“เบาหวาน” โรคที่เราทุกคนเคยได้ยินชื่อและคุ้นเคยกับชื่อโรคนี้ดี จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 1.5 แสนคน คน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เราทุกคนก็อาจจะมีญาติหรือมีคนรู้จักที่กำลังเป็นโรคเบาหวาน
ข้อมูลสถิติที่น่าเป็นกังวล คือเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2560 ถึงปี 2564 พบว่า คนไทยป่วยเป็นเบาหวานมากขึ้น เฉลี่ยปีละ 300,000 คน และพบการป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยจุดที่น่ากังวลคือ การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเบาหวานในวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว
โรคเบาหวานคืออะไร?
เบาหวาน คือ โรคที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ชื่อ “เบาหวาน” มาจากคำว่า “เบา” เป็นคำเก่าที่หมายถึง ปัสสาวะ รวมกับคำว่า “หวาน” เนื่องมาจากโรคนี้จะทำให้มีน้ำตาลรั่วออกมาในปัสสาวะ
สาเหตุของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานและต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่หลั่งฮอร์โมน “อินซูลิน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือมีภาวะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายมีปัญหาการเผาผลาญน้ำตาล
ฮอร์โมนอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่สำคัญ ทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อของร่างกาย เมื่อมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถเก็บน้ำตาลออกจากเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อได้ ทำให้ระดับน้ำตาลค้างสูงอยู่ในเลือด
โรคเบาหวานมีกี่ชนิด?
โรคเบาหวานแบ่งตามสาเหตุการเกิดโรคได้เป็น 4 ชนิด คือ
- เบาหวานชนิดที่ 1: เกิดจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน เนื่องจากโรคแพ้ภูมิตนเอง ทำลายเบตาเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน
- เบาหวานชนิดที่ 2: เป็นโรคเบาหวานที่ผู้ป่วยมีภาวะฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ รวมกับภาวะที่ร่างกายดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยลง ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น โดยผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดนี้มีมากกว่า 90% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด
- เบาหวานจากสาเหตุอื่น ๆ: เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เบาหวานชนิด MODY เบาหวานจากตับอ่อนอักเสบ เบาหวานที่เกิดจากยา เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะเบาหวานที่วินิจฉัยในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน
เบาหวานทั้ง 4 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้น มีกลไกการเกิดโรคที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกันตามไปด้วย โดยในที่นี้จะกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ซึ่งพบได้บ่อย
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่
- พันธุกรรม
- ความผิดปกติของยีนบางตัว
- ประวัติภาวะแพ้ภูมิตนเอง
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2
ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่
- ความอ้วน ไขมันพอกตับ
- อายุที่มากขึ้นมาก
- ประวัติเบาหวานในครอบครัว
- ความดันเลือดสูง
- มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ขาดการออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ ขาดการออกแรงขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน หรือต้องทำงานมีลักษณะงานนั่งโต๊ะหรืองานที่ต้องนั่งหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
อาการของโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานในระยะแรกอาจไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นชัดเจน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย ต้องลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยครั้ง
- กระหายน้ำบ่อย แม้ว่าจะดื่มน้ำมากแล้วแต่ก็ยังรู้สึกหิวน้ำอยู่
- หิวบ่อย เมื่อหิวแล้วจะรู้สึกหิวจัด
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- อาจวูบหมดสติจากภาวะน้ำตาลต่ำ หากไม่ได้รับประทานอาหาร
- สายตาแย่ลง ตาพร่ามัว
- ชาปลายมือปลายเท้า
- เมื่อเป็นแผล แผลมักจะหายช้า
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
การวินิจฉัยโรคเบาหวานจะอาศัยผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก ประกอบกับการซักประวัติอาการของผู้ป่วย ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยขึ้นกับวิธีการตรวจน้ำตาลในเลือดซึ่งมีอยู่หลายวิธี โดยการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีเกณฑ์ดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (fasting plasma glocose; FPG)
– ค่าน้ำตาลปกติจะน้อยกว่า 100 มก./ดล.
– ค่าน้ำตาลระหว่าง 100-125 มก./ดล. ถือเป็นภาวะที่มีความเสี่ยง หรือภาวะเบาหวานแฝง
– ค่าน้ำตาลเกิน 126 มก./ดล. แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากทดสอบ oral glucose tolerance test; OGTT ทดสอบโดยให้ผู้ป่วยงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วให้ผู้ป่วยดื่มน้ำที่มีน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วตรวจค่าน้ำตาลหลังดื่มไปแล้ว 2 ชั่วโมง
– ค่าน้ำตาลปกติจะต่ำกว่า 140 มก./ดล.
– ค่าน้ำตาลระหว่าง 140-199 มก./ดล. จะอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง หรือเรียกว่าเป็นเบาหวานแฝง
– ค่าน้ำตาลเกิน 200 มก./ดล. ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) เป็นค่าแสดงระดับน้ำตาลที่สะสมในเม็ดเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการวัดเปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลที่จับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง
– ค่าน้ำตาลสะสมปกติจะน้อยกว่า 5.7%
– ค่าน้ำตาลสะสมที่อยู่ระหว่าง 5.7-6.4% เป็นเบาหวานแฝงหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานในโดยอนาคต ร้อยละ 10-25 ต่อปี
– ถ้าค่าน้ำตาลสะสมมากกว่า 6.5% ขึ้นไปถือว่าเป็นโรคเบาหวาน
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ณ เวลาใดก็ได้ (random plasma glucose) โดยไม่ต้องมีการงดน้ำและอาหารก่อนตรวจ เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด และเพื่อนำค่าที่ได้ไปพิจารณาร่วมกับอาการของผู้ป่วย เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย น้ำหนักลด โดยค่าน้ำตาลในเลือดที่มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มก./ดล. บ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
ซึ่งการวินิจฉัยจะต้องทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้อง
การรักษาโรคเบาหวาน
เป้าหมายหลักของการรักษาเบาหวาน คือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และฟื้นฟูกลไกการใช้น้ำตาลของร่างกาย
ซึ่งการรักษาประกอบด้วยการปรับพฤติกรรม (lifestyle modification) ได้แก่ การรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สามารถจัดการความเครียดได้
ยาเป็นตัวช่วยให้น้ำตาลลดลงสู่เป้าหมาย และช่วยลดโรคแทรกซ้อนได้ โดยยารักษาเบาหวานมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีการออกฤทธิ์ที่ต่างกัน เช่น เพิ่มการหลั่งอินซูลิน เพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลินโดยไปลดภาวะดื้ออินซูลิน เป็นต้น ปัจจุบันมียากลุ่มใหม่ๆ ช่วยลดน้ำหนักตัว และภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน มีทั้งชนิดยากิน และยาฉีด แต่หากการการดำเนินของโรคแย่ลงมากจนร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ยาฉีดอินซูลินในการรักษา
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มาช่วยผู้ป่วยเบาหวาน เช่น insulin pump เครื่องปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย และ CGM continuous glucose monitoring เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง เพื่อติดตามระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาแบบเรียลไทม์ ทำให้ตัวผู้ป่วยสามารถทราบระดับน้ำตาลของตนเอง และทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ดีขึ้นด้ว
ซึ่งการรักษาเบาหวานแพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
การปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย อาจทำให้พิการ หรือรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ได้แก่
- โรคไตวายเรื้อรัง เบาหวานเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่จำเป็นต้องบำบัดทดแทนไต หรือฟอกไต
- ภาวะเบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียการมองเห็น
- ภาวะปลายประสาทเสื่อม ทำให้รู้สึกชาที่ปลายมือปลายเท้า ไม่รู้สึกเจ็บที่เท้า หรือที่เรียกว่า เบาหวานลงเท้า อาการชาจะทำให้เกิดแผลได้โดยไม่รู้ตัว และแผลมักจะหายช้าและติดเชื้อได้ง่ายและมักลุกลามรุนแรง จนอาจต้องสญเสียขาหรือเท้า หรืออาการปวดแสบปวดร้อนเท้า ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงมาก
- การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้เสี่ยงเกิดการติดเชื้อที่รุนแรงมากกว่าคนปกติ
- ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งจะทำให้หมดสติ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด (diabetic ketoacidosis; DKA) หรือภาวะน้ำตาลสูงร่วมกับความเข้มข้นเลือดสูง ( Hyperosmolar coma ) ซึ่งอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
- โรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะถ้ามีโรคร่วม ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ มีประวัติในครอบครัวโรคหลอดเลือดตีบ
- โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์อัมพาต
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่แผลที่เท้าหายช้า และสูญเสียขาหรือเท้าได้
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
- พบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ตรวจจอประสาทตา ตรวจปัสสาวะดูโปรตีนรั่ว (microalbumin ) ค่าเลือดการทำงานไต ตรวจการรับความรู้สึกเท้าด้วย monofilament และฉีดวัคซีนประจำปี เพื่อลดโอกาสเกิดการติดเชื้อที่รุนแรง
- หากมีภาวะอ้วน ควรลดน้ำหนักตัวลงร้อยละ 5-10 ช่วยให้ระดับน้ำตาล และปัจจัยเสี่ยงต่างๆลดลง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดย ออกกำลังกายแบบแอโรบิกความแรงปานกลาง 150 นาทีค่อสัปดาห์ โดยแบ่ง 3-5 วัน เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น และออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ลดการนั่งนิ่ง ๆ นาน ๆ เช่น ลุกยืนขยับตัวบ้าง หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ อาจจะลุกเปลี่ยนอริยาบถทุก ๆ 30 นาที
- รับประทานอาหารเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ ไม่จำกัดแค่หมวดคาร์โบไฮเดรต หมายรวม โปรตีน ไขมัน ผัก ผลไม้ ที่เหมาะสม อาหารที่มีไฟเบอร์สูง
- ลดการบริโภคน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ข้าวขาว ข้าวเหนียว ขนมหวาน ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เกลือ ผงชูรส อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง เป็นต้น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า
- ดูแลทำความสะอาดเท้า ทาโลชั่นให้ผิวหนังที่เท้าชุ่มชื้น ใส่ถุงเท้าและรองเท้าป้องกันอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแผลได้ง่าย ตัดเล็บอย่างระมัดระวัง และหากเป็นเล็บขบควรรับการรักษาที่โรงพยาบาล
- รู้จักภาวะฉุกเฉินของโรคเบาหวาน อาการและวิธีแก้ไขเบื้องต้น เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และการดูแลตนเองยามเจ็บป่วยเฉียบพลัน (sick day rule) การปฏิบัติตัวในเวลาพิเศษ เช่น เดินทาง หรือถือศีลอด
- หมั่นสังเกตและดูแลระดับน้ำตาลของตนเอง ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องมีการวัดระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้วเพื่อติดตามระดับน้ำตาลของตนเอง หรือบางคนอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจน้ำตาลแบบต่อเนื่อง เพื่อติดตามระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาตามคำแนะนำของแพทย์
- เข้าใจยาที่ใช้รักษา ผลข้างเคียง ปฏิกริยาระหว่างยา (drug interaction) ไม่ควรปรับยาด้วยตนเอง
- นอนหลับพักผ่อน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน รู้วิธีผ่อนคลาย จัดการความเครียด หากสังเกตตนเองวิตกกังวล หรือหดหู่ผิดปกติควรปรึกษาคนใกล้ชิดหรือแพทย์
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงต้องเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม โดยเป้าหมายของการควบคุมอาหารในผู้ป่วยเบาหวานคือ
- รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติหรือใกล้เคียงปกติ
- รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ลดภาวะอ้วน
- รักษาโรคร่วม เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ ตับอักเสบ โรคเก๊าท์ โรคไตวายเรื้อรัง ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เป็นต้น
- รับประทานอาหารให้มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน
โดยมีหลักการในการเลือกรับประทานอาหารคือ
- เลือกรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีเส้นใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท
- รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ได้แก่ ผัก และผลไม้ โดยเลือดชนิดผลไม้ที่ไม่หวานจัด และรับประทานในปริมาณพอเหมาะ
- ลดอาหารน้ำตาลเชิงเดี่ยว เช่น เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล น้ำผลไม้ ขนมหวาน เป็นต้น
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดี เช่น ปลาทะเล ถั่วเปลือกแข็ง อาโวคาโด น้ำมันมะกอก งดไขมันทรานส์ เช่น ครีมเทียม มายองเนส เบเกอรี่ต่างๆ อาหารทอดกรอบ ลดไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง น้ำมันปาล์ม และกะทิ ควบคุมปริมาณอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น หอย ปลาหมึก กุ้ง ไข่แดง เป็นต้น
- เลือกรับประทานอาหารที่รสไม่จัด ไม่ปรุงเค็ม ลดการบริโภคผงชูรส อาหารแปรรูป อาหารที่ใส่สารกันบูด
การป้องกันโรคเบาหวาน
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
- รับประทานอาหารที่มีไขมันที่ดี เช่น ถั่วลิสง อัลมอนต์ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันมะกอก เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด
- ออกกำลังสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้มีภาวะอ้วน
- หลีกเลี่ยงความเครียด
- นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮล์
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- หากพบว่าเริ่มมีระดับน้ำตาลสูงแต่ยังไม่เป็นโรคเบาหวาน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน
สรุป
เบาหวานเป็นโรคที่พบได้บ่อยซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรือเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวานน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่หากป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้วก็ต้องปรับพฤติกรรม รวมถึงรับประทานอาหารให้เหมาะสม เพื่อรักษาระดับน้ำตาลและโรคร่วมให้ปกติ และเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดตามมาได้