ภาวะ DKA (Diabetic Ketoacidosis) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรด เป็นภาวะฉุกเฉินที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่เดิมพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน(เบาหวานชนิดที่หนึ่ง) ปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ของโรคเบาหวาน ภาวะ DKA เป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ดังนั้นผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรทำความเข้าใจถึงภาวะนี้ อาการ ปัจจัยเสี่ยงและทราบถึงอันตราย เพื่อเตรียมตัวรับมือและหาแนวทางป้องกันที่เหมาะสมได้
ภาวะ DKA (Diabetic Ketoacidosis) คืออะไร
ภาวะ DKA คือภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรดจากการที่มีสารคีโตนสะสมในเลือด
อาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเกิดภาวะ DKA
ผู้ป่วยจะมีอาการของน้ำตาลในเลือดสูง เช่น ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง กระหายน้ำ รวมกับ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลียไม่มีแรง หอบเหนื่อย ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากเป็นมากขึ้นจะมีอาการสับสน อาจเกิดภาวะช็อค หมดสติ และตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 250 มก. ต่อดล. ต้องระวังในผู้ป่วยที่กินยาเบาหวานบางกลุ่มอาจเกิดภาวะ DKA ได้ที่ระดับน้ำตาลต่ำกว่า 250 มก. ต่อดล.
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะ DKA
ภาวะ DKA เกิดจากปัจจัย 3 อย่าง รวมกัน ได้แก่
- ภาวะขาดฮอร์โมนอินซูลิน เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ตับอ่อนไม่หลั่งอินซูลิน หรือในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองที่เป็นโรคมานาน ตับอ่อนหลั่งอินซูลินลดลง จำเป็นต้องฉีดอินซูลินเป็นประจำ เมื่อผู้ป่วยหยุดฉีดอินซูลิน อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ DKA ได้
- มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อ การผ่าตัด อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือได้รับยาบางชนิดที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เช่น ยาสเตียรอยด์
- ขาดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต คือ การได้รับอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลไม่เพียงพอ ซึ่งอาจพบได้ในภาวะ อาเจียน เบื่ออาหาร หรืองดน้ำงดอาหารเพื่อเตรียมตัวผ่าตัด
หากมีปัจจัย 3 อย่างร่วมกัน ผู้ป่วยและคนดูแล ควรหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
กลไกการเกิดภาวะ DKA ในผู้ป่วยเบาหวาน
เมื่อเกิดภาวะเครียดของร่างกายดังกล่าวข้างต้น กลไกของร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์ตรงข้ามกับอินซูลิน เรียกว่า Counter-regulatory hormone เช่น คอร์ติซอล อะดรีนาลิน และกลูคากอน ฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยการเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล ซึ่งมีข้อดีทำให้ร่างกายได้พลังงานเพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาลนี้ได้ของแถมเป็นสารคีโตน ซึ่งเมื่อคีโตนสะสมมาก ๆ ทำให้เลือดเป็นกรด เมื่อคีโตนคั่งทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และหอบเหนื่อยดังกล่าวข้างต้น
การป้องกันภาวะ DKA ในผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานจะมีข้อปฏิบัติยามมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ( sick-day rules) เช่น มีไข้ คลื่นไส้ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ DKA ได้แก่
“พยายามกินคาร์โบไฮเดรต – ดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น – อย่าหยุดยาฉีดอินซูลินเอง –ตรวจน้ำตาลบ่อยขึ้น –และมาโรงพยาบาลเมื่อไม่ดีขึ้น”
- กินคาร์โบไฮเดรต คือ แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าวผสมเกลือเล็กน้อย แครกเกอร์ หรือขนมปัง ถ้าไม่สามารถกินอาหารอ่อนได้ แนะนำให้กินอาหารเหลวที่มีคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 50 กรัม ทุก 3 – 4 ชม. เช่น น้ำผลไม้หรือ
โยเกิร์ต ซุปข้น เป็นต้น - ดื่มน้ำมากขึ้น คือ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพออย่างน้อย 1 แก้วทุก 1 ชั่วโมง (สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่เหมาะสม)
- ห้ามหยุดฉีดยาอินซูลินเอง โดยเฉพาะ basal หรือ long-acting insulin
- หมั่นตรวจน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง แนะนำตรวจทุก 4 ชั่วโมง และในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง แนะนำตรวจอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน (เช่น 3 เวลาก่อนอาหารทุกมื้อและก่อนนอน)
- งดออกกำลังกายและพักผ่อนให้มาก
- มาโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการเหล่านี้ ได้แก่
- อาการของโรคร้ายแรง เช่น อาการแน่นหน้าอก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น
- มีอาการป่วยหรือมีไข้ 2 วัน แล้วยังไม่ทุเลา
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง ไม่สามารถกินอาหารได้นานเกิน 6 ชั่วโมง
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร แล้วพบว่าสูงกว่า 240 มก./ดล.
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ริมฝีปากแห้งแตก กระหายน้ำ หรืออาการรุนแรงขึ้น เช่น อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีกลิ่นผลไม้ เป็นต้น
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเบาหวานเตรียมตัวผ่าตัดหรือทำหัตถการ เมื่อมีการงดน้ำงดอาหารควรปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับยารับประทานบางตัวและยาฉีดอินซูลิน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ DKA และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะหรือหลังการทำหัตถการ
การรักษาภาวะ DKA
ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งมักเป็นหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) การรักษา ได้แก่
- ให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือด
- ให้ฮอร์โมนอินซูลินเพื่อแก้ภาวะอินซูลินไม่เพียงพอ
- ให้เกลือแร่ที่จำเป็น และติดตามระดับอย่างใกล้ชิด
- รักษาภาวะเจ็บป่วยที่เกิดร่วมด้วย เช่นยาปฏิชีวนะกรณีมีภาวะติดเชื้อ หรือรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
ในการรักษาอาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเกลือแร่โปแตสเซียมต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำภาวะน้ำเกิน น้ำท่วมปอด ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รักษาได้ และเมื่อผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา อาการจะดีขึ้นใน 12-24 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือด และความเป็นกรดด่างกลับสู่สภาวะปกติ แต่ในบางครั้งก็อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ป่วยหายจากภาวะ DKA แพทย์จะวางแผนการรักษา ปรับยาและพฤติกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะ DKA อีกในอนาคต
สรุป
Diabetic ketoacidosis (DKA) เป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน มักพบในผู้ป่วยเบาหวานที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ และมีภาวะเครียดของร่างกาย โดยหากมีอาการแนะนำให้รีบพาผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ DKA การปฏิบัติตัวยามเจ็บป่วย และสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที