จิตเวช: เห็น…(จิต)…ใจคนแก่บ้าง
เห็น…(จิต)…ใจคนแก่บ้าง
โดย นพ.ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง
โปรดอย่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องพรรค์นั้นนะครับ ผมหมายถึง “ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ” ต่างหาก เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ท่านรักต้องจมอยู่กับความทุกข์ทรมาน มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และเป็นภาระให้กับคนใกล้ชิด ใส่ใจท่านสักนิด ดูแลท่านสักหน่อย ให้การป้องกันหรือรีบพาไปตรวจรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ปัญหาต่างๆ ก็จะหมดไป หรืออย่างน้อยก็สามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้
ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ ที่พบบ่อย ได้แก่
1. ปัญหานอนไม่หลับ
โดยธรรมชาติคนเราเมื่ออายุมากขึ้น การนอนรวดเดียวในตอนกลางคืนจะน้อยลง ผู้สูงอายุจึงมักแอบงีบตอนกลางวันเพื่อตุนไว้ก่อน โรคทางกายหลายโรคอาจรบกวนการนอนได้ เช่น ปวดเมื่อยตัว ปวดกระดูก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ เป็นต้น ส่วนโรคทางจิตใจ มักเกิดจากภาวะวิตกกังวล หรือซึมเศร้า เป็นต้น
2. ภาวะวิตกกังวล
พบได้ถึงร้อยละ 5.5 ของผู้สูงอายุชาวอเมริกัน ผู้สูงอายุจะรู้สึกเครียดง่าย เนื่องจากปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ยาก ความสามารถและประสิทธิภาพลดลง อาจกลัวตาย หรือย้ำคิดย้ำทำ
3. ภาวะซึมเศร้า
พบได้ถึงร้อยละ 15 ของผู้สูงอายุชาวอเมริกัน ผู้สูงอายุจะรู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ น้ำหนักลด เจ็บโน่นเจ็บนี่ ถ้าซึมเศร้ามากๆ จะร้องไห้บ่อย ไม่เชื่อมั่นตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกตัวเองไร้ค่า บางคนถึงกับทำร้ายตัวเองได้
4. ภาวะความจำเสื่อม
มักเป็นส่วนหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม ในอเมริกาพบว่าที่เป็นระดับน้อยมีร้อยละ 15 ระดับมากมีร้อยละ 5 ของผู้สูงอายุ โดยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60 ของโรคสมองเสื่อม รองลงมาเป็นโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด
5. ภาวะติดเหล้าติดยา
ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งดื่มเหล้าจัด ดื่มเรื้อรัง หรือใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม เช่น ติดยานอนหลับ หรือยาแก้ปวด เป็นต้น
6. ภาวะเจ็บป่วยทางกายที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ
มีหลายโรคในผู้สูงอายุที่เกิดจากสาเหตุทางจิตใจโดยตรง หรือ โดยอ้อม เช่น อาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้อง เป็นต้น บางครั้งภาวะทางจิตใจก็อาจส่งผลต่อการรักษา เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ยอมร่วมมือในการกินยา ฉีดยาจนอาการน่าเป็นห่วง เป็นต้น
7. ภาวะโรคจิต
ผู้สูงอายุบางรายอาจมีอาการของโรคจิต เช่น สับสนในกาลเวลา สถานที่ บุคคล หรือ มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิดระแวงคู่ครองมีชู้ มีคนใส่ยาพิษในอาหาร หรือปองร้ายเอาชีวิตเพื่อทรัพย์สมบัติของตน เป็นต้น การให้ยาทางจิตเวชในผู้สูงอายุ
เนื่องจากตัวยาที่ผู้สูงอายุกินเข้าไป จะสะสมในร่างกายนานกว่าปกติ ตับและไตต้องทำงานหนักขึ้น ดังนั้น หลักทั่วไปในการให้ยากับผู้สูงอายุ คือ เริ่มให้ยาทีละน้อยก่อน ค่อยๆ ปรับขนาดยาจนได้ฤทธิ์ตามต้องการ โดยใช้ยาในขนาดต่ำสุด ควรใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ขับออกจากร่างกายเร็ว เกี่ยวข้องกับตับไตน้อย มีผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายน้อย และมีผลต่อยาตัวอื่นทั้งเสริมฤทธิ์ หรือล้างฤทธิ์น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
มาร่วมกันใส่ใจในสุขภาพกายและสุขภาพจิต แด่ท่านผู้สูงอายุในบ้านของเราเถอะครับ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป.