ความสำคัญของไต
โรคไตวายเรื้อรังและการรักษา
นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์
Diplomate, American Board of
Internal Medicine and Nephrology
คนเราเกิดมามีไตอยู่ 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไต คือ การขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายออกทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและร่างกายคนเราสะอาด, ของเสียที่ไตต้องขับออกส่วนหนึ่งมาจากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และอีกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ถ้าคนเราไม่มีไต หรือไตวายหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและในร่างกาย ทำให้เลือดและร่างกายสกปรก ในที่สุดอวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็จะเป็นพิษ หยุดทำงานและเสียชีวิต
หน้าที่ของไต
นอกจากหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายแล้ว ไตยังทำหน้าที่สำคัญๆ อื่นๆ ได้แก่
- ควบคุมความดันโลหิต (คนไข้ไตไม่ดีจะมีความดันโลหิตสูง)
- ผลิตฮอร์โมน Erythropoietin ที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (คนไข้โรคไตวายจะมีเลือดจาง เลือดน้อย )
- ควมคุมปริมาณน้ำและระดับเกลือแร่ในร่างกาย (คนไข้โรคไตจะมีอาการบวม, เกลือแร่ผิดปกติ, ถ้าเกลือ
โปแตสเซียมผิดปรกติจะทำให้หัวใจเต้นผิดปรกติ , เป็นอันตรายต่อชีวิตได้) - ควบคุมความเป็นกรดด่างในร่างกาย (คนไข้โรคไตวายจะมีสภาพความเป็นกรดสูงมาก ทำให้อวัยะวะต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปรกติและเสียชีวิตได้)
- ควบคุมการสร้างวิตามินดี แคลเซียมและฟอสฟอรัส (คนไข้โรคไตวาย ขาดวิตามินดีทำให้แคลเซียมต่ำ , กระดูกเปราะบางพรุน)
ภาวะไตวา่ย
ถ้าเกิดภาวะไตวาย, ไตหยุดทำงาน ของเสียจะคั่งค้างในเลือดและในร่างกายมากๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร, คลื่นไส้, อาเจียน, อ่อนเพลีย, ซีดโลหิตจาง, คันตามตัว, มีจ้ำตามตัว, อาเจียนเป็นเลือด, ท้องเดิน, ความดันโลหิตสูง, หัวใจล้มเหลว, หัวใจเต้นผิดปรกติ, หายใจลำบาก, ไอเป็นเลือด, น้ำท่วมปอด, กระดูกเปราะบางหักง่าย, ปวดกระดูก, ถ้าของเสียค้างในสมองมากๆ จะมีอาการชักและสมองหยุดทำงาน นอกจากนี้ผู้ป่วยจะเป็นหมัน และหมดสมรรถภาพทางเพศ ถ้าเกิดโรคไตวายในเด็ก เด็กจะแคระแกร็นหยุดเจริญเติบโต
สาเหตุของโรคไต
สาเหตุของโรคไตที่พบบ่อยๆ คือ
- ไตวายจากโรคเบาหวาน
- ไตวายจากโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง
- ไตวายจากโรคเก๊าท์และนิ่วในไต
- ไตวายจากโรคเนื้อเยื่อไตอักเสบ (Glomerulonephritis), โรค SLE,
โรคไตวายเรื้อรังจากโรคบางโรค สามารถป้องกันได้แต่เนิ่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ โรคนิ่วในไต ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาควบคุมให้ดีก็จะลดโอกาสการเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไตวายถาวรแล้วไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ปัจจุบันนี้วงการแพทย์เราก็มีวิธีรักษาผู้ป่วยไตวายให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
วิธีรักษาโรคไต
วิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังมี 3 วิธี
วิธีแรก คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีของเสียคั่งค้าง ผ่านเข้าไปในเครื่องกรองเลือด ซึ่งจะกรองของเสียจากเลือดและนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ต้องทำเป็นเวลา 3-5 ชม. และต้องทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หลังฟอกเลือดแล้วผู้ป่วยจะมีเลือดที่สะอาด ร่างกายจะสดชื่นแข็งแรงขึ้น สามารถดำรงชีวิตได้เกือบเหมือนปรกติ แต่ต้องมาฟอกเลือดเป็นประจำตลอดไป
วิธีที่สอง คือวิธีล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องตนเอง ครั้งละ 2 ลิตร วันละ 4 ครั้งๆ ละ 4-8 ชม. ทุกๆ วัน ขณะที่น้ำยาอยู่ในช่องท้อง ของเสียต่างๆ ที่เป็นพิษคั่งค้างอยู่ในร่างกายจะซึมจากกระแสเลือดเข้าสู่น้ำยาในช่องท้อง เลือดก็จะสอาด ผู้ป่วยก็จะมีสภาพร่างกายที่สดชื่นแข็งแรงขึ้น แต่ต้องล้างช่องท้องเป็นประจำตลอดไป
วิธีที่สาม คือการเปลี่ยนไตหรือปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด ไตที่นำมาปลูกใส่ให้กับผู้ป่วยอาจจะมาจากญาติ คือ พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หลาน, ลุง, ป้า, น้า, อา หรือในบางกรณีมาจากสามี ภรรยา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผู้บริจาคจะบริจาคไต 1 ข้าง ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง คนเราปรกติมีไต 2 ข้าง สามารถบริจาคไตให้ญาติพี่น้องได้ 1 ข้าง เหลือเพียง 1 ข้าง ก็สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปรกติ, อายุยืนเหมือนคนปรกติ ในกรณีที่ไม่มีญาติพี่น้องบริจาคไตให้ ผู้ป่วยจะต้องรอรับไตบริจาคจากผู้ป่วยอื่นที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ ซึ่งในประเทศไทย สภากาชาดจะเป็นผู้รับบริจาคและเป็นผู้จัดสรรไตอุบัติเหตุนี้ให้แก่คนไข้ไตวาย
ปัจจุบันแพทย์ไทยเรามีความรู้ความสามารถในการผ่าตัดเปลี่ยนไตประสบผลสำเร็จได้ดีทัดเทียมกับต่างประเทศ ผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนไตสำเร็จแล้ว จะสามารถมีชีวิตยืนยาวและดำรงชีวิตด้วยคุณภาพที่ดี ประกอบอาชีพได้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยคนไทยที่ได้รับการเปลี่ยนไตไปแล้วหลายพันคน หลายๆ สาขาอาชีพ เช่น ทหาร, ตำรวจ, แพทย์, ทันตแพทย์, วิศวกร, ทนายความ, ดารา, นักการเมือง , นักธุรกิจ ฯลฯ หลังเปลี่ยนไตผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้ สามารถทำประโยชน์ต่างๆ ให้สังคมได้เหมือนคนปกติ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
สถาบันปลูกถ่ายไต
โรงพยาบาลพระรามเก้า 02-202-9999 ต่อ 2460