เมื่อพูดถึง “ฝน” ทุกคนก็จะนึกถึงผลกระทบที่ตามมาอีกหลายอย่าง น้ำท่วมขัง เป็นแหล่งกำเนิดชั้นดีที่ก่อให้เกิด ยุง เพราะยุงเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานาน สามารถทำให้เกิดโรคได้ในทุกเพศทุกวัยและพบได้บ่อยในเด็ก
โรคไข้เลือดออก มักมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน โดยในปี พ.ศ. 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทยเกือบ 40,000 ราย โดยพบในวัยทำงานมากที่สุด คือช่วงอายุ 25-34 ปี ซึ่งอาการเเรกเริ่มคล้ายกับโรคโควิด 19 เเละไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นบางครั้งทำให้เกิดสับสนว่าอาการเป็นไข้นั้นใช่อาการของโรคไข้เลือดออกหรือไม่ และในปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการเเละหากมีอาการรุนเเรงก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
สารบัญ
โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever)
โรคไข้เลือดออก คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มียุงเป็นพาหะนำโรค โดยชื่อของโรคมาจากอาการหลังมีการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้สูง และทำให้ร่างกายมีภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ทำให้เลือดออกได้ง่ายทั้งในอวัยวะภายใน ตามผิวหนัง ตามเหงือกและไรฟัน ซึ่งหากอาการรุนแรงจนมีเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้
สาเหตุของไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ที่มีพาหะนำโรคคือ “ยุงลาย” นำเชื้อไวรัสจากคนไปสู่คน โดยเฉพาะยุงลายตัวเมียที่ชอบหากินในเวลากลางวัน โดยไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งหากเคยได้รับการติดเชื้อในครั้งแรกแล้ว ร่างกายจะมีการจดจำเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่เคยเป็นเอาไว้ เเละหากได้รับเชื้อคนละสายพันธุ์กับการเป็นไข้เลือดออกในครั้งที่สอง ร่างกายจะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ทำให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อาการของไข้เลือดออก
โดยทั่วไปไข้เลือดออกจะมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย โดยจะพบอาการเบื้องต้นดังนี้
- มีไข้สูง อาจสูงได้ถึง 40 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะเเละปวดรอบดวงตา
- ปวดตามข้อต่อเเละกล้ามเนื้อ ซึ่งมีอาการปวดรุนเเรงมากคล้ายกระดูกหัก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีผื่นแดง เเละอาจมีอาการคัน
แต่ในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรงอาจพบอาการ เช่น
- ปวดท้องรุนเเรง
- หายใจ หอบเหนื่อย
- มีอาการอาเจียนต่อเนื่องรุนเเรง
- อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด
- อ่อนเเรง มีอาการซีด มือเท้าเย็น
- มีอาการกระหายน้ำอย่างมาก
- ชีพจรเบาลง หรือมีอาการช็อก
หากมีอาการดังกล่าวควรรีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
ไข้เลือดออกมีระยะฟักตัวกี่วัน
เชื้อไข้เลือดออกมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เเล้วหลังจากนั้นเมื่อยุงไปกัดคน เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการแสดง 4-10 วันภายหลังการรับเชื้อ หรืออาจเริ่มมีอาการรุนเเรงในช่วง 2-7 วันหลังไข้ลดลง ซึ่งในระยะอาการรุนแรงหลังจากที่ไข้ลดลงนี้ ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย ดังนั้นควรหมั่นสังเกตอาการ และหลีกเลี่ยงปัจจัยความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย และหากอาการรุนแรงต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
ไข้เลือดออกติดต่อได้หรือไม่?
ไข้เลือดออกสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยมียุงเป็นพาหะ คือ เมื่อยุงกัดผู้ที่มีเชื้อไข้เลือดออกก็จะรับเชื้อไข้เลือดออกมา เเล้วก็จะสามารถเเพร่เชื้อให้คนที่ยุงกัดต่อ ๆ ไปได้
โรคไข้เลือดออกวินิจฉัยอย่างไร?
- ไข้เลือดออกสามารถตรวจวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย เเละอาการแสดงโดยเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ตรวจวินิจฉัยโดยการเจาะเลือด เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เเละเกล็ดเลือด ในกรณีที่ได้รับเชื้อไข้เลือดออกจะมีปริมาณเกล็ดเลือดลดต่ำลง
- การวินิจฉัยโดยตรวจหาเชื้อไข้เลือดออก (NS-1 antigen) หรือการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้เลือดออก(dDengue IgM)
โรคไข้เลือดออก มีเกล็ดเลือดเท่าไหร่ที่อยู่ในภาวะอันตราย
ไข้เลือดออกจะทำให้เกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว หากลดลงต่ำกว่า 100,000 ตัว/ลบ.มม. ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในอวัยวะภายใน เเละอาจมีอาการรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ไข้เลือดออกรักษาอย่างไร?
ไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาเฉพาะ โดยทั่วไปจะรักษาตามอาการร่วมกับการให้ยาลดไข้เเละอาการปวด โดยใช้ยา พาราเซตามอล เเละหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เเละ ยาเเอสไพริน (aspirin) เนื่องจากสามารถทำให้มีความเสี่ยงให้เลือดออกมากขึ้น เเละทำให้อาการแย่ลง ในเด็กเล็กผู้ปกครองควรเช็ดตัวลดไข้ร่วมด้วย เพื่อป้องกันการชักในเด็ก
หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรรีบพบเเพทย์เพื่อตรวจร่างกาย เเละวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเเพทย์จะเจาะเลือดเพื่อติดตามดูปริมาณเกล็ดเลือดอย่างต่อเนื่อง เพราะหากเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 โดยติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งเเรก อาการจะรุนเเรงเเละเกล็ดเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีเลือดออกบริเวณอวัยวะภายใน และอาจรุนเเรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
เป็นไข้เลือดออกกี่วันหาย?
ไข้เลือดออกสามารถหายได้เองภายใน 7-14 วัน ในกรณีที่ไม่มีอาการรุนเเรงเเละเป็นการติดเชื้อครั้งเเรก
เเต่จำเป็นต้องสังเกตอาการอย่างละเอียดภายหลังไข้ลดลง เพราะอาจพบอาการรุนเเรงขึ้นได้
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
- การป้องกันที่ดีที่สุด คือป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด โดยต้องกำจัดพาหะนำโรคด้วยการคว่ำภาชนะหรือปิดฝาภาชนะต่าง ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่เเละเเพร่พันธุ์ได้
- ป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด ควรใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด นอนกางมุ้ง หรือใช้ยาทากันยุง
- การป้องกันโดยการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาเเล้ว เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เเละช่วยลดอาการไม่ให้รุนเเรงหากติดเชื้อในครั้งที่สอง โดยสามารถฉีดได้ในผู้ที่อายุ 9-45 ปี ซึ่งในเข้าการฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุดของวัคซีน
สรุป
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มักพบการเเพร่ระบาดในฤดูฝน โดยปกติผู้ป่วยมักมีอาการไม่รุนเเรง เเต่จะมีอาการรุนเเรงในกรณีติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งเเรก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด เเละการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยวัคซีนจะช่วยลดการติดเชื้อซ้ำเเละลดอาการรุนเเรง
หากมีอาการที่เข้าได้ หรือสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกควรรีบพบเเพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างละเอียด เนื่องจากอาจมีอาการรุนเเรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้