แนะนำอาหารในผู้ป่วยตับแข็ง และ ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองจากตับแข็ง
นายแพทย์ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย อายุรแพทย์ และ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางเดินอาหารและโรคตับ
- ผู้ป่วยตับแข็งอาจต้องเลี่ยงเกลือ โดยเฉพาะในรายที่บวมน้ำ ทั้งนี้ควรมีการกินอาหารให้เพียงพอ และสะอาดด้วย
- ควรทานอาหารที่สุกสะอาด ไม่ทิ้งค้าง แม้ทำใหม่ก็ตาม
- ไม่กินของหมักดอง
- ไม่กินเหล้า ยาดองเหล้า
- อย่ากินยาที่ไม่แน่ใจว่ามีผลต่อตับหรือไม่
- ขี้เหล็ก ควรทานในลักษณะแกงที่ทำสุกสะอาด ไม่ควรทานขี้เหล็กในรูปแบบอื่น
- เห็ดบางอย่างมีพิษ ควรทานเฉพาะเห็ดที่คนทั่วไปทาน รู้จักกันดี
- ไม่ควรลองอาหารแปลก ๆ เพราะอาจมีพิษต่อตับ
- ไม่ควรทาน พริกป่น ถั่วป่น ข้าวโพดแห้งที่ทิ้งค้าง เพราะอาจมีเชื้อราอัลฟ้าท๊อกซิน ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้
- การให้วิตามิน สารลดการทำลายตัวเอง ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) และอาหารเสริมอื่น ยังไม่เป็นที่ยอมรับ บ้างแนะนำให้วิตามินอีเสริมในผู้ป่วย ตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบซี ( hepatitis C )
กรณีเคยมีอาการทางสมอง เช่น สับสน มึนงง มือสั่น พูดเพ้อ แล้วแพทย์บอกว่ามีอาการทางสมองจากตับ ต้องมีข้อปฏิบัติตัวเพิ่มจากที่แนะนำด้านบนดังนี้
1. ควรทานโปรตีนที่สะอาดไม่มีพิษต่อตับโดยควรเลือกทานโปรตีนจากพืช มากกว่าจากสัตว์ เช่น ถั่ว เต้าหู้ เห็ด บางช่วงอาจต้องถึงกับงดโปรตีนทุกชนิด ขึ้นกับแพทย์แนะนำให้ทำอย่างไรครับ
2. ควรเลี่ยงการกินเนื้อทุกชนิด ไม่ว่าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่มาก ๆ รวมทั้งเครื่องในมาก ๆ ไม่ควรทานเลือดหมู
3. ถ้ามีถ่ายดำ หรือ ถ่ายเป็นเลือด ให้ปรึกษาแพทย์ด่วน
4. ระวังอย่าให้ท้องผูกควรถ่ายให้ได้วันละครั้ง บางรายอาจถึง 3-4 ครั้ง แล้วแต่แพทย์สั่ง กรณีไม่ถ่ายให้ทานยาระบายที่แพทย์สั่งให้ถ่ายทันที
5. กรณีท้องเสีย ต้องรีบรักษา เช่นกัน
6. งดยาที่ทำให้ง่วงนอนทุกอย่าง รวมทั้งยานอนหลับ หรือ ยากลุ่มอาการซึมเศร้า
7. เลี่ยงการอดหลับอดนอน เลี่ยงความเครียด
8. ห้ามขาดยา และ มาตามแพทย์นัดทุกครั้ง
9. กรณีมีไข้ เป็นหวัด ปัสสาวะบ่อยหรือแสบขัด หอบเหนื่อย ขาบวม ตัวเหลืองตาเหลือง หรือ เริ่มมีอาการทางสมองใด ๆ แม้เพียงเล็กน้อยอาการใดอาการหนึ่งก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
10. ระวังอย่าป่วยติดเชื้อ ทานอาหารสะอาด ระวังไข้หวัด ล้างมือบ่อย ๆ
11. การกินนมเปรี้ยวที่มีเชื้อ Lactobacillus อาจช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่แพ้นม หรือ แพทย์อนุญาต นะครับ
การออกกำลังกาย โดยทั่วไปปลอดภัยในผู้ป่วยตับแข็ง แต่ในรายที่เป็นระยะท้ายอาจไม่เหมาะสม เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในเส้นเลือดขอดในท้อง ( variceal bleeding )
การเปลี่ยนตับ LIVER TRANSPLANTATION
– ตามที่กล่าวด้านบน การเปลี่ยนตับใหม่ จากผู้ป่วยที่เสียชีวิต หรือ มีอาการสมองรุนแรงใกล้เสียชีวิต (ปัจจุบันเริ่มมีรายงานบริจาคตับครึ่งหนึ่งให้กันด้วย แต่ยังไม่เป็นวิธีมาตรฐาน) ผลการเปลี่ยนตับเริ่มดีขึ้นมากในต่างประเทศถึง 80 % เลยทีเดียว และอายุยืนยาวมากกว่า 5 ปีเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับโอกาสเสียชีวิตในโรคตับแข็งระยะท้าย ๆ จากติดเชื้อ โรคสมองบ่อย ๆ และการมีน้ำในท้องรักษายาก ขึ้นกับสาเหตุด้วย เช่น ไวรัสซี เหล้า อาจมีอาการต่าง ๆ ดีขึ้นหลังการรักษา ไม่ต้องเปลี่ยนตับก็อาจดีขึ้นได้, ในเมืองไทยผลการเปลี่ยนตับได้ผลดีพอควร รอการรายงานสรุปอยู่