ไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทยที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคพบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากไข้เลือดออกมากถึง 33 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล ทำให้เราควรจะตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้ เพราะแม้จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยและผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรงแต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการรุนแรงจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
ไข้เลือดออกเกิดจากอะไร?
โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “เชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus; DENV)” ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Dengue 1 (DEN1), Dengue 2 (DEN2), Dengue 3 (DEN3), และ Dengue 4 (DEN4) ซึ่งหากมีการติดเชื้อสายพันธ์ุใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว ร่างกายจะมีภูมิกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ไปตลอดชีวิต แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่น ๆ ดังนั้นจึงสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ และป่วยเป็นไข้เลือดออกได้หากมีการติดเชื้อภายหลัง
ใครที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกได้บ้าง?
สามารถพบการติดเชื้อและป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ทุกช่วงอายุคือตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีอาการป่วยมีความแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ที่มีการติดเชื้อ และความแข็งแรงและสุขภาพร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อ โดยจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกที่พบมากที่สุดจะเป็นเด็กอายุ 5-14 ปี แต่จากข้อมูลการป่วยไข้เลือดออกในช่วง 20 ปีพบว่าแนวโน้มการเกิดโรคในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ กลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีสูงขึ้น
การติดเชื้อไข้เลือดออกในผู้ใหญ่มากขึ้นและอันตรายมากขึ้น
อย่างที่กล่าวข้างต้น ในช่วง 20 ปีหลังมานี้แนวโน้มการเกิดโรคในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มีมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยเด็กในกลุ่มอายุน้อยกว่า 15 ปี มีแนวโน้มลดลง และอัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่มีมากกว่าในเด็ก โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่อายุ 25 ปีขึ้นไป มากกว่าในเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-24 ปี ถึง 2-3 เท่า ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้ใหญ่มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น ได้แก่ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และอื่น ๆ เช่น
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันสูง
- โรคเกี่ยวกับตับและไต
- ภาวะติดสุราเรื้อรัง
- หอบหืด
- ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- การไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลช้า
- การซื้อยารับประทานเอง เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดประเภท NSAIDs ซึ่งทำให้มีเลือดออกรุนแรง
อาการของไข้เลือดออก
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ โดยการถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด คนเราสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้งในสายพันธุ์ที่ต่างจากครั้งแรก ซึ่งประเทศไทยพบการระบาดทั้ง 4 สายพันธุ์หมุนเวียนสลับกันไปแล้วแต่ช่วงเวลา แต่สายพันธุ์ ที่ 1 และ 2 เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การติดเชื้อครั้งแรกส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่การติดเชื้อครั้งที่สองที่เป็นการติดเชื้อจากสายพันธุ์ที่ต่างไปจากการติดเชื้อครั้งแรกอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น
อาการของไข้เลือดออก ในช่วงเริ่มต้น
- ไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงเกิน 38.5 องศา
- ปวดศีรษะ
- ปวดกระบอกตา
- ปวดเมื่อยตัว
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อาจมีจุดเลือดออกตามแขนขา ลำตัว มีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน
อาการของไข้เลือดออกในวันที่ 3-7 ของการป่วย
อาจมีอาการรุนแรง ได้แก่
- ภาวะช็อก
- เลือดออกผิดปกติรุนแรง
- อาจเสียชีวิตได้
@praram9hospital มีแต่ยุงเท่านั้นที่รู้ว่าเราอร่อยแค่ไหน แต่อร่อยมากแค่ไหนก็ระวังเป็นไข้เลือดออกนะ 😱🦟 #ไข้เลือดออก #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital ♬ Pretty and fun Marimba song - Azuline
การป้องกันไข้เลือดออก
การป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด รวมถึงการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณรอบบ้าน
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกและลดความรุนแรงของโรคได้ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อเดงกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์
วัคซีนชนิดแรก (Dengvaxia®) เริ่มมีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2560 เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ป้องกันสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 ได้ดี และป้องกันสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 ได้ปานกลาง มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกโดยรวมได้ 65% และป้องกันการนอน รพ.จากไข้เลือดออกได้ 80% โดยฉีดจำนวน 3 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6 เดือน สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี ที่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น เนื่องจากพบว่าหากฉีดในคนที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น
วัคซีนไข้เลือดออกชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใหม่ (QDenga®) เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้ในประเทศไทยได้ในปี 2566 ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ 1 และ 2 ได้ดี
ข้อมูลของวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่
วัคซีนไข้เลือดออกชนิดที่ 2 หรือวัคซีนชื่อ QDenga® นี้ มีการใช้แล้วใน 16 ประเทศทั่วโลก เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 ได้ดี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากและเป็นส่วนใหญ่ของประเทศไทย
ข้อดีของวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่
- มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกโดยรวมได้ 80%
- ป้องกันการนอน รพ.จากไข้เลือดออกได้ถึง 90%
- สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 4-60 ปี
- สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน
- ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันไข้เลือดออกก่อนได้รับวัคซีน
วัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่ ฉีดอย่างไร?
