กุมารเวช: หลับตาย…สายใจของแม่
หลับตาย…สายใจของแม่
โดย คณะแพทย์โรงพยาบาลพระรามเก้า
ชื่อเรื่องฟังแล้วใจหาย มีด้วยหรือที่ทารกเข้านอนแล้วก็หลับไม่ตื่น เคยได้ยินแต่ผู้ใหญ่อายุมาก ชราภาพแล้วปลิดจากขั้วเหมือนใบไม้แห้งกรอบ และคนอีสานที่ไปขายแรงงานยังถิ่นไกล กินแต่ข้าวเหนียวจิ้มแจ่วแล้วไหลตาย
แต่เชื่อหรือไม่ว่าจากสถิติของทารกที่หลับตายพบว่าทารกมีอายุระหว่าง 1 เดือน ถึง 1 ปี โดยทารกจำนวน 95% มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ส่วนใหญ่มีอุบัติการสูงสุดเมื่อทารกอยู่ระหว่าง 2 เดือน ถึง 4 เดือน
ลองนึกภาพเด็กทารกอายุ 3 เดือน กำลังน่ารักน่าชัง แม่เห่กล่อมจนหลับพริ้มอยู่ข้างกาย ตื่นเช้าขึ้นมาตัวเขียวและเย็นเฉียบ แม่เขย่าปลุกเท่าไรก็ไม่ตอบสนองเสียงหวีดร้องของแม่ที่หัวใจแตกสลายจะดังแค่ไหนคงวาดภาพออก
ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา “หลับตาย” (Sudden Infant Death Syndrome:SIDS) เป็นสาเหตุของการตายในทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีเป็นอันดับที่ 1 การตายกระทันหันแบบนี้พ่อแม่ยอมรับไม่ได้เลย พาไปโรงพยาบาลให้หมอช่วย
ในประเทศไทยเราไม่ได้พบบ่อยนักคงเป็นเพราะเมื่อทารกหลับตาย พ่อแม่ไม่พามาโรงพยาบาล เพราะเห็นว่าหมอคงช่วยให้ฟื้นไม่ได้ เราเป็นชาวพุทธจะรับเรื่องการตายได้เร็ว เพราะ “แล้วแต่บุญกรรมหรือทำบุญมาเท่านี้”
คุณยายของข้าพเจ้าเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อคุณยายแต่งงานกับคุณตาได้ไม่นาน ก็มีลูกคนแรกมาเชยชมเป็นหญิงผิวขาวเนียน ตาโต ผมดำขลับ เหมือนตุ๊กตา คุณยายตั้งชื่อให้ว่า หนูริกิ
ริกิอ้วนจ้ำม่ำ กินเก่ง หัวเราะเก่ง เพื่อนบ้านขอบขออุ้มเพราะน่ารักเหลือหลาย คุณยายจำได้ว่าริกิโตจนเริ่มคว่ำได้แล้ว
ก่อนที่จะเกิดเรื่องขึ้น มีชายแปลกหน้าเดินเข้ามาในบ้านขณะที่คุณยายกำลังอุ้มริกิเดินอยู่หน้าบ้านชายแปลกหน้าถามทางไปบ้านเพื่อนแถวนั้น คุณยายก็ชี้ทางให้ก่อนจะออกจากบ้านเขาออกปากขออุ้มหนูริกิ คุณยายใจดีก็ให้อุ้ม เขาอุ้มเชยชมอยู่ครู่ใหญ่ ก็ส่งคืนให้แล้วพูดว่า “น่ารักเหมือนลูกเทวดา ไม่น่าเชื่อว่าจะมีเด็กน่ารักอย่างนี้บนพื้นดิน”
คุณยายรู้สึกใจหายวาบ ตัวเย็นรับริกิมาโอบกอดไว้อย่างกลัวจะหลุดหายเขาหัวเราะหึๆ แล้วก็เดินจากไป
คืนนั้นคุณยายกลุ่มริกิจนหลับคาเต้านมแล้วก็วางไว้ข้างตัวบนที่นอน รุ่งเช้าริกิตัวเขียว เย็นเฉียบ ไม่มีอาการใดที่แสดงให้เห็นว่ายังมีชีวิตอยู่ คุณยายหัวใจแตกสลาย เป็นลมสลบแล้วสลบอีก
เมื่อเล่าเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง คุณยายบอกว่าเทวดาคงจะมารับกลับ และมาบอกให้รู้ว่าหนูริกิคือเทวดาหนีมาเกิดในโลกมนุษย์ เมื่อคิดอย่างนี้คุณยายก็รู้สึกดีขึ้น มีลูกต่อมาเป็นแถวถึง 11 คน
สมัยนั้นข้าพเจ้ายังเรียนชั้นมัธยมตอนต้น คิดว่าตัวเองเชื่อคุณยายเรื่องหนูริกิหนีมาเกิดในโลกมนุษย์ แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าเป็นหมอเด็ก วินิจฉัยโรคของป้าริกิได้ว่าคงเป็นเหยื่อคนหนึ่งของโรคหลับตายหรือ SIDS
ขณะเรียนแพทย์ไม่มีใครสอนเรื่องนี้กันเท่าใดนัก เพราะไม่พบ “หลับตาย” ในเมืองไทยกันบ่อย เมื่อข้าพเจ้าไปทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกเด็กที่สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งอยู่เวรที่ห้องฉุกเฉิน รถพยาบาลพาแม่ลูกคู่หนึ่งเข้ามา แม่กอดห่อผ้าแนบอก ปากร้องหวีดและโวยวาย น้ำตานองหน้า ผมเป็นกระเชิง ไม่มีสติสตังติดตัวอยู่เลย คุณพยาบาลเข้าไปแกะห่อผ้าอยู่นาน อธิบายจนสำเร็จยอมส่งห่อผ้าให้เราจากนั้นคุณพยาบาลก็พาเธอออกไปคอยนอกห้องปฐมพยาบาลซึ่งเธอยังคงหวีดร้องไม่ยอมหยุด แถมด้วยการตีอกชกหัวตัวเอง
ในห่อผ้านั้นเป็นเด็กทารกอายุราว 3 เดือน อ้วนจ้ำม่ำ แต่ตัวเขียวคล้ำ และเย็นเฉียบ เราพยายามปฏิบัติการช่วยชีวิต แต่ไร้ผล
เพียงครู่เดียวญาติพี่น้องของแม่เด็กก็มากันเต็มไปหมดนับได้เกินห้าสิบคน คุณพยาบาลบอกว่าเป็นพวกยิปซี พวกนี้อยู่เป็นกลุ่มก้อนรักกันเหมือนพี่น้องรับผิดชอบต่อคนในกลุ่มดีมาก
เมื่อสามีของแม่เด็กเข้ามา คำแรกที่เขาถามข้าพเจ้าก็คือ “เด็กตายแล้วใช่ไหม”
ข้าพเจ้าโกรธมาก นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาโทษกัน นี่เป็นเวลาที่ต้องปลอบโยนเห็นใจกัน ข้าพเข้าอธิบายให้เขาฟังว่าไม่ใช่การนอนทับตายแต่เป็นการหลับตายที่ยังไม่มีใครรู้สาเหตุ
ในวงการแพทย์รู้สาเหตุของการหลับตายของเด็กแต่เพียงว่าเด็กที่มีอัตราเสี่ยงสูงต่อการหลับตาย ได้แก่ เด็กคนนั้นเคยมีพี่หลับตายมาก่อน, เป็นเด็กผู้ชายกินนมขวดเพิ่มผ่านการเจ็บไข้ได้ป่วยมาหยกๆ , มีคนสูบบุหรี่ในบ้าน หรือนอนคว่ำบนที่นอนซึ่งนุ่มนิ่ม
ความจริงอัตราเสี่ยงพบได้ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์แล้ว โดยแม่ที่สูบบุหรี่ติดยาเสพติดลูกก็มีอัตราเสี่ยงต่อการหลับตายสูงเด็กที่คลอดน้ำหนักตัวเบากว่าสองกิโลครึ่ง หรือเด็กคลอดก่อนกำหนดพวกนี้อัตราเสี่ยงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
จากการผ่าศพเด็กที่หลับตาย จะไม่พบคำอธิบายสาเหตุการตายที่พิสูจน์ได้ว่ามีพยาธิสภาพ
สมัยก่อนนี้ในอเมริกานิยมให้เด็กทารกนอนคว่ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเด็กที่นอนคว่ำมีอุบัติการหลับตายสูงกว่าเด็กนอนหงาย
จึงมีการรณรงค์ให้พ่อแม่รุ่นใหม่จับเด็กนอนหงาย โดยสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics : AAP) ให้คำแนะนำแก่สังคมทั่วไปให้พร้อมใจกันจับเด็กนอนหงายพบว่าอุบัติการของการหลับตายลดลงร้อยละ 32
คนไทยมีความเชื่อว่านอนคว่ำเด็กจะหัวทุยสวยงามตามอย่างเด็กฝรั่งจึงมีการนอนคว่ำมากขึ้นทุกวัน
ไม่มีใครรู้ว่าเพราะคนไทยนอนหงายเราจึงไม่ค่อยหลับตายหรือว่ามีเด็กหลับตายบ้าง แต่พ่อแม่ไม่พามาโรงพยาบาล
แต่ถ้าเรานิยมนอนคว่ำเลียนแบบฝรั่งที่เขาเลิกกันแล้ว ใครจะรู้ว่าเราอาจจะมีเด็กหลับตายเพิ่มจำนวนมากขึ้นเหมือนครั้งหนึ่งในอเมริกาก็ได้