โรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้ การได้รับวัคซีนจะเป็นการป้องกันโรค บาดทะยัก คอตีบ และไอกรน ที่ได้ผลดีและป้องกันการระบาดของโรคได้
โรคบาดทะยัก
โรคบาดทะยัก ติดต่อได้ทางบาดแผลที่ปนเปื้อนเชื้อที่มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ฝุ่น ตะปู เช่น ถูกตะปูตำ เสี้ยนตำ สัตว์กัด ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางระบบประสาท ได้แก่ กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร ลำคอ ใบหน้าเกร็ง ต่อมากล้ามเนื้อจะเกร็งทั่วร่างกาย หายใจลำบากและเสียชีวิตได้
อุบัติการณ์ของโรคพบมากในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนในวัยเด็ก (เกิดก่อนปีที่มีการให้เป็นวัคซีนพื้นฐาน) หรือเคยได้วัคซีนแล้วแต่ภูมิคุ้มกันลดลง
โรคคอตีบ
คอตีบ เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดลำคออักเสบ เกิดเป็นเยื่อสีขาวเกาะบริเวณทอนซิล คอหอย เพดานปาก และอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้
อุบัติการณ์ของคอตีบพบมากในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนในวัยเด็กลดลง ข้อมูลการสำรวจภูมิคุ้มกันคอตีบในประชากรไทยพบว่า กลุ่มอายุ 20-50 ปี มีภูมิคุ้มกันต่อคอตีบน้อย ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการระบาด สอดคล้องกับข้อมูลการระบาดของคอตีบในปี 2555 ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มอายุ 15-44 ปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนคอตีบกระตุ้นเพื่อป้องกันการระบาด
โรคไอกรน
ไอกรน เป็นโรคติดต่อทางระบบเดินหายใจ อาการของโรคนี้คือ ไอมาก ไอเป็นชุด ๆ ซึ่งอาการเริ่มต้นจะคล้ายกับหวัด มีไข้ต่ำ ๆ จาม มีน้ำมูก จากนั้นจะมีการไอ ซึ่งอาการไอมักต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์ ผู้ใหญ่ส่วนมากอาการไม่รุนแรงแต่อาจไอมากจนรบกวนการนอน เส้นเลือดในตาขาวแตกหรือปัสสาวะเล็ดได้
โรคนี้จะรุนแรงในเด็กทารกต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งจะมีอาการไอมาก ระบบหายใจล้มเหลว ปอด อักเสบและเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่มักติดมาจากผู้ใหญ่ในบ้าน และภูมิคุ้มกันของไอกรนมักจะอยู่ได้ไม่นาน แม้จะเคยฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อมาแล้ว โดยพบว่าผู้ใหญ่และผู้สูงอายุชาวไทยมีภูมิคุ้มกันต่อไอกรนเพียง 50% เท่านั้น
วัคซีน บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน เข็มรวม (DTP)
ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีน บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน เข็มรวม (DTP) ให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กทารกตั้งแต่ปี 2520 ดังนั้นผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนหน้านี้จะยังไม่เคยได้รับวัคซีนในวัยเด็ก อย่างไรก็ตามผู้ใหญ่ที่เกิดหลังปี 2520 บางราย ก็อาจได้รับวัคซีนไม่ครบอย่างน้อย 3 เข็มในวัยเด็ก
ปัจจุบันวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน สำหรับเด็กอายุ 11 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่มี 2 ชนิด คือ วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) และ วัคซีนรวมบาดทะยัก คอตีบ (Td)
คำแนะนำในการฉีดวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap)
- ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ควรฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของคอตีบและบาดทะยัก อย่างน้อย 3 เข็ม โดย
– เข็มที่ 1 ห่างจาก เข็มที่ 2 อย่างน้อย 1 เดือน
– เข็มที่ 2 ห่างจาก เข็มที่ 3 อย่างน้อย 6 เดือน
โดยเข็มแรกแนะนำฉีดวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) เข็มที่ 2 และ เข็มที่ 3 อาจฉีดเป็น บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) หรือ บาดทะยัก คอตีบ (Td) ก็ได้
- วัยรุ่นอายุ 11 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ การฉีดกระตุ้นแนะนำให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) อย่างน้อย 1 คร้ังในช่วงชีวิต หลังจากนั้นฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) หรือ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ (Td) ทุก 10 ปี
- ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีในบ้าน อาจฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) เพื่อป้องกันโรคไอกรนที่อาจแพร่สู่ทารก หากไม่เคยฉีดวัคซีน Tdap มาก่อน
- หากมีบาดแผลจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยักกระตุ้น (Td) ถ้าเป็นแผลความเสี่ยงสูง เช่น แผลที่ปนเปื้อนดิน ทราย หรือแผลโดนสัตว์กัด ต้องฉีดกระตุ้นหากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 5 ปี และถ้าเป็นแผลความเสี่ยงต่ำให้ฉีดกระตุ้นหากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 10 ปี