วัคซีนชนิดใหม่นี้ ต้องฉีดจำนวน 2 เข็ม เข้าชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous) เว้นระยะห่างจากเข็มแรก 3 เดือน
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วย HIV เป็นต้น
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร โดยแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์คุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง
ความปลอดภัยและผลข้างเคียงของวัคซีน
วัคซีนมีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงส่วนใหญ่เป็นอาการที่พบทั่วไปหลังการได้รับวัคซีน ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 2 วันหลังฉีด และหายได้เองภายใน 3-4 วัน และเมื่อติดตามผลหลังฉีดวัคซีนไป 4.5 ปี ก็ไม่พบการป่วยด้วยไข้เลือดออกที่อาการรุนแรงมากขึ้นในผู้ที่ฉีดวัคซีนโดยไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยอาการข้างเคียงที่พบได้ ได้แก่
- อาการปวดบวมแดงร้อนเฉพาะบริเวณที่ฉีด
- อาการไข้ ปวดเมื่อยตัว
- ปวดศีรษะ
ประสิทธิภาพระยะยาวเป็นอย่างไร? ต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่?
เมื่อติดตามผลหลังฉีดวัคซีนไปในระยะเวลา 4.5 ปี พบว่าประสิทธิภาพลดลงเหลือ 61% สำหรับการป้องกันไข้เลือดออก แต่ยังสามารถป้องกันการนอน รพ.จากไข้เลือดออกได้สูง คืออยู่ที่ 80%
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพหลังจาก 4.5 ปี และยังไม่มีคำแนะนำการฉีดกระตุ้น ต้องรอข้อมูลผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วฉีดได้หรือไม่ ควรฉีดหลังจากหายจากไข้เลือดออกนานเท่าไหร่?
เนื่องจากการติดเชื้อไข้เลือดออกในครั้งที่ 2 มักมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วจึงเป็นกลุ่มที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันความรุนแรงในการติดเชื้อครั้งต่อไป โดยฉีดหลังจากหายจากไข้เลือดออกแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
เคยฉีดวัคซีนไข้เลือดออกชนิดเดิมมาแล้ว สามารถฉีดวัคซีนชนิดใหม่นี้ได้หรือไม่?
ยังไม่มีข้อมูลของการฉีดวัคซีนชนิดใหม่ในคนที่เคยฉีดวัคซีนชนิดเดิมมาแล้ว ทั้งในผู้ที่เคยฉีดวัคซีนครบหรือยังไม่ครบและต้องการมาฉีดต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย
สรุป
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีการระบาดในประเทศไทยทุกปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ซึ่งจากสถิติมีรายงานพบผู้ป่วยได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ และในระยะหลังพบสถิติการป่วยในผู้ใหญ่มากขึ้นอย่างมากซึ่งบางส่วนมีอาการรุนแรงจนทำให้เสียชีวิต
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนสำหรับการป้องกันไข้เลือดออก และเมื่อปลายปี 2566 นี้เพิ่งมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนไข้เลือดออกชนิดใหม่ที่สามารถป้องกันไข้เลือดออกสายพันธุ์ 1 และ 2 ได้ดีซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบบ่อยในประเทศไทย สามารถป้องกันการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้สูงถึง 90% และสามารถฉีดได้ทั้งในผู้ที่เคยเป็นและยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันไข้เลือดออก อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย