จิตเวช: นอน… ใครว่าไม่สำคัญ
นอน… ใครว่าไม่สำคัญ
น.พ.ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง
จิตแพทย์
เมื่อก่อนหากมีใครกล่าวว่า “ กินได้นอนหลับ ” ย่อมถือว่าโชคดีมหาศาลแล้ว ผมก็เคยเชื่อตามนั้น แต่เดี๋ยวนี้ เราคำนึงถึงคุณภาพชีวิตกันมากขึ้น มิใช่สักแต่กินจนเป็นโรคอ้วน หรือนอนหลับฝันร้าย ก็คงไม่เอาด้วย
ปัญหาการนอน เห็นทีจะปล่อยปละละเลยไม่ได้อีกแล้ว หากพิจารณาปัญหาการนอนใน เชิงปริมาณ ก็จะเป็นเรื่อง นอนไม่หลับ นอนน้อยไม่เพียงพอ และในทางตรงข้ามคือ นอนมากเกินไป ส่วนปัญหาการนอนใน เชิงคุณภาพ ก็คือ นอนฝันร้าย และนอนละเมอเดิน
อาการนอนไม่หลับ (Insomnia)
เกิดจากการเจ็บป่วยทางกาย เช่น เจ็บปวดของอวัยวะต่าง ๆ ไอหอบเหนื่อยของโรคทางปอดและหัวใจ เป็นต้น และการเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น เครียดวิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว สับสน เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาการนอนไม่หลับอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงจังหวะเวลาของการตื่นหลับกะทันหัน (circadian rhythm) เช่น เดินทางโดยเครื่องบินไปต่างประเทศที่เรียกว่า Jet-lag หรือการเปลี่ยนกะทำงานจากกลางวันเป็นกลางคืน เป็นต้น ในคนอ้วน หรือทางเดินหายใจส่วนบนแคบ ก็อาจหยุดหาย ๆ เป็นพัก ๆ ทำให้ขาดออกซิเจนต้องตื่นบ่อย ๆ และบางรายนอนไม่หลับโดยไม่ทราบสาเหตุก็มี
อาการนอนหลับมากไป (Hypersomnia)
จะนอนหลับตอนกลางคืนระหว่าง 8-12 ชั่วโมง และมักงีบหลับตอนกลางวันด้วย นานกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อตื่นก็ยังไม่สดชื่น ขาดสมาธิ ดูเหมือนเฉี่อยช้าและขี้เกียจ บางรายมีอาการ Cataplexy ร่วมด้วย กล่าวคือ เกิดภาวะที่กล้ามเนื้อของแขนขา หรือลำตัวหมดกำลัง ทำให้ทรุดตัวล้มลงทันทีทันใด ซึ่งเรียกว่า โรค Narcolepsy
อาการนอนฝันร้าย (Nightmare and sleep terror)
มักเกิดในเด็ก และเกิดขณะกำลังฝันเกี่ยวกับเรื่องราวที่เป็นอันตราย หรือภายหลังประสบเหตุการณ์ที่ร้ายแรงในชีวิต ขณะฝันร้ายอาจพูด ร้องส่งเสียงดัง หรือออกท่าทางต่าง ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ตื่นขึ้นจะรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล หรือสับสนบ้าง และอาจมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติทำงานเพิ่มขึ้น ใจเต้นใจสั่น เหงื่อออกมาก หอบเหนื่อย หน้าตาแดง กล้าเนื้อตึงเครียด เป็นต้น
อาการนอนละเมอเดิน (Sleepwalking)
มักเกิดอาการในช่วงแรกของการหลับ โดยแสดงพฤติกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น ลุกขึ้นนั่งบนเตียง มองไปมองมา จับผ้าห่มหรือหมอน รายที่เป็นมากจะลุกขึ้นยืน เดินไปเดินมา เดินออกนอกห้อง ขึ้นลงบันได หรือเดินออกนอกบ้าน รับประทานอาหาร พูดคนเดียว วิ่งหรือพยายามหนีจากอันตรายที่รู้สึกในขณะนั้น โดยทั่วไป
พฤติกรรมจะไม่ซับซ้อน กินเวลาหลายนาทีถึงครึ่งชั่วโมง แล้วนอนต่อจนถึงเช้า
บางรายพบว่านอนอยู่ที่อื่นที่มิใช่เตียงนอนของตนก็มี
การแก้ปัญหาการนอน ทุกรายต้องค้นหาและรักษาที่สาเหตุเสมอ ซึ่งอาจเกิดจากโรคทางกายหรือจิตใจ
1. การรักษาอาการนอนไม่หลับ ใช้หลักสุขอนามัยของการนอน และ/หรือใช้ยาคลายกังวล ยาด้านเศร้า หรือยานอนหลับเท่าที่จำเป็น ส่วนในรายที่เปลี่ยนเวลานอน ให้ค่อย ๆ ปรับเวลานอนของตนให้ใกล้เคียงกับเวลาท้องถิ่นให้มากที่สุดและในรายที่อ้วน ให้ลดน้ำหนักลง ใช้ไม้กดลิ้นให้ทางเดินหายใจโล่ง และให้ดมออกซิเจนก่อนนอน
2. การรักษาอาการนอนหลับมากไป อาจใช้ยากระตุ้นสมองบางชนิด ภายใต้การดูแลของแพทย์
3. การรักษาอาการนอนฝันร้าย โดยทั่วไปถ้าอาการไม่มาก จะหายได้เอง ปลอบผู้ป่วยให้สบายใจ แต่บางรายอาจให้ยาคลายกังวลได้
4. การรักษาอาการนอนละเมอเดิน ให้ระวังปิดประตูหน้าต่างห้องนอนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และให้ยาคลายกังวลร่วมด้วย