พิษไซยาไนด์ สารพิษร้ายแรงทำให้เสียชีวิตภายในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมง ถ้าสามารถวินิจฉัยได้ สามารถช่วยชีวิตได้ทันเนื่องจากมียาแก้พิษ (Antidote) โดยเฉพาะ
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คือ ไฟไหม้บ้าน หรือไฟไหม้รถ เผาวัสดุที่มีคาร์บอนและไนโตรเจน เช่น พลาสติก เมลานีนเรซิน ไนล่อน ไหม ขนสัตว์ และยางสังเคราะห์ หรือในโรงอุตสาหกรรม เช่น การชุบโลหะ พลาสติก ยาง เหมืองแร่ ยาฆ่าแมลง รวมถึงพบในบุหรี่ อาหารดิบ เช่นมันสำปะหลัง หรือ bitter almond (ส่วน sweet almond ที่นิยมกินไม่มีสารไซยาไนด์)
พิษของไซยาไนด์
ยับยั้งการใช้พลังงานจากออกซิเจนของเซลล์ในร่างกาย จึงมีอาการคล้ายภาวะขาดออกซิเจนของอวัยวะต่างๆ และเพิ่มการเผาผลาญแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดสารพิษทำให้เลือดเป็นกรด อวัยวะที่ใช้พลังงานมากเช่นสมองจะได้รับผลกระทบ และมีอาการเป็นอันดับแรก คือ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย สับสน ซึม หมดสติหรือชัก และระบบหัวใจการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จึงเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว อาการเริ่มจากใจสั่น ความดันโลหิตสูง ต่อมาหัวใจเต้นช้าและความดันตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ การหายใจช่วงแรกจะเร็ว แล้วช้าลงจนหยุดหายใจ อาจมีอาเจียนและปวดท้อง อาการโดยรวมคล้ายคนถูกพิษคาร์บอนมอนนอกไซด์จากการรมควันท่อไอเสียในรถ หากรอดชีวิตจากพิษไซยาไนด์อาจมีผลต่อเนื่อง มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสัน เนื่องจากสมองส่วน basal ganglion ถูกทำลายถาวร หากไม่รอดชีวิต การตรวจชันสูตรศพสามารถตรวจพบสารไซยาไนด์ในเลือดเพื่อบอกสาเหตุของการเสียชีวิตได้
การรับพิษ
ได้ทั้งการหายใจ และดูดซึมทางผิวหนัง เยื่อบุ และทางเดินอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว อาการเกิดภายในวินาทีหากได้รับทางการหายใจ ส่วนการกินหรือทางผิวหนังมีอาการหลังสัมผัสเป็นนาทีถึงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง
การแก้พิษ
ทำได้โดยให้ยา thiosulfate ร่างกายจะเปลี่ยนไซยาไนด์เป็น thiocyanate ซึ่งไม่เป็นพิษและขับออกทางปัสสาวะได้ หรือให้สาร hydrocobalamine ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินบี 12 เพื่อเปลี่ยนเป็น cyanocobalamine ขับออกทางปัสสาวะเช่นกัน และบางส่วนขับออกทางการหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะ การช่วยคนถูกพิษไซยาไนด์จึงห้ามช่วยหายใจแบบ mouth-to-mouth เพราะอาจได้รับพิษด้วย
การตรวจร่างกายผู้ที่สงสัยว่าถูกพิษไซยาไนด์
ผู้ได้รับสารพิษจะมีลักษณะพิเศษคือผิวแดง (cherry-red) เพราะออกซิเจนในหลอดเลือดดำสูง หรือ ผิวม่วงคล้ำได้ ลมหายใจกลิ่นอัลมอนด์หากเกิดพิษจากการสูดดมสาร hydrogen cyanide
การช่วยเหลือเบื้องต้น
หากเกิดจากการสัมผัส ให้ถอดชุดออก ล้างบริเวณสัมผัสด้วยน้ำและสบู่ โดยผู้ช่วยเหลือต้องสวมชุดและหน้ากากเพื่อป้องกันตนเอง ไม่แนะนำให้ล้วงคออาเจียนเนื่องจากไซยาไนด์ดูดซึมอย่างรวดเร็ว
การรักษา
นอกเหนือจากการรักษามาตรฐานผู้ถูกพิษแล้ว รวมถึงการให้ activated charcoal หากได้รับทางการกิน สามารถให้ยาแก้พิษ (Antidote) ได้เลยโดยไม่รอผลตรวจระดับไซยาไนด์ในเลือด ซึ่งคือยาฉีด Hydroxocobalamin คู่กับยาฉีด Sodium thiosulfate เป็นตัวเลือกแรก และยาฉีด Sodium nitrite เป็นตัวเลือกที่สองโดยยังมีโอกาสรอดชีวิตน้อย
หลังได้ยา hydroxocobalamin มีผลข้างเคียง เปลี่ยนสีผิวหนัง เลือด และปัสสาวะเป็นสีแดง 2-3 วัน และการให้ sodium nitrite ทำให้เกิด methemoglobin ในร่างกายเพื่อแย่งจับกับตัวออกฤทธิ์ของสารไซนาไนด์ มีพิษเช่นกันแต่น้อยกว่า ทำให้ความดันโลหิตตก ชีพจรเร็ว ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ เรียกว่าใช้พิษต้านพิษก็ไม่ผิดนัก