ทำให้เราป่วย) หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ โดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา วัคซีนประเภทนี้สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เนื่องจากเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ
วัคซีนของ Johnson & Johnson และ Oxford – AstraZeneca รวมถึงวัคซีน Sputnik V ก็ใช้เทคนิคดังกล่าวนี้
- วัคซีนโควิด 19 ที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein-based vaccines) จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าไปแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา เทคนิคนี้ใช้กันมานานแล้ว เพราะเป็นเทคนิคที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบชนิดบีบริษัทผลิตวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว เช่น Novavax เป็นต้น
- วัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccines) จะผลิตจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว แต่เพราะต้องทำในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ทำให้ผลิตได้ช้า และมีต้นทุนการผลิตที่สูงสำหรับวัคซีนที่ใช้เทคนิคดังกล่าว ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm
วัคซีนโควิด 19 ที่น่าสนใจในปัจจุบันมียี่ห้ออะไรบ้าง
บริษัทหรือวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติและใช้กันแล้วในหลายประเทศ ได้แก่ Pfizer-BioNTech, Moderna, Gamaleya (Sputnik V), AstraZeneca, Sinovac, และ Sinopharm เป็นต้น โดยมีทั้งชนิดที่ได้รับอนุมัติทะเบียนอย่างสมบูรณ์และชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ใช้กรณีฉุกเฉิน
ตารางแสดงข้อมูลของวัคซีนโควิด 19 แต่ละบริษัท (อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2564)
ข้อสังเกตเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 ในปัจจุบัน
- ประสิทธิภาพป้องกันอาการรุนแรง จำเป็นที่สุด: แน่นอนว่า ใครก็อยากได้วัคซีนโควิด 19 ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการป้องกันโรค แต่ที่มีความสำคัญเร่งด่วนยิ่งกว่า คือการลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การลดโอกาสมีอาการความรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อ เพราะช่วยให้ผู้ป่วยโควิด 19 สามารถแยกกักตัวและดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ฉีดครั้งเดียว สะดวกกว่า: Johnson & Johnson และ CanSino Biologics เป็นวัคซีนที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากไม่ต้องฉีดถึง 2 เข็ม คนไข้ไม่ต้องกลับมาฉีดอีกเป็นเข็มที่สอง
- วัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA: เป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคแบบใหม่ มีจุดเด่นในการผลิตได้ง่ายและเร็ว และยังสะดวกในการปรับปรุงเพื่อรองรับสายพันธุ์ของไวรัสได้อีกด้วย แต่โดยทั่วไปแล้ว วัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA จะมีข้อจำกัดในการจัดเก็บและขนส่งมากกว่าวัคซีนชนิดอื่น เนื่องจาก mRNA มักจะถูกทำลายได้ง่าย จึงต้องเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำ โดยวัคซีนของบริษัท Pfizer สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 ˚C และมีอายุได้ 30 วัน (ข้อมูลอัปเดตวันที่ 17 พฤษภาคม 2564) เช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัท Moderna
- วัคซีนโควิด 19 ที่มีความปลอดภัยต่อผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง:วัคซีนอย่าง Novavax ที่ผลิตขึ้นจากโปรตีนบางส่วนของเชื้อ และวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อที่ตายแล้ว อย่างเช่น Sinovac, Sinopharm, และ Covaxin มีความปลอดภัยต่อผู้รับวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมากกว่า เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- วัคซีนที่มีต้นทุนการผลิตสูง: วัคซีนประเภทเชื้อตายนั้น ต้องมีการเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง (Biosafety level 3) จึงมีต้นทุนสูงกว่าเพื่อน และอาจมีราคาสูงตามไปด้วย เช่น Sinopharm ที่มีการประกาศราคาเบื้องต้นสูงกว่าวัคซีนหลายบริษัท
ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนโควิด 19 ที่พบ
ผลข้างเคียงรุนแรง
มีรายงานพบผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นบ้าง ได้แก่
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
– กรณีของ AstraZeneca: สำนักงานการแพทย์ยุโรป (EMA) ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีน AstraZeneca อาจเชื่อมโยงกันกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภายหลังจากที่พบว่า ผู้ป่วยบางรายในแถบประเทศยุโรปเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และมีรายงานผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ได้เพิ่มภาวะการเกิดลิ่มเลือดทั่วไป แต่เป็นการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ หากเทียบสัดส่วนประชากรที่รับการฉีดแล้ว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่พบได้ต่ำมาก ซึ่งยังไม่พบในประเทศไทยและถ้าหากพบก็สามารถรักษาได้ เมื่อเทียบกับถ้าติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้มากกว่า และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงและโอกาสเสียชีวิตจากโควิด 19 อีกด้วยมีคำแนะนำสำหรับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตัวนี้ว่า หากมีอาการปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ขาบวม ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
– กรณีของ Johnson & Johnson: พบว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ตัวนี้แล้วเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังได้รับวัคซีนของ J&J ไปประมาณ 1 สัปดาห์ (ไม่เกิน 3 สัปดาห์) ทำให้บางประเทศตัดสินใจยุติการใช้วัคซีนของ J&J ไป
- มีผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ อีกหรือไม่?
– AstraZeneca: นอกจากประเด็นเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตันแล้ว มีรายงานว่า วัคซีน AstraZeneca ทำให้เกิดผลข้างเคียงระดับรุนแรงลักษณะอื่น ๆ ได้ เช่น เป็นไข้สูงกว่า 40 ˚C และพบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการไขสันหลังอักเสบหลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง
– BioNTech/Pfizer: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 4.7 คน และในสหรัฐอเมริกา ยังไม่พบผู้ที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต- Moderna: รายงานกล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าว 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงประมาณ 2.5 คน และตอนนี้ ในสหรัฐอเมริกายังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการฉีดวัคซีน
– Sinovac, Novavax และ Sputnik V: จากการศึกษาในเฟสที่ 3 ยังไม่พบรายงานว่ามีผู้ที่เกิดอาการข้างเคียงร้ายแรง
แม้จะพบว่าวัคซีนโควิด 19 หลายตัวอาจพบกรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับการฉีดทั้งหมด และแม้ว่าจะมีรายงานเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่หลายหน่วยงานด้านสาธารณสุขระดับโลก ยังคงสนับสนุนให้เดินหน้าฉีดวัคซีนดังกล่าวอยู่ เพราะเมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การให้ฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์มากกว่าการระงับใช้ไปเลย
อาการข้างเคียงแบบไม่รุนแรงหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่พบได้บ่อย
การฉีดวัคซีนโควิด 19 พบว่ามีอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อาการปวด บวม แดง คัน หรือช้ำ ตรงจุดที่ฉีดยา
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว ปวดหัวเล็กน้อย
- มีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและตามข้อ
- มีอาการคลื่นไส้
กรณีของวัคซีนโควิด 19 ประเภท mRNA พบว่า เข็มที่ 2 มีแนวโน้มอาการข้างเคียงรุนแรงมากกว่าเข็มแรก แตกต่างจากวัคซีนประเภท viral vector ที่เข็มที่สองมักจะมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าเข็มแรก
ในประเทศไทยโดยภาพรวมแล้ว พบอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้มีรายงานผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinovac แล้วมีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ มีอาการชาหรืออ่อนแรงครึ่งตัว ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทแบบชั่วคราว อาจเกิดจากร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย หรือกลัว
แต่พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ในสัดส่วนที่น้อยมาก และเป็นผลข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรง โดยส่วนมากสามารถหายได้เองหลังฉีดวัคซีนประมาณ 1 – 3 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์
และจากข้อมูลล่าสุด หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มีการรายงานอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนโควิด 19 (รวมทุกชนิดทั้งชนิด mRNA, Viral vector และชนิดเชื้อตายแล้ว) พบว่าผู้เข้ารับวัคซีนบางรายเกิดตุ่มน้ำใส แสบ คัน ปวดแสบปวดร้อน โดยขึ้นตามบริเวณร่างกายคล้ายจะเป็นงูสวัส
เบื้องต้นนักวิชาการตั้งสมมติฐานว่าอาจเกิดจากวัคซีนทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันแล้วกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคงูสวัสขึ้น ซึ่งในประเทศไทยนั้น อยู่ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลของอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นนี้
อาการข้างเคียงแบบไหน ห้ามฉีดเข็มที่ 2 ต่อ
มีข้อแนะนำว่า ห้ามรับการฉีดเข็มที่ 2 ต่อ หากมีอาการแพ้วัคซีนโควิด 19 ทันทีหลังได้รับการฉีด ดังนี้
- คัน เป็นผื่นแดง หรืออาการลมพิษ
- ปาก ลิ้น หน้า หรือคอบวม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เวียนศีรษะ วูบ ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจติดขัด หอบเหนื่อย คัดจมูก
- พูดลำบาก
วัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทยมีกี่ยี่ห้อ ใช้เทคนิคอะไรในการผลิต
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณารับวัคซีนสำหรับประเทศไทยนั้น จะเน้นพิจารณารับวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง รวมถึงมีการอนุมัติใช้แล้วในหลากหลายประเทศและได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลกแล้ว
สำหรับวัคซีนโควิด 19 ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย (อัปเดตล่าสุด 21 เมษายน 2564) ได้แก่ วัคซีนโควิด 19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และ วัคซีนโควิด 19 ซิโนแวค (Sinovac)
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca) เป็นวัคซีนประเภท Viral Vector สำหรับฉีดในแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (แต่ในประเทศไทยใช้ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์ (ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมากฉีดวัคซีนดังกล่าว)
- วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย สำหรับฉีดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 59 ปี โดยจะฉีดบริเวณต้นแขนทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดให้ฉีดแต่ละเข็มห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ ยกเว้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาดรุนแรง ให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์
ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเร่งติดต่อบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นเพิ่มเติม และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจา ซึ่งเมื่อไรที่เราสามารถสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาได้หลากหลายยี่ห้อมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการรับการฉีดวัคซีนให้กับเรามากขึ้น
ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด 19 จะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด
ปัจจุบัน เรายังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส ทุกคนที่เข้ารับการฉีดวัคซีน ยังมีโอกาสติดเชื้อได้จากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัส หรือบางคนอาจจะยังไม่ทันที่วัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายได้ก็มาสัมผัสเชื้อเสียก่อน ก็มีโอกาสติดเหมือนกัน
แต่เบื้องต้น การศึกษาของสถาบันวิจัยด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ลา จอลลา (La Jolla Institute for Immunology) พบว่าวัคซีนสามารถช่วยป้องกันโรคได้อีกอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน นอกจากนี้ ยังไม่ทราบว่าเกิดภูมิคุ้มกันได้อีกนานถึงเมื่อไร แต่ก็มีข้อแนะนำให้ฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 เข็ม (หรือตามโดสที่แนะนำ) เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ใครที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 กลุ่มไหนมีโอกาสได้รับก่อน
เนื่องจากวัคซีนในไทยตอนนี้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่ากลุ่มใดควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน เมื่อพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา มีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจ คือ
- เมื่อผู้ป่วยอายุเพิ่มขึ้น จะมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต มักมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรคขึ้นไป เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไตเรื้อรัง และโรคมะเร็ง เป็นต้น
ประกอบกับจุดประสงค์หลักที่ต้องการลดความรุนแรงของอาการ ลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มเสี่ยง และลดอัตราการเสียชีวิต ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิได้รับวัคซีนก่อน ตามมติอนุคณะกรรมการอำนวยการการใช้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แก่
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่มีภาวะเรื้อรังต่าง ๆ หรือโรคในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
2.1 โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
2.2 โรคหัวใจและหลอดเลือด
2.3 โรคไตเรื้อรัง
2.4 โรคหลอดเลือดสมอง
2.5 โรคมะเร็งทุกชนิด
2.6 โรคเบาหวาน
2.7 โรคอ้วน (อัปเดต 1 พฤษภาคม 2564) - ผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ
ทั้งนี้ หากวัคซีนมีปริมาณมากขึ้นแล้ว จะพิจารณาฉีดให้กับประชาชนทั่วไป
คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม หรือขณะให้นมลูกฉีดวัคซีนได้ไหม
