เบาหวานเป็นโรคยอดฮิต โดยพบว่าทั่วโลกมีผู้เป็นโรคเบาหวานมากกว่า 420 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และยังเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามมาได้อีกหลายระบบ เช่น ไตวาย หลอดเลือดส่วนปลายตีบ ปลายประสาทเสื่อม แผลหายยาก เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ และยังทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดจาก “ภาวะเบาหวานขึ้นตา” ได้อีกด้วย
สารบัญ
- โรคเบาหวาน
- ภาวะเบาหวานขึ้นตา
- เบาหวานขึ้นตาเกิดจากอะไร?
- เบาหวานขึ้นตามีกี่ระยะ?
- อาการของเบาหวานขึ้นตา
- โรคแทรกซ้อนที่มากับเบาหวานขึ้นตา
- ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงตาบอดมากกว่าคนปกติเพราะอะไร?
- การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นตา
- เบาหวานขึ้นตา รักษาหายไหม?
- นวัตกรรมการรักษาเบาหวานขึ้นตา
- การป้องกันเบาหวานขึ้นตา
- การดูแลสุขภาพตา
- สรุป
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมน “อินซูลิน” เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือมีภาวะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจะมีปัญหาการเผาผลาญน้ำตาล ซึ่งเบาหวานเป็นโรคที่ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ ระบบของร่างกาย เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไตวาย ภาวะปลายประสาท ภาวะแผลติดเชื้อ รวมไปถึง “ภาวะเบาหวานขึ้นตา”
ภาวะเบาหวานขึ้นตา
ภาวะเบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานที่พบได้บ่อย เป็นสาเหตุของความผิดปกติของหลอดเลือดฝอยในดวงตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ในที่สุด มักพบในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน แล้วทำให้หลอดเลือดฝอยที่จอประสาทตา (retina) เสียหายจนอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด
เบาหวานขึ้นตาเกิดจากอะไร?
ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นาน ๆ จะทำให้บริเวณที่มีหลอดเลือดเล็ก ๆ เกิดการเสียหายได้ ซึ่ง ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีหลอดเลือดฝอยอยู่มาก โดยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดในจอประสาทตา ทำให้เกิดโป่งพอง อุดตัน มีการรั่วซึมของสารน้ำและเม็ดเลือด เกิดจอประสาทตาบวม จอตาขาดเลือด เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะเปราะ แตกง่าย ทำให้เกิดเลือดออกเข้าวุ้นตาทำให้ตามัวจนถึงตาบอด หรือเกิดพังผืดดึงรั้งจอตาทำตาบอดได้
เบาหวานขึ้นตามีกี่ระยะ?
ภาวะเบาหวานขึ้นตาแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ภาวะเบาหวานขึ้นตาที่ยังไม่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (non-proliferative diabetic retinopathy; NPDR) เป็นระยะแรกของโรค พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นระยะที่เกิดความเสียหายของผนังหลอดเลือดในดวงตา ทำให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง เกิดหลอดเลือดโป่ง อาจพบเลือดออกในตา หรือมีของเหลวรั่วจากหลอดเลือดเข้าไปที่จอประสาทตา เกิดการบวมของจอประสาทตา ซึ่งอาจพบได้ไม่มากในระยะแรก ๆ แต่หากอาการรุนแรงขึ้นอาจมีเลือดออกที่กลางจอประสาทตาซึ่งเป็นจุดภาพชัด (macula) จนเกิดการบวมของจุดภาพชัด (macular edema) หรือหากหลอดเลือดเสียหายจนไม่มีเลือดไปเลี้ยงจุดภาพชัด จะทำให้เกิดภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด (macular ischemia) ส่งผลต่อการมองเห็นได้
- ภาวะเบาหวานขึ้นตาที่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (proliferative diabetic retinopathy; PDR) เป็นระยะที่โรคมีความรุนแรง เกิดความเสียหายของหลอดเลือดในตาอย่างรุนแรงจนเกิดการขาดเลือด หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ แต่หลอดเลือดที่สร้างมาใหม่นั้นเป็นหลอดเลือดที่ไม่ปกติ ผนังของหลอดเลือดไม่แข็งแรง เปราะแตกได้ง่าย จึงทำให้เกิดการแตกและมีเลือดออกเข้ามาในวุ้นลูกตามากขึ้น เกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้เกิด ภาวะจอตาลอก (retinal detachment) จนอาจสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้การสร้างหลอดเลือดใหม่จะไปรบกวนการระบายของเหลวภายในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น เกิดเป็นโรคต้อหิน (glaucoma) ตามมาได้
อาการของเบาหวานขึ้นตา
“เบาหวานขึ้นตา” เป็นอาการที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มีระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการที่พบได้ เช่น
- ในระยะแรก จะไม่แสดงอาการผิดปกติของการมองเห็น ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีภาวะของเบาหวานขึ้นตา และเมื่อมีอาการก็อยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว ดังนั้นจักษุแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานตรวจตาเป็นประจำ เพื่อจะได้รักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
- หากปล่อยไว้จะเริ่มมีอาการ
- ตาพร่ามัว
- เห็นเงามืด หรือเงาบังตรงกลางภาพ
- ภาพที่เห็นมีลักษณะบิดเบี้ยว ซึ่งเกิดจากจุดรับภาพบวม
- เห็นจุด หรือเส้น ๆ ลอยไปมา
- มองภาพไม่ชัดในเวลากลางคืน
- หากปล่อยทิ้งไว้ อาการจะรุนแรงขึ้น โดยจะมีอาการ
- จอตาลอก จากการที่มีพังผืด
- ตามืด จากการที่มีเลือดออกมากในวุ้นลูกตา
- สูญเสียการมองเห็นถาวร
โรคแทรกซ้อนที่มากับเบาหวานขึ้นตา
โรคเบาหวานไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเสียหายกับจอประสาทตา แต่ยังทำให้เกิดโรคของตาตามมา ได้แก่
- โรคต้อหิน (Glaucoma) จากการที่มีความดันลูกตาสูงขึ้น
- โรคต้อกระจก (Cataract) พบว่าผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น
- ติดเชื้อบริเวณกระจกตาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่แย่ลง
- หากมีการผ่าตัดที่เกี่ยวกับตา อาจทำให้แผลผ่าตัดหายยาก หรือติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ
- เพิ่มโอกาสในการสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดถาวรได้
ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงตาบอดมากกว่าคนปกติเพราะอะไร?
เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงโรคตามากขึ้น ทั้งต้อกระจก ต้อหิน เส้นประสาทตา และเส้นประสาทกล้ามเนื้อตาผิดปกติ รวมทั้งเบาหวานขึ้นตา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของตาบอดที่ไม่ใช่ตาบอดตั้งแต่กำเนิดในประชากรโลกปัจจุบัน
และจากสถิติในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานนาน 2-3 ปี จะพบภาวะเบาหวานขึ้นตาประมาณ 3-4% และเพิ่มเป็น 15-20% เมื่อเป็นเบาหวานนาน 15 ปี
การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นตา
- การซักประวัติ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ประวัติการคุมระดับน้ำตาลในเลือด และโรคประจำตัวอื่น ๆ
- การวัดสายตา
- การวัดความดันลูกตา
- การตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์
- ตรวจ slit lamb เพื่อตรวจดูสุขภาพของกระจกตาและส่วนหน้าของตา
- ตรวจจอประสาทตาด้วย indirect ophalmoscope
โดยผู้ป่วยเบาหวานทุกรายควรตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง
เบาหวานขึ้นตา รักษาหายไหม?
เบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ดังนั้นหากเป็นโรคเบาหวานก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นตา และการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาจะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น หากอยู่ในระยะเริ่มแรกก็จะสามารถรักษาเพื่อไม่ให้อาการลุกลามรุนแรงได้ โดยการรักษาจะประกอบด้วย
- การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นการรักษาที่เน้นที่ต้นเหตุ และหากมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง ก็ต้องควบคุมและรักษาโรคร่วมเหล่านี้ด้วย
- การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ เช่น การควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดเสียหายมากขึ้น
- การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ หากเริ่มมีเลือดออกในลูกตาเยอะขึ้น โดยแพทย์จะยิงเลเซอร์ที่บริเวณรอบนอกของจอประสาทตา เพื่อลดออกซิเจนของเนื้อเยื่อตาที่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และช่วยลดการหลั่งสารสร้างหลอดเลือดที่ผิดปกติจากเบาหวานขึ้นตา
- การฉีดยาเข้าที่น้ำวุ้นลูกตา เพื่อลดการบวมของจอประสาทตา ในผู้ป่วยที่มีจอประสาทตาบวมร่วมด้วย
- การผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาในรายที่อาการรุนแรง เช่น ในรายที่มีพังผืด ภาวะจอตาลอก หรือมีเลือดออกในวุ้นลูกตามาก
- การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ในรายที่รุนแรงมาก การรักษาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ในผู้ป่วยที่รักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาจนโรคสงบแล้ว จำเป็นที่จะต้องตรวจติดตามอยู่เป็นระยะ และยังคงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่อง
นวัตกรรมการรักษาเบาหวานขึ้นตา
ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้เครื่องมือการตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับดวงตามีความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น กล้องตรวจตาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถถ่ายภาพและต่อภาพที่ทำให้เห็นพื้นที่จอประสาทตาได้ถึง 200 องศา (โดยที่กล้องแบบเดิมสามารถถ่ายได้เพียง 50 องศา) ทำให้ช่วยลดการใช้ยาขยายม่านตา และทำให้ความไวในการตรวจโรคดีขึ้น และยังให้ผลดีสำหรับผู้ป่วย เพราะแต่เดิมหลังหลอดยาขยายม่านตาจะทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพเบลอไปราว 4-5 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถขับรถได้ ดังนั้นการมาตรวจตาแบบเดิมจำเป็นต้องมีญาติมาด้วย เพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถขับรถกลับบ้านเองได้
นอกจากนี้ยาที่ใช้รักษาภาวะเบาหวานขึ้นตายังพัฒนาไปมาก แต่อาจยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือ ในระยะ 4-6 เดือนแรกผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาทุกเดือน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะฟื้นฟูการมองเห็นให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 60-70%
การป้องกันเบาหวานขึ้นตา
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ
- ควบคุมไขมันในเลือด และความดันให้ปกติ
- รับประทานยาเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่เพิ่มหรือลดยาเอง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจสุขภาพตาประจำปี
- ผู้ป่วยเบาหวานแนะนำให้ตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การดูแลสุขภาพตา
- พักสายตาเป็นระยะ ๆ เมื่อต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น หากใช้จอประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรพักสายตาสัก 5-10 นาที โดยพยายามหาจุดโฟกัสที่ไกล ๆ เพื่อลดการล้าของดวงตา
- กระพริบตาบ่อย ๆ และ ใช้น้ำตาเทียม หากมีอาการตาแห้ง จากการใช้สายตาหรือเพ่งจอนาน ๆ
- รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า-3 (omega-3) จะช่วยลดอาการตาแห้งได้
- รับประทานอาหารที่มีวิตามิน A, C, D และ สังกะสี (zinc) จะช่วยชะลอความเสื่อมของจุดรับภาพ ในผู้ที่มีโรคเฉพาะทางตา
- สวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันรังสี UV
- พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยลดความเมื่อยล้าของดวงตาได้
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะจอประสาทตาเสื่อม
- ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับดวงตา
สรุป
- พักสายตาเป็นระยะ ๆ เมื่อต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น หากใช้จอประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรพักสายตาสัก 5-10 นาที โดยพยายามหาจุดโฟกัสที่ไกล ๆ เพื่อลดการล้าของดวงตา
- กระพริบตาบ่อย ๆ และ ใช้น้ำตาเทียม หากมีอาการตาแห้ง จากการใช้สายตาหรือเพ่งจอนาน ๆ
- รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า-3 (omega-3) จะช่วยลดอาการตาแห้งได้
- รับประทานอาหารที่มีวิตามิน A, C, D และ สังกะสี (zinc) จะช่วยชะลอความเสื่อมของจุดรับภาพ ในผู้ที่มีโรคเฉพาะทางตา
- สวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันรังสี UV
- พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยลดความเมื่อยล้าของดวงตาได้
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะจอประสาทตาเสื่อม
- ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับดวงตา