ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมานาน หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จะส่งผลต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังตามมา ไม่ว่าจะเป็น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต ความดันโลหิตสูง และอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมาก ๆ นั่นก็คือ “เบาหวานลงเท้า”
อาการเบาหวานลงเท้า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังตามมา และอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่การรักษาด้วยการตัดเท้าหรือตัดขาในที่สุด ดังนั้น หากเป็นโรคเบาหวานแล้ว เท้าจึงถือเป็นอีกหนึ่งอวัยวะสําคัญที่ต้องดูใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นแผลได้ง่ายและรักษายาก
อีกทั้งผู้ป่วยเบาหวานต้องใส่ใจเป็นพิเศษกับการควบคุมระดับน้ำตาล รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนเรื้อรัง
บทความนี้จะเน้นกล่าวถึงสาเหตุและลักษณะของอาการเบาหวานลงเท้า รวมทั้งแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง
สารบัญ
- เบาหวานลงเท้า คืออะไร
- สาเหตุของเบาหวานลงเท้า มีอะไรบ้าง
- วิธีสังเกตอาการ เบาหวานลงเท้า
- อาการเท้าบวม เกี่ยวข้องกับเบาหวานลงเท้าหรือไม่
- อะไรคืออาการ เท้าดำ ที่คนมักพูดกัน
- ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ป้องกันเบาหวานลงเท้าตั้งแต่ต้นเหตุ
- การดูแลเท้า และการตัดเล็บเพื่อลดโอกาสเกิดแผลและการติดเชื้อที่เท้า
- การเลือกรองเท้า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
- เข้ารับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- สรุป
เบาหวานลงเท้า คืออะไร
เบาหวานลงเท้า คือ ลักษณะอาการที่ปรากฏขึ้นที่เท้าหรือบริเวณขา เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่มาจากโรคเบาหวาน ได้แก่ เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมและภาวะหลอดเลือดตีบ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกที่บริเวณเท้าและยังเกิดแผลเรื้อรังที่เท้าได้ง่าย หากมีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการตัดเท้าหรือตัดขาในที่สุด
สาเหตุของเบาหวานลงเท้า มีอะไรบ้าง
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น ภาวะแทรกซ้อนฉับพลัน และภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง
(1) ภาวะแทรกซ้อนฉับพลัน มักเป็นการติดเชื้อรุนแรง ภาวะช็อคเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหรือลดต่ำลงเกินไป หรือบางรายอาจมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA)
(2) ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานาน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้ว มักจะมาจากการที่หลอดเลือดแดงและระบบประสาทเสื่อมสภาพลง ได้แก่
- หลอดเลือดแดงตีบหรือเสื่อม: เมื่อระดับน้ำตาลสูงเกินค่าปกติเป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลให้เส้นเลือดแดงเกิดภาวะอักเสบ ตามมาด้วยอาการเปราะ ตีบ หรือฉีกขาดง่าย เลือดจึงไหลเวียนไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ไม่เต็มที่
อวัยวะส่วนที่อยู่ไกลอย่างเช่น “เท้า” จึงเสี่ยงต่ออาการเนื้อเยื่อตายเพราะขาดเลือด นอกจากนี้ กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคบริเวณนั้นก็ทำได้แย่ลงด้วย ดังนั้น หากเกิดแผลขึ้นมา ก็มักจะหายช้ามาก แถมยังง่ายต่อการติดเชื้อจนทำให้มีอาการอักเสบรุนแรงขึ้นได้ - เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม: เมื่อระบบประสาทส่วนปลายเริ่มเสื่อมสภาพลง ผู้ป่วยจะสูญเสียความรู้สึกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณปลายมือและปลายเท้า เกิดเป็นอาการเท้าชา ส่งผลให้เวลาที่เท้าสัมผัสถูกของมีคมหรือของร้อนจัด ผู้ป่วยจึงมักไม่ค่อยรู้ตัว ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดแผลขึ้นที่เท้าได้ง่าย ๆ
นอกจากนี้ ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ยังส่งผลให้มัดกล้ามเนื้อบริเวณเท้าฝ่อลง เมื่อกล้ามเนื้อที่ประคับประคองเท้าไม่แข็งแรงเท่าเดิมแล้ว เท้าจึงอาจบิดผิดรูป ส่งผลให้ผู้ป่วยยืนหรือเดินแล้วลงน้ำหนักเท้าในบางตำแหน่งไม่เหมาะสม จนเกิดการกดทับเป็นแผลที่เท้าขึ้นมาได้ - ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม: ระบบประสาทอัตโนมัติ มีส่วนในการควบคุมการทำงานของต่อมเหงื่อ หากเกิดการเสื่อมสภาพไป การปรับความสมดุลความชุ่มชื้นของผิวหนังก็จะเสียไปด้วย ส่งผลให้ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น โดยเฉพาะบริเวณเท้าทั้งสองข้าง ซึ่งก็จะแห้งแล้วปริแตกได้ง่าย ทำให้เกิดปัญหาแผลเรื้อรังตามมาได้นั่นเอง
แน่นอนว่าโรคเบาหวานเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการเบาหวานลงเท้า อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดได้อีก เช่น อายุมาก การสูบบุหรี่ เล็บที่ผิดปกติ และรองเท้าที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ ในทางกลับกัน การปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม ก็อาจมีผลกระตุ้นให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้นหรือรุนแรงยิ่งขึ้นได้เช่นกัน
วิธีสังเกตอาการ เบาหวานลงเท้า
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นสังเกตอาการเบื้องต้นของเบาหวานลงเท้าอยู่เสมอ ได้แก่อาการดังต่อไปนี้
- มีอาการชาหรือเป็นเหน็บที่เท้า ไล่จากปลายนิ้วเท้าขึ้นไปยังบริเวณหลังเท้าหรือขา โดยมักจะเป็นทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน
- มีอาการปวดแปล๊บคล้ายกับว่ามีไฟช็อตที่เท้าทั้ง 2 ข้าง
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเท้าร้อนวูบวาบ หรือปวดแสบปวดร้อนที่เท้า
- สีผิวบริเวณเท้าซีดลงหรือคล้ำขึ้นจนผิดสังเกต|
- ผิวหนังบริเวณเท้าทั้งสองข้างแห้ง บางคนอาจแห้งจนปริแตก
- ผิวหนังที่เท้าแข็งขึ้นมีลักษณะเป็นตาปลา
- รูปเท้าผิดไปจากปกติ หรือมีปุ่มกระดูกงอกโปนขึ้นมา
หากเป็นโรคเบาหวานอยู่ แล้วพบว่าตนเองมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ควรรีบไปพบแพทย์
อาการเท้าบวม เกี่ยวข้องกับเบาหวานลงเท้าหรือไม่
เวลาเราได้ยินว่าใครมีอาการเท้าบวม เราก็มักจะนึกถึงอาการของคนที่เป็นโรคไตเป็นอันดับแรก ซึ่งที่จริงแล้ว อาการเท้าบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้แต่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเอง ก็มีโอกาสที่จะแสดงอาการเท้าบวมได้เช่นเดียวกัน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเท้าบวม มีสาเหตุมาจากการคั่งของของเหลวที่บริเวณเท้า เป็นผลมาจากระบบการไหลเวียนของโลหิตที่ไม่ดี นอกจากนี้ การกินอาหารเค็มมาก ๆ ก็มีส่วนในการทำให้อาการยิ่งแย่ลง แต่ละคนอาจมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป
แนวทางแก้ไข หากมีอาการบวมที่เท้า
การรักษาอาการให้ทุเลาลง ได้แก่ การใช้ถุงเท้ารัดกล้ามเนื้อ ที่ช่วยปรับความดันที่ขาและเท้าให้มีปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น แต่ต้องพยายามไม่ใช้ถุงเท้าที่บีบรัดมากจนเกินไป นอกจากนี้ การพยายามยกขาให้สูงขึ้น จะช่วยลดของเหลวสะสมที่บริเวณเท้าได้อีกด้วย
และควรลดความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากโรคเบาหวาน เช่น การลดพฤติกรรมการกินเค็ม การลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน การกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น โดยมีข้อแนะนำให้ออกกำลังกายเบา ๆ ไม่ต้องแบกรับน้ำหนักมาก เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการบวมที่เท้า บางรายอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อความแน่ใจอีกครั้งหนึ่ง
อะไรคืออาการ เท้าดำ ที่คนมักพูดกัน
คนที่มีอาการเบาหวานลงเท้านั้น มักจะมีอาการที่สังเกตได้หลายอย่างนำมาก่อน เช่น อาการชา อาการปวดแสบปวดร้อนที่เท้า อาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่ใช่ว่าจู่ ๆ เนื้อเยื่อจะตายอย่างเฉียบพลันแล้วจะต้องมีอาการเท้าดำ
สำหรับการตรวจวินิจฉัยอาการเบาหวานลงเท้า แพทย์จะใช้การตรวจสอบหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการสังเกตสีผิวและตรวจวัดอุณหภูมิของเท้า
โดยทั่วไป คนที่มีภาวะเบาหวานลงเท้าแล้วมีอาการอักเสบรุนแรง บริเวณเท้ามักจะมีสีผิวออกแดงและบวม ซึ่งแสดงถึงภาวะการอักเสบ
แต่หากพบว่าเท้ามีสีผิวที่เข้มขึ้นและเป็นมัน วัดอุณหภูมิได้ต่ำกว่าปกติ และคลำชีพจรได้เบา ก็มีโอกาสสูงว่าหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนเท้าอาจเกิดการตีบตัน ซึ่งหากปล่อยไว้ เนื้อเยื่อบริเวณนั้นอาจตายได้ จุดไหนที่เนื้อเยื่อตาย บริเวณนั้นผิวก็จะดำและแห้งนั่นเอง
ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ป้องกัน เบาหวานลงเท้า ตั้งแต่ต้นเหตุ
อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า เบาหวานลงเท้ามีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง การรักษาโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็มักได้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก
จึงมีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยังไม่เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น หรือเริ่มมีโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้วก็ตาม ให้พยายามควบคุมระดับความดันโลหิต รวมถึงระดับนํ้าตาลและระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามคำสั่งของแพทย์โดยเคร่งครัด รวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบบุหรี่ ควรเลิกอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ มักให้ผลการรักษาที่ดีกว่า จึงควรเข้าพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามวันเวลาที่นัดไว้ เพื่อตรวจความเป็นไปของโรคและประเมินโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างใกล้ชิด
การดูแลเท้า และการตัดเล็บ เพื่อลดโอกาสเกิดแผลและการติดเชื้อที่เท้า
สำหรับผู้ที่เริ่มมีโรคแทรกซ้อนแล้ว ขอให้ทำการรักษาต่อไปตามคำสั่งแพทย์ โดยปฏิบัติร่วมกันกับข้อแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลและการติดเชื้อที่เท้า ดังนี้
ขั้นตอนการดูแลเท้าในเบื้องต้น ป้องกันปัญหาจากเบาหวานลงเท้า
- ทำความสะอาดเท้าและซอกนิ้วทุกวัน โดยใช้น้ำสะอาดและสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน วันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย (แนะนำให้เป็นตอนเช้าและก่อนนอน) หลังจากนั้น ให้เช็ดเท้าและซอกเท้าให้แห้งทันทีโดยใช้ผ้าสะอาดเช็ด อย่าปล่อยให้เท้าเปียกชื้น
- หากมีอาการผิวแห้ง ควรใช้ครีมทาบาง ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น แต่อย่าทาบริเวณซอกนิ้ว เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นได้
- ไม่เดินเท้าเปล่า ทั้งภายในบ้าน บริเวณรอบบ้าน และนอกบ้าน
- สวมถุงเท้าก่อนรองเท้าเสมอ เพื่อลดการเสียดสี โดยก่อนสวมรองเท้า ควรตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายใน แม้แต่เศษกรวดหินดินทรายเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองจนเป็นแผลได้
- ตรวจดูเท้าตัวเองเป็นประจำ สังเกตดูว่ามีอาการผิดปกติไหม เช่น ปวด บวม มีแผล รอยช้ำ ผิวเปลี่ยนสี หรือเม็ดพอง เป็นต้น ควรตรวจให้ทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า และซอกนิ้ว โดยอาจใช้กระจกส่องหากมองไม่เห็นหรือมองไม่ถนัด
- หากพบว่าเริ่มมีแผล หรือหนังด้านแข็ง มีตาปลา มีรอยแตก หรือการติดเชื้อรา ควรพบแพทย์โดยเร็ว และไม่ควรตัดตาปลาออกด้วยตนเอง
- หากเป็นเล็บขบ ควรมาโรงพยาบาลทันที อย่าพยายามรักษาด้วยตัวเอง
ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องดูแลการตัดเล็บเป็นพิเศษ
สำหรับคนทั่วไป การตัดเล็บอาจเป็นแค่ขั้นตอน ๆ หนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและเสี่ยงต่ออาการเบาหวานลงเท้านั้น การตัดเล็บเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ต้องให้ความสนใจดูแลเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันโอกาสเป็นแผลและติดเชื้อ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ หลังจากอาบน้ำ เราควรเลือกเวลาตัดเล็บหลังจากอาบน้ำเสร็จ เนื่องจากเล็บจะนิ่มและทำให้ตัดง่าย เพราะหากตัดเล็บช่วงเวลาปกติ เล็บจะแข็งแล้วต้องออกแรงมากขึ้น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
วิธีการตัดเล็บที่ดี คือ ควรตัดตามแนวขอบเล็บเท่านั้น ให้เป็นเส้นตรงเสมอปลายกับนิ้วเท้า ไม่ควรตัดเล็บจนลึกมากหรือตัดจนโค้งเข้าจมูกเล็บ เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นเล็บขบได้
ห้ามใช้อุปกรณ์แหย่ตามซอกเล็บเด็ดขาด เนื่องจากหลายคนอาจเคยชินกับการทำความสะอาดซอกเล็บโดยใช้เครื่องมือแหลม ๆ แหย่หรือแคะเข้าตามซอกเล็บหรือจมูกเล็บ ซึ่งเป็นข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากอาจจะเกิดการระคายเคืองหรือเกิดแผลติดเชื้อได้
การเลือกรองเท้า สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
การเลือกสวมรองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ จะช่วยป้องกันและลดโอกาสเกิดแผลบริเวณเท้าได้ มีหลักในการเลือกรองเท้าดังนี้
- เลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี เหมาะสมกับรูปเท้า และควรเผื่อหน้าเท้าให้ลึกและกว้างหน่อย
- เลือกรองเท้าทำจากวัสดุที่นุ่ม เช่น รองเท้าหนังชนิดนุ่ม
- แบบรองเท้าที่เลือก ควรเป็นแบบหุ้มส้น
- ควรเลือกรองเท้าที่สามารถปรับขนาดได้ด้วยเชือกหรือแถบตีนตุ๊กแก
- ไม่ควรใช้ รองเท้าแตะประเภทใช้นิ้วคีบ
- ไม่ควรใช้ รองเท้าที่คับหรือหลวมเกินไป
- ไม่ควรใช้ รองเท้าไม่ควรมีตะเข็บ ถ้าต้องมีจริง ๆ ควรเลือกที่มีตะเข็บให้น้อยเข้าไว้
หากเป็นไปได้ แนะนำว่าผู้ป่วยเบาหวานควรตัดรองเท้าที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะจะเหมาะสมที่สุด
จะเห็นได้ว่าการดูแลเท้ามีขั้นตอนและความสำคัญ ไม่แตกต่างจากการดูแลภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานลงไต ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสเกิดแผล ซึ่งจะตามมาด้วยเรื่องยุ่งยากจากอาการเบาหวานลงเท้าได้อีกมากมาย
สุดท้ายหมอขอฝากวลีที่หมอเคยได้ยินและชื่นชอบเป็นพิเศษที่ว่า
“ดูแลเท้าให้ดี เสมือนหนึ่งดูแลใบหน้า”
เข้ารับการตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นอกจากวิธีดูแลเท้าด้วยตนเองแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจเท้าอย่างละเอียด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง กับแพทย์หรือบุคลาการทางการแพทย์ โดยแพทย์จะทำการตรวจเท้าเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยละเอียด ดังนี้
- ซักประวัติโรคเบาหวาน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ
- ตรวจเท้าทั่วทั้งเท้าเพื่อดูลักษณะภายนอก ว่ามีแผลเกิดขึ้นหรือไม่ ตรวจหาผิวหนังว่ามีเชื้อรา ตาปลา และการอักเสบหรือไม่ รวมทั้งตรวจดูลักษณะเล็บ และการผิดรูปของเท้า
- ตรวจการรับความรู้สึกบริเวณเท้า โดยการใช้ไนล่อนเส้นเล็ก เพื่อทดสอบการรับรู้ความรู้สึกของผิวหนัง (Monofilament test) หรือใช้ส้อมเสียง ทดสอบการรับรู้ของเส้นประสาทจากการสั่นสะเทือน (Tuning fork)
- ตรวจหาการตีบแคบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเท้า โดยคลำชีพจรที่ตาตุ่มและหลังเท้า บางรายอาจมีความจำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า Ankle-Brachial Index (ABI) ซึ่งเป็นเครื่องวัดความดันโลหิตจากแขนทั้งสองข้างและขาทั้งสองข้าง แล้วนำเปรียบเทียบกัน
- ประเมินความเหมาะสมของรองเท้าที่ผู้ป่วยสวมใส่
- ซักประวัติโรคเบาหวาน เพื่อประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ
วิธีการตรวจต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินและติดตามความเสี่ยงของอาการเบาหวานลงเท้าได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเข้าไปพบแพทย์ตามนัด จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของภาวะดังกล่าวได้อย่างมาก
สรุป
จากรายละเอียดในบทความนี้ จะเห็นได้ว่า ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน จะเน้นที่การดูแล รักษา และป้องกันตั้งแต่สาเหตุต้นทาง โดยการควบคุมดูแลตนเองไม่ให้เป็นโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ร่วมกับการปฏิบัติตามตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด
สำหรับผู้ที่เริ่มมีภาวะเสี่ยงที่จะมีอาการเบาหวานลงเท้า ควรมาพบแพทย์ประเมินอาการ พร้อมทั้งแนะนำการดูแลของคุณเท้าอย่างถูกสุขลักษณะ
ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดเท้า การตัดเล็บเท้า ไปจนถึงการเลือกรองเท้าที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดแผลที่เท้าได้ เพราะการเกิดแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นสูญเสียเท้าหรือขาได้
ดังนั้นการเริ่มฝึกปฏิบัติ ดูแลตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้า หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่ทำให้มีร่างกายที่แข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดี