1. โรคกระเพาะ (โรคกระเพาะที่เกิดจากกรด) คืออะไร ?
คือภาวะอักเสบ หรือ แผลในส่วนของกระเพาะ ( stomach, gastritis, gastric ulcer) หรือ ในลำใส้เล็กส่วนต้น ( duodenum, duodenitis, duodenal ulcer) ที่เกิดจากกรดในกระเพาะ, ปกติแล้วอวัยวะ 2 ส่วนนี้จะโดนกรด และ น้ำย่อยแทบตลอดเวลา จะมีกลไกป้องกันอยู่ในตัวได้แก่ มีเมือกหนาป้องกัน (coating of mucus (mucous layer)), มีการสร้างด่างเพื่อลดกรดที่มาระคายเคืองผิว และซ่อมแซมตัวเองได้เร็ว จึงไม่เกิดปัญหาอาการ ความผิดปกติของการหลั่งกรดมากเกินปกติ เกิดการอักเสบของกระเพาะ หรือ กลไกการป้องกันดังกล่าวผิดปกติไป จะทำให้เกิดโรคกระเพาะกลุ่มนี้ขึ้นได้
2. อาการของโรคกระเพาะ มีอะไรบ้าง ?
อาจมาด้วยอาการหลายแบบ หรือ อาจไม่มีอาการขณะที่กระเพาะมีปัญหาอยู่ก็ได้ ได้แก่
1. กลุ่มที่คล้ายกรดมากในกระเพาะ
• ปวดแสบ จี๊ด คล้ายหิว ท้องร้อง
• ทานอาหาร หรือ ดื่มน้ำมาก ๆ แล้วเหมือนชะล้างให้กรดเจือจาง จึงอาการดีขึ้นหลังกินอาหาร
• กินอาหารเปรี้ยว หรือ เผ็ด เกิดแสบท้อง
2. กลุ่มอาการที่คล้ายลมมาก กระเพาะบีบเกร็ง แน่น
• ปวด อืด หรือ อึดอัดไม่สบายในท้องด้านบน (upper abdomen)
• อิ่มเร็ว ไม่หิว ทานอาหารแล้วเหมือนปวดแน่นมากขึ้น กินแล้วแย่อึดอัด
• คลื่นไส้ หรือ อาเจียน
3. กลุ่มอาการคล้ายหูรูดหย่อนยาน เรอง่าย เรอเปรี้ยว
• เรอเปรี้ยว แสบขึ้นคอ
• แน่นอก อึดอัด หายใจไม่สะดวก หรืออาจแน่นคล้ายใจจะขาด โรคหัวใจ
• หอบ หายใจไม่สะดวก
4. กลุ่มอาการที่เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรคกระเพาะ หรือ แผลในกระเพาะ
• เลือดออกจากการอักเสบรุนแรง หรือ แผล ซึ่งอาจมาด้วยถ่ายเป็นสีดำ หรือ เป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด หรือ ภาวะซีดแบบไม่มีสาเหตุอื่น
• บางรายมีการทะลุแทรกซ้อน จำเป็นต้องผ่าตัดรักษาเร่งด่วนด้วย
สาเหตุด้านบนเองไม่เฉพาะแต่โรคกระเพาะเท่านั้น ควรให้แพทย์ช่วยซักประวัติ หรือตรวจเพิ่มเติม
3. อาการปวดท้อง มีสาเหตุมากมาย เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าที่เราเป็นนี้เป็นโรคกระเพาะจริง ไม่ใช่โรคอื่น
ตอบ อาการที่กล่าว จะคิดถึงโรคกระเพาะชัดเจนถ้ามี
1. อาการเข้ากับโรคนี้ชัด คือ ปวดแสบ ร้อน จี๊ด คล้ายหิวท้องร้อง
2. มีอาการมาก่อน และหายเมื่อรักษากระเพาะ
3. หายเร็วแทบทันทีหลังกินยาน้ำขาวแก้โรคกระเพาะ
4. ตำแหน่งปวดด้านบน และ ปวดบีบ
5. หลังกินอาหาร ปวดมากขึ้นแทบทันทีใน 2-5 ชั่วโมง หรือ กินอาหารแล้วปวดลดลง
6. ท้องว่างกินช้าปวด หรือ ตื่นปวดกลางดึก ขณะที่ก่อนนอนไม่ปวดมาก่อน ช่วง 5 ทุ่ม ถึง ตี 2 (เป็นเวลาที่กรดหลั่งมากขึ้นตามธรรมชาติ)
กรณีไม่เป็นตามนี้ ให้คิดถึงโรคอื่น ดังที่กล่าวในข้อ 9.3 ครับ หรือ แม้เป็นตามนี้ แต่รักษาไม่หาย อาการปวดเปลี่ยนไปจากเดิม ก็ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ครับ
4. สาเหตุของโรคกระเพาะคืออะไร ?
