คนทั่วไปเมื่ออดอาหาร น้ำตาลในเลือดลดลง ร่างกายจะมีกลไกเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในร่างกายโดยผ่านทางระบบประสาทอัตโนมัติและฮอร์โมน เช่นใช้ glycogen ที่สะสมอยู่ที่ตับ ใช้พลังงานจากไขมันที่สะสมไว้แทน แต่ผู้ป่วยเบาหวานที่น้ำตาลไม่ได้ต่ำโดยธรรมชาติแต่เกิดจากยาเบาหวานนั้น กลไกช่วยเหลือของร่างกายอาจไม่เพียงพอจนทำให้มีอันตรายถึงหมดสติได้
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำพบได้เรื่อยๆในผู้ป่วยเบาหวานที่พยายามควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี เมื่อกินอาหารได้น้อย กินอาหารผิดเวลา ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมมาก จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ จึงควรที่จะรู้จักภาวะนี้ให้ดี ผู้ป่วยส่วนหนึ่งรู้จักอาการแต่แก้ไขไม่ถูกต้องจึงทำให้น้ำตาลกลับเป็นตรงข้าม คือสูงขึ้นจนน่ากลัว
Q: ผู้ป่วยเบาหวานคนไหนบ้างเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ?
A : – ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานไม่รุนแรงรักษาโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายโดยไม่ใช้ยาเบาหวานไม่เสี่ยงต่อภาวะนี้
– ผู้ป่วยใช้ยาที่ไม่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำ ได้แก่
- Metformin หรือ glucophage
- Pioglitazone หรือ actos หรือ ulmos
- Januvia หรือ glavus
- Glucobay, Basen
* ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้แม้หลายตัวรวมกันก็มักไม่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
– ผู้ป่วยที่ใช้ยาที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่
- ยากลุ่ม Sulfonyluria ได้แก่ glibenclamide(daonil) , glibenclamide(minidiab), glimepiride(amaryl) , gliclazide(diamicron)
- ยากลุ่ม novonorm
- ยาฉีดอินซูลินทุกชนิด
Q : ทำไมจึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ?
A : ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุล ของอาหาร ปริมาณยากิน ยาอินซูลิน กิจกรรมในวันนั้น และการเจ็บป่วย
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่
- ได้รับยารักษาเบาหวานที่ไม่เหมาะสมทั้งชนิดของยา ขนาดยามากเกิน และเวลาบริหารยา
- กินอาหารปริมาณน้อยกว่าเดิมหรือไม่เพียงพอ หรือมื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนเวลาออกไปจากเวลาปกติ และการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบอาหารทำให้ปริมาณคาร์โบไฮเดรตลดลง
- มีการใช้กลูโคสเพิ่มขึ้น เช่น ออกกำลังกายมากขึ้น
- การผลิตกลูโคสที่ตับ น้อยลง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ โรคตับแข็ง
- ร่างกายมีความไวต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น เช่น น้ำหนักตัวลดลง ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
- การกำจัดอินซูลินหรือยารักษาเบาหวานลดลง เช่น การทำงานของไต หรือ ตับ เสื่อมลง
- สูงอายุ
- มีการควบคุมเบาหวานอย่างเข้มงวดโดยกำหนดระดับเป้าหมาย HbA1c และ ระดับน้ำตาลในเลือดที่ใกล้เคียงระดับปกติมากหรือที่ระดับปกติ
- เคยมีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดโดยเฉพาะระดับรุนแรงเกิดขึ้นมาก่อน
- เคยมีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดโดยไม่มีอาการเตือนเกิดขึ้นมาก่อน
Q : อาการอย่างไรบ่งว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ ?
A : อาการแตกต่างไปในแต่ละคน อาการเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้น และอาการสมองขาดน้ำตาล
อาการที่พบได้ เช่น ตัวสั่น มือสั่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย เหงื่อแตก หิว ตามัว หน้าซีด อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิด เศร้า โมโห โดยไม่มีเหตุผล เซื่องซึม สับสน สมาธิสั้น ชาบริเวรรอบปาก เป็นลม หมดสติ ชัก เป็นต้น
หากมีเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้วพบว่า น้ำตาลน้อยกว่า 70 มก.ดล. หรือขึ้น Lo แสดงว่าน้ำตาลในเลือดต่ำ หากไม่สามารถเจาะน้ำตาลได้ทันทีแต่มีอาการชัดเจน ควรรักษาแก้ไขเบื้องต้นก่อนเช่นกัน
Q : หากน้ำตาลต่ำแล้วควรทำอย่างไร ?
A : แบ่งความรุนแรงเป็นสองระดับตามความรู้สึกตัว
1. ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวช่วยเหลือตนเองได้ ให้กินคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมเร็ว 15-20 กรัม หรือ 1 ส่วน รอ 15 นาที เจาะน้ำตาลปลายนิ้วใหม่ ถ้าน้ำตาลในเลือดยังต่ำอยู่ กินคาร์โบไฮเดรตอีก 15-20 กรัม จนกว่าน้ำตาลมากกว่า 70มก.ดล.
กรณีเป็นก่อนมื้ออาหาร ควรกินอาหารทันที หากเป็นระหว่างมื้ออาหาร ให้กินคาร์โบไฮเดรต ดูดซึมช้า 1 ส่วน
ปริมาณคาร์โบไอเดรตชนิดดูดซึมเร็ว 15 กรัม |
*(อย่างใดอย่างหนึ่ง) |
ลูกอม 3 เม็ด |
น้ำผลไม้ 120-180 ซีซี |
น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ |
น้ำผึ่ง เฮลบลูบอย 1 ช้อนโต๊ะ |
ปริมาณคาร์โบไอเดรตชนิดดูดซึมช้า 15 กรัม |
*(อย่างใดอย่างหนึ่ง) |
ขมนปัง 1 แผ่น |
กล้วยหรือแอ๊ปเปิ้ล 1 ลูก |
โยเกิร์ต 200 กรัม |
นมจืด 1 กล่อง |
ข้าวต้ม หรือโจ๊ก ½ ถ้วย |
** ข้อควรระวัง
ผู้ป่วยมักกินน้ำตาลมากเกินไป เนื่องจากอาการไม่ดีขึ้นทันที ทำให้น้ำตาลขึ้นสูงมาก ให้รอประเมินผลที่ 15 นาที
*** ของหวานที่ใช้ไม่ได้
ช็อคโกเลต คุ้กกี้ เค้ก เนื่องจากมีไขมันสูง ทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลง
2. หากผู้ป่วยหมดสติ หรือรู้สึกตัวแต่ช่วยตัวเองไม่ได้ จัดเป็นน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง
- โทรตามรถพยาบาล
- ถ้าหมดสติห้ามให้น้ำหวานหรือลูกอมเนื่องจากอาจสำลักได้
- ห้ามใส่มือหรือช้อนเข้าไปในปาก
น้ำตาลต่ำขณะนอนหลับ
เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ ถ้ากินอาหารมื้อเย็นน้อย หรือออกกำลังกายหนัก อันตรายเนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัวตื่นมากินน้ำหวานแก้ไขได้ทัน
สังเกตอาการ ดังนี้
- ชุดนอนเปียกเหงื่อ
- ปวดศรีษะเมื่อตื่นนอน
- ฝันร้าย
- ไม่รู้สึกพักผ่อน ยังเพลีย
วิธีแก้ไข
ตรวจเช็คระดับน้ำตาลปลายนิ้ว ช่วง 02.00-0.300 ถ้าน้อยกว่า 70 มก.ดล. ให้กินคาร์โบไฮเดรต1 ส่วน และปรึกษาแพทย์
* ข้อแนะนำ
แนะนำให้ตรวจน้ำตาลช่วงเที่ยงคืนบ้างโดยเฉพาะถ้าวันไหนมีกิจกรรมมากเป็นพิเศษ
Q : ป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้อย่างไร ?
A : เมื่อมีอาการน้ำตาลต่ำเกิดขึ้น ควรบันทึกปริมาณยากิน ยาอินซูลิน ปริมาณอาหารที่กินก่อนมีอาการ กิจกรรม การออกกำลังกาย หรือการเจ็บป่วยทั้งหมด หากทราบว่าเกิดจากสาเหตุใดไม่สมดุลก็ปรับที่สาเหตุนั้น หากอาหารและกิจกรรมปกติ ไม่มีการเจ็บป่วยบ่งว่าขนาดยาไม่เหมาะสม แนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อปรับลดยาต่อไป
ภาวะน้ำตาลต่ำนี้แม้พบได้บ่อย แต่ไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากพบว่าทุกครั้งที่มีอาการน้ำตาลต่ำมีผลเสียต่อหัวใจ และหากเกิดอาการซ้ำบ่อยๆ อาการเตือนทางระบบประสาทอัตโนมัติจะลดลง เด่นที่อาการระบบประสาท เช่น หมดสติได้บ่อยขึ้น ดังนั้นหากมีอาการจึงควรปรึกษาแพทย์
* ข้อควรระวัง
ไม่ควรปรับยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ผู้ป่วยส่วนหนึ่งหยุดฉีดอินซูลินทันทีในมื้อที่มีอาการน้ำตาลต่ำ ทำให้มื้อต่อมาน้ำตาลขึ้นสูงมาก
แต่ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งก็ฉีดยาเท่าเดิมตลอดแม้มีอาการน้ำตาลต่าและมีไข้ไม่สบายกินอาหารไม่ได้ ทำให้น้ำตาลต่ำจนหมดสติได้ ที่ควรทำคือควรปรึกษาแพทย์