คุณผู้หญิงหลายท่านที่กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก น่าจะกังวลใจไม่น้อย ว่าตัวเองและลูกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 แต่ครั้นจะไปรับวัคซีน ก็ไม่แน่ใจอีกว่าจะมีผลกระทบอะไรกับลูกน้อยหรือไม่
หากพบว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีโอกาสไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ แนะนำให้ปรึกษาสูตินารีแพทย์ที่ดูแลก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยมีเกณฑ์ว่าต้องเป็นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ จะมีประโยชน์มากกว่า และควรฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายเพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง แนะนำว่ายังไม่จำเป็นต้องไปฉีดวัคซีนโควิด 19 และควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินระหว่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นหากติดเชื้อ กับอาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีนก่อนตัดสินใจ
ใครอีกบ้างที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด 19
เด็ก: สำหรับเด็ก ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนในปัจจุบันได้รับรองให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ยกเว้นวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ที่รองรับให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป (ข้อมูลอัปเดตวันที่ 10 พฤษภาคม 2564) อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นเด็ก มักจะมีอาการไม่รุนแรง
กลุ่มที่ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาการยังไม่คงที่ และอาการเข้าขั้นวิกฤต
- ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง
- ผู้ที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (warfarin)
ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่า ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพื่อให้แพทย์พิจารณาให้ฉีดวัคซีนเป็นรายบุคคลตามความจำเป็นเร่งด่วนและความเหมาะสม
วิธีการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19
หลังจากที่เราทำความรู้จักกับวัคซีนแต่ละชนิด รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ครบถ้วนแล้ว หากพิจารณาว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มที่ควรรีบเข้ารับการฉีด ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อรอรับการฉีดวัคซีนได้เลย
สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
1. รพ.ที่ท่านรักษาอยู่/ สถานพยาบาลใกล้บ้าน
2. รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต)/ อสม.
3. เพิ่มเพื่อนไลน์ “หมอพร้อม”
เริ่มลงทะเบียน 1 พฤษภาคม 2564 สำหรับ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง*
*โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
เริ่มลงทะเบียน 1 กรกฎาคม 2564 สำหรับ ประชาชนทั่วไป อายุ 18-59 ปี
เมื่อพร้อมเข้ารับวัคซีน ให้ใช้หมอพร้อม
“หมอพร้อม” เป็นระบบที่มีการเชื่อมต่อโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่รับฉีดวัคซีนโควิด 19 กว่า 1,500 แห่ง ซึ่งสามารถแสดงผลได้แบบ real-time นอกจากนี้ ยังมีระบบจำแนกประชาชนโดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามความเสี่ยง เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการรับวัคซีนของประชาชนทั่วประเทศ
หากเป็นกลุ่มเป้าหมายการรับวัคซีนกลุ่มแรก ระบบของเราก็จะถูกบันทึกไว้ในระบบหมอพร้อมอยู่แล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เราสามารถเข้าไปเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการฉีดวัคซีนได้เลย ซึ่งหมอพร้อมจะมีระบบนัดหมายและแจ้งเตือนให้เข้ารับการฉีด โดยเฉพาะการแจ้งเตือนในกรณีที่ต้องฉีด 2 ครั้ง
วิธีการลงทะเบียนหมอพร้อม
อัปเดตข้อมูล วันที่ 6 พฤษภาคม 2564
- เข้าไปที่ LINE Official Account ในชื่อบัญชี “หมอพร้อม” หรือกดได้จาก ลิงค์นี้
- เพิ่มเพื่อนในไลน์
- ลงทะเบียน โดยกรอกข้อมูลส่วนตัวตรวจสอบข้อมูล และกด “บันทึก” จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอลงทะเบียนสำเร็จ
- (กรณีลงทะเบียนให้สมาชิกในครอบครัว) ไปที่หน้าต่าง “แก้ไขข้อมูลส่วนตัวและบริการอื่น ๆ”แล้วกด “เพิ่มบุคคลอื่น” และ “ระบุความสัมพันธ์” และกรอกข้อมูลส่วนตัว และกด “บันทึก” จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอลงทะเบียนสำเร็จ
- จองวัคซีนโดยกดเมนู “จองฉีดวัคซีนโควิด 19” กด “จอง” กด “รับสิทธิ์” และทำแบบคัดกรองก่อนรับวัคซีน กด “บันทึก” จากนั้นตรวจสอบแบบคัดกรอง และกด “ยินยอม” และกดเลือกจังหวัด โรงพยาบาล วันที่ และเวลาที่ต้องการไปฉีดวัคซีน กด “ยืนยัน” จากนั้นระบบจะแสดงหน้าจอจองวัคซีนสำเร็จ
- สามารถค้นหาหน่วยงานที่ให้บริการวัคซีนได้หากมีข้อสงสัยหรือลงทะเบียนไม่ได้ ลองหาคำตอบเบื้องต้นที่นี่ >> คลิกศึกษาวิธีใช้งานหมอพร้อมได้ที่ https://หมอพร้อม.com
ข้อมูลที่ต้องแจ้ง ก่อนรับการฉีดวัคซีน
- ประวัติแพ้ยา วัคซีน อาหาร และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต
- กรณีมีไข้เกิน 38 ˚C ต้องแจ้งทุกครั้ง
- มีการใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
- มีรอยช้ำ หรือรอยเลือดเป็นจ้ำ ๆ หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ
- เป็นผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออยู่ระหว่างใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
- มีอาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรก (ทุกกรณี)
- วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์อยู่
- อยู่ในช่วงให้นมบุตร
- มีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น มีไข้เล็กน้อย
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน
หากมีประวัติแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน หรือมีอาการแพ้รุนแรงหลังฉีดวัคซีนเข็มแรก ห้ามเข้ารับการฉีดวัคซีน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ศึกษาการเตรียมตัวฉีดวัคซีนโควิด 19 เพิ่มเติม > คลิก
ได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
รอ 30 นาทีหลังฉีด อย่าพึ่งไปไหน: เนื่องจากการแพ้รุนแรงเกือบทุกกรณี มักเกิดขึ้นภายใน 15-30 นาทีหลังจากได้รับวัคซีน จึงมีข้อปฏิบัติว่า จะต้องนั่งรอภายในสถานที่ฉีด ประมาณ 30 นาที หลังการเข้ารับวัคซีน
แม้ได้รับวัคซีนแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตัวเช่นเดิม: ผู้ได้รับวัคซีนแล้ว ควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด 19 ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป ได้แก่ การล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ การรักษาระยะห่าง การสวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่ไปยังพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด
เข้ารับการฉีดให้ครบตามโดสที่แนะนำ เคยฉีดยี่ห้อไหน ให้ฉีดยี่ห้อนั้น: เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาผลข้างเคียงหรือประสิทธิภาพของการรับวัคซีนต่างชนิดกัน และมีข้อแนะนำให้ฉีดให้ครบถ้วนตามโดสที่กำหนดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรค
สรุป
หากพิจารณาจากสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ข้อมูลประสิทธิภาพและผลข้างเคียงต่าง ๆ ของการฉีดวัคซีนอาจจะยังไม่แน่ชัดหรือสรุปไม่ได้ 100% แต่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก ก็ยังแนะนำให้เข้ารับการฉีด เนื่องจากเปรียบเทียบประโยชน์ที่จะได้รับแล้วสูงกว่า
สำหรับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สมควรรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยทันที เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ลดโอกาสการเสียชีวิต และลดโอกาสที่จะต้องเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
แต่สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (หรือวางแผนจะตั้งครรภ์) ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง และผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อซื้อวัคซีนของบริษัทอื่น ๆ นอกเหนือจาก Sinovac และ AstraZeneca ซึ่งจะทำให้เรามีทางเลือกในการฉีดวัคซีนหลากหลายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งก็เป็นความหวังถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่จะดีขึ้นในไม่ช้า ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด สุดท้ายนี้ทางโรงพยาบาลพระราม 9 ขอให้กำลังใจทุกท่านให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้อย่างราบรื่นด้วยดี