– สาเหตุใหญ่ ๆ ได้แก่
4.1 การติดเชื้อโรค Helicobacter pylori ซึ่งเป็นแบคที่เรียที่พบได้บ่อยในคนเอเชีย พบว่าในคนไทย หรือ คนเอเชียพบแบคทีเรียนี้ถึง 50 % ของคนไทยเลย สาเหตุที่เชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคกระเพาะง่ายขึ้น ให้ดูกลไกที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะโดยแบคทีเรียนี้ ในข้อ 5. ครับ
4.2 จากยากลุ่มแก้ปวดเส้น ปวดข้อ ปวดกระดูก กล้ามเนื้อ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDS) เช่นยา แอสไพริน, อินโดซิด, โวทาเรน และ บูเฟน และอื่น ๆ
– สาเหตุเสริมอื่นได้แก่
4.3 การสูบบุหรี่
4.4 ดื่มชา กาแฟ คาเฟอีนที่เข้มข้น หรือ มากไป
4.5 อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธ์ในครอบครัว
4.6 สิ่งแวดล้อมด้วยบ้าง
4.7 การมีความเครียด, นอนดึก
4.8 การกินอาหารที่เผ็ดเปรี้ยวจัด, กินอาหารที่ย่อยยาก ที่จริงผัก ผลไม้ การกินมื้อหนัก การรีบทานไม่เคี้ยว หรือ กินอาหารมัน หรือ ลมมาก ก็อาจกระตุ้นให้เกิดโรคกระเพาะได้
: 2 ข้อหลังพบว่ามีส่วนน้อยกว่าสาเหตุที่กล่าวในส่วนแรก ๆ
5. เชื้อโรค Helicobacter pylori ทำไมทำให้เกิดกระเพาะได้
– เชื้อ Helicobacter pylori หรือที่เรียกว่า H. pylori เป็นแบคทีเรียที่พบได้บ่อยมาก แต่ไม่เป็นโรคกระเพาะทุกคน พบว่าพบในคนในโลกถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว การมีเชื้อนี้จะทำให้เกิดการอักเสบกระเพาะและลำใส้เล็กส่วนต้นเพราะร่างกายมนุษย์จะมีกลไกก่อการอักเสบเพื่อหวังกำจัดเชื้อตัวนี้ในกระเพาะ (แต่กำจัดไม่ได้เพราะเชื้ออยู่ตื้นบนผิวกระเพาะอีกที เม็ดเลือดขาวจึงไม่สามารถฆ่ากำจัดได้ถึงเชื้อนี้) รวมทั้งเชื้อนี้ไปกระตุ้นก่อให้เกิดสาร คล้ายสารในร่างกาย ทำให้กรดหลั่งมากขึ้น (สาร somatostatin) กระเพาะจึงเกิดการบวมอักเสบเกิดแผลได้ง่ายขึ้น คนบางคนมีการอักเสบเล็กน้อยยังไม่เกิดอาการ คล้ายไวต่อแบคทีเรียตัวนี้ต่างกัน
– แต่เมื่อการอักเสบมากขึ้น จากสาเหตุของโรคกระเพาะดังข้อ 4. ,จึงเกิดอักเสบมากขึ้น อาจถึงมีแผลแทรกซ้อน, เริ่มมีอาการปวด หรือเกิดการปวดรุนแรงมากแบบฉับพลันได้
– เชื้อนี้ติดต่อกันทางการทานอาหาร โดยการใช้ตะเกียบ กินไม่ใช้ช้อนกลาง การป้อนอาหารโดยเคี้ยวให้ลูกทาน การปนเปื้อนอาหารจากน้ำลายหรืออุจจาระที่มีเชื้อจากคนที่เป็นพาหะ
6. เมื่อไรควรทำการตรวจ และ รักษาเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ครับ
ตอบ ปกติแล้วเราจะไม่ทำการค้นหา และ รักษาในคนที่เป็นโรคกระเพาะทุกคนนะครับ ข้อบ่งชี้ในการค้นหาเชื้อนี้คือ ควรหาใน
1. คนที่เป็นโรคลำไส้เล็กส่วนต้น ที่ทางออกกระเพาะ (Duodenal ulcer) ซึ่งก็คือแผลจากโรคกระเพาะที่เกิดจากกรดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าคนคนนั้นยังมีอาการอยู่ หรือ หายดีแล้วก็ตาม
2. คนที่มีแผลในกระเพาะ Gastric ulcer (ไม่ว่าคนคนนั้นยังมีอาการอยู่ หรือ หายดีแล้วก็ตาม)
3. มีการอักเสบบวม หรือ ถลอกของกระเพาะ โดยเฉพาะกระเพาะส่วนล่าง (severe erosive หรือ hemorrhagic gastritis (? antrum))
4. มีการอักเสบของลำไส้เล็กส่วนต้นรุนแรง (severe erosive duodenitis)
– ไม่แนะนำตรวจหา และรักษาใน
1. คนที่ปวดท้องแต่ไม่พบร่องรอยผิดปกติจากการส่องกล้อง (Non ulcer dyspepsia)
2. กระเพาะอักเสบแบบกระเพาะบาง (Atrophic gastritis)
3. ญาติผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
4. คนที่เกิดโรคกระเพาะที่เกิดจากการกินยาแก้ปวดข้อ กระดูก กล้ามเนื้อ ชนิด NSAIDs
– สุดท้ายครับ ควรรักษาได้เลยใน คนที่เคยผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Status post resection of early gastric carcinoma) และ ตรวจเนื้อกระเพาะเป็นมะเร็งระยะแรกชนิด ( MALT lymphoma )
– สรุปแล้วคนที่เป็นโรคกระเพาะ ไม่ต้องตรวจหาเชื้อนี้ครับ และไม่ใช่รักษาเชื้อนี้ไปได้เลยโดยไม่ได้ส่องกล้องครับเพราะ ตรวจแล้วก็พบเชื้อครึ่งหนึ่งของคนไทยทุกคน โดยไม่ใช่ว่าเชื้อนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดปวดท้อง รักษาไปก็ ไม่ได้ทำให้โรคกระเพาะหาย มีแต่ทำให้แพ้ยา หรือ ทำให้เชื้อนี้ดื้อยามากขึ้น รวมทั้งยารักษาเชื้อนี้มีราคาแพงด้วยครับ ควรปรึกษาแพทย์ทางเดินอาหารก่อนค้นหา หรือ รักษาเชื้อนี้ครับ
7. ทำไมไม่ปวดท้องเวลามีแผลในกระเพาะใหญ่มาก หรือ เวลาปวดกระเพาะ
– แล้วทำไมปวดรุนแรงมากทั้ง ๆ ที่ไม่เคยปวดมากนักมาก่อน
– และคำถามว่าทำไมปวดกระเพาะมากแต่ส่องกล้องปกติ
– ผมปวดท้องอย่างนี้ มีแผลใหญ่หรือ
ปัจจุบันพบว่าการปวดท้องไม่เป็นไปตามการตรวจพบในท้องหรือในกระเพาะ บางคนปวดมากส่องกล้องเข้าไปอาจปกติทุกอย่างได้ หรือ บางคนแผลใหญ่มากแต่ไม่ปวดเลยมาด้วยเลือดออกมากก็มี รวมทั้งบางคนส่องกล้องเข้าไปพบแผลนึกว่าอธิบายอาการปวดได้ แต่หลังรักษาแผลหายกลับไม่หายปวดท้อง ปัจจุบันเชื่อ กลไกการปวดตามทฤษฎีการอธิบายการปวดกระเพาะใหม่ว่า คล้ายมีความไวต่อการปวดเพิ่มขึ้นแบบฉับพลัน (Hypersensitivity theory) เมื่อเริ่มปวดแล้วจะไวต่อกรดต่อด่าง ต่อการปวดมากขึ้น และอาจรุนแรงทันทีได้ด้วย จึงแนะนำว่าหลังรักษาการอักเสบหรือแผลแล้วอาจต้องให้ยารักษาไปพักหนึ่งก่อน
8. ยากลุ่ม Nonsteroidal anti-inflammatory (NSAIDs) และ ยากลุ่มแอสไพริน
– พบว่ายานี้อาจเสริมภาวะแบคทีเรียที่กล่าวด้านบนทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรือ อาจอักเสบโดยไม่มีแบคทีเรียก็ได้ เนื่องจากเป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี และมีใช้อย่างกว้างขวาง จึงพบการเกิดโรคกระเพาะจากยานี้ได้บ่อย และบางครั้งไม่รู้ตัว มีแนวโน้มเกิดแผลแบบไม่มีอาการ เพราะยานี้เป็นยาแก้ปวด เลยทำให้อาการปวดกระเพาะไม่ค่อยมีตามไปด้วย วิธีแก้ไขถ้าต้องใช้ยาเหล่านี้ได้แก่ การกินยาเฉพาะช่วงสั้น ๆ หรือใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม paracetamol อาจช่วยลดขนาดยากลุ่มนี้ลงได้บ้าง การกินยาปริมาณ และขนาดลดลง เลือกยากลุ่มนี้ชนิดที่ออกฤทธิ์สั้น หรือใช้ยากลุ่มนี้ในรุ่นใหม่ที่ไม่ทำร้ายกระเพาะอาหาร (COX2 inhibitor
NSAIDs )
9. ผมไม่มีสาเหตุที่กล่าวมาทำไมยังเป็นโรคกระเพาะ (Rare causes of peptic ulcer) โรคอื่นที่ทำให้เกิดปวดท้องคล้ายโรคกระเพาะมีอะไรบ้าง
เป็นไปได้ 3 อย่าง คือ
9.1 เป็นโรคกระเพาะแต่เป็นโรคกระเพาะอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยพบในคนไทยได้แก่ โรคเนื้องอกที่มีการหลั่งกรดผิดปกติ ( Zollinger-Ellison syndrome) เนื้องอกในตับอ่อน pancreas ( gastrinoma) ซึ่งหลั่งสาร gastrin กระตุ้นการหลั่งกรด ) อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกระเพาะ (เช่น cytomegalovirus, herpes simplex virus type I) เคยรับการฉายรังสีที่มีผลต่อช่องท้อง หรือรับยาที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะเช่นเคมีบำบัดมะเร็ง (chemotherapy), มีการอักเสบจากเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลในกระเพาะ, เยื่อบุในกระเพาะแบ่งตัวมากผิดปกติ (Menetrier’s disease)
9.2 พบว่าบางรายอาจไม่ใช่โรคกระเพาะแต่มีอาการจากโรคของกระเพาะที่ไม่ได้เกี่ยวกับกรดแต่เป็นความผิดปกติอื่น เช่นอาหารเป็นพิษซ้ำ ๆ ที่ออกอาการเฉพาะกระเพาะ ไปกินสารเคมีที่มีอาการทางกระเพาะโดยไม่รู้ตัว เช่นสารบอร์แลค ฟอร์มาลิน หรือสารถนอมอาหารที่ไม่ถูกต้อง, โรคเส้นเลือดไปเลี้ยงกระเพาะตีบ, โรคกระเพาะเคลื่อนไหวผิดปกติจากเบาหวาน หรือ เกลือแร่ผิดปกติ, โรคเนื้องอกหรือติดเชื้อรวมทั้งพยาธิต่อกระเพาะหรือลำใส้
9.3 สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดปวดท้องด้านบนได้ ได้แก่ นิ่วทั้งที่ถุงน้ำดี และ ไต, โรคหัวใจขาดเลือดแต่ปวดต่ำ, โรคเส้นเลือดที่ท้องด้านบนโป่งพอง, โรคที่มีการอักเสบหรือเนื้องอกของตับหรือตับอ่อน, โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หรือ ตับแข็ง, โรคต่อมน้ำเหลืองในท้องผิดปกติ หรือเป็นเนื้องอกต่อมน้ำเหลือง
9.4 สุดท้ายครับสาเหตุที่ทำให้อาเจียนที่สำคัญนอกจากอาการศูนย์การทรงตัว สมุนไพร หรือยาทำให้อาเจียนแล้ว คือการตั้งครรภ์ครับ ไม่แน่ใจควรตรวจการตั้งครรภ์ทุกครั้ง ก่อนกินยารักษาโรคกระเพาะครับ
10. โรคกระเพาะวินิจฉัยได้อย่างไร ?
ตามที่กล่าวแล้ว อาการแม้คล้ายโรคกระเพาะมาก อาจไม่มีแผล หรือการอักเสบใด ๆ ในกระเพาะเลยก็ได้ (nonulcer dyspepsia NUD) โรคอื่นก็มีอาการหลอกคล้ายโรคกระเพาะได้ด้วยดังที่กล่าวในข้อ 9.3 จำเป็นต้องซักประวัติตรวจร่างกายกับแพทย์ช่วยในการวินิจฉัย
– มีการทดสอบเชื้อ H. pylori โดยการตรวจเลือด (ปัจจุบันเมืองไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับ) การตรวจทางลมหายใจ (ประเทศไทยเริ่มให้บริการการตรวจแล้ว) หรือ ตรวจทางอุจจาระ (ยังไม่เป็นมาตรฐาน) แต่ตามที่บอกว่าแม้พบเชื้อนี้อาจไม่เป็นสาเหตุโรคกระเพาะก็ได้ และ การส่องกล้องเพื่อเพาะเชื้อนี้จะได้ประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคกระเพาะ หรือแยกมะเร็งกระเพาะอาหารไปด้วย ในรายมีข้อบ่งชี้ในการหาเชื้อนี้จึงนิยมส่องกล้องมากกว่าการกำจัดเชื้อนี้โดยไม่แน่ใจเกี่ยวกับโรคกระเพาะ และ มะเร็งในกระเพาะ โดยเฉพาะที่มีอาการเตือนโรคร้ายแรง หรือมะเร็ง (“alarm” features) เช่น น้ำหนักลด, กลืนลำบาก, ซีดโลหิตจาง, คลำได้ก้อนในท้อง และคนสูงอายุ, มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะมาก่อนอันใดอันหนึ่ง ควรส่องกล้องตรวจ
11. เมื่อไรควรส่องกล้องตรวจโรคกระเพาะ
การส่องกล้องคือการใช้สายซึ่งนุ่มมีหัวของกล้องวิดีโอ และแสงสว่างเข้าไปดูผ่านทางการกลืนเข้าไปตรวจ ทั้งนี้ยังสามารถฉีดยารักษา หรือ เก็บชิ้นเนื้อตรวจได้ด้วย ได้บอกข้อบ่งชี้คร่าว ๆ ไว้แล้วในข้อ 10 สรุป คือ
1. ในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี ทุกคนที่ไม่เคยปวดท้องมาก่อน (new onset)
2. คนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี ที่
– มีอาการเตือน หรือ สงสัยมะเร็งกระเพาะ (“alarm” features) เช่น น้ำหนักลด, กลืนลำบาก, ซีดโลหิตจาง, คลำได้ก้อนในท้อง และคนสูงอายุ, มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะมาก่อนอันใดอันหนึ่ง
– ในผู้ที่หายช้า
– สงสัยโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคกระเพาะ ตามที่กล่าวไว้ในข้อ 9.
– เป็นซ้ำบ่อย ๆ หายช้า หายยาก หรือสงสัยการติดเชื้อ H.pylori
12. เป็นโรคกระเพาะนาน ๆ จะเป็นมะเร็งไหม
ตอบ พบว่า คนที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาจมาด้วยอาการโรคกระเพาะ บางรายยิ่งแล้วใหญ่กินยาโรคกระเพาะดีขึ้นด้วย จึงควรตรวจหาให้ดีก่อนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่คนที่เป็นโรคกระเพาะเรื้อรังถ้าแน่ชัดแล้วว่าไม่มีมะเร็งมาก่อน หรือ ไม่ได้เข้าใจผิดว่ามะเร็งที่เป็นเป็นโรคกระเพาะ (ควรอัลตร้าซาวน์ตับอ่อน ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตรวจภายใน หรือ อัลตร้าซาวน์ท้องน้อย แยกมะเร็งรังไข่ และ มะเร็งเชิงกราน) ไม่ได้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งครับ (ในรายที่ค้นหาสาเหตุส่องกล้อง หรือ กลืนแป้งแล้ว) แต่ ทั้งนี้ตามที่บอกในข้อ 11. พบว่าคนที่ปวดท้องแบบโรคกระเพาะ แล้วไม่มีความเสี่ยงตามข้อ 11. ใด ๆ เลย แทบไม่มีใครเป็นโรคมะเร็งเลย ฉะนั้น ควรส่องกล้อง หรือ ค้นหาสาเหตุเมื่อมีข้อบ่งชี้ หรือ กรณีอยากทำจริง ๆ รักษาไม่หายซักทีมากกว่า ควรลองรักษาดูก่อนในรายที่ไม่มีข้อบ่งชี้ในข้อ 11 ครับ และ เน้นย้ำอีกครั้งว่าเมื่อหาสาเหตุแล้วไม่พบเนื้องอก การมีโรคกระเพาะนาน ๆ ไม่ได้เป็นต้นเหตุมะเร็งครับ มีข้อเตือนที่มักผิดพลาดกันอีกข้อครับ ใครที่เป็นแผลในกระเพาะแม้ดูว่าเป็นแผลธรรมดาก็ควรรับการตรวจส่องกล้องซ้ำ เมื่อเหมาะสม (แผลในกระเพาะ หาย 3 มิลลิเมตรต่อสัปดาห์) ควรส่องจนพบว่าแผลดังกล่าวหายสนิทจริงครับ แม้เก็บตรวจชิ้นเนื้อแล้วผลดูเหมือนว่าไม่มีเนื้อร้ายก็ตาม
13. โรคกระเพาะรักษาอย่างไร ?
– ส่วนใหญ่สามารถหายได้ด้วยยารักษา แต่กรณีที่สงสัย หรือ เคยมีแผลในกระเพาะที่ไม่ได้เกิดจากยา NSAIDs ควรค้นหาเชื้อโรค H. pylori และทำการรักษาเสมอ โดยการให้ยาลดกรด ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ 2 ชนิด ประมาณ 10 วัน ถึง 2 อาทิตย์ พบว่าสามารถกำจัดเชื้อนี้ได้ถึงกว่า 90 % ปัจจัยสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ ยาอาจมีผลข้างเคียงแต่ต้องกินยาต่อเนื่องห้ามขาดยา เพราะเชื้อนี้ปัจจุบันดื้อยามาก การกินยารักษาไม่ต่อเนื่องนอกจากทำให้ไม่หายจากเชื้อนี้ แล้วยังอาจทำให้เชื้อนี้ดื้อยารักษายากขึ้นด้วย
– ส่วนใหญ่ต้องกินยารักษากรดในกระเพาะให้ลดลงจนการอักเสบ หรือ แผลหายสนิท ประมาณ 4-6 อาทิตย์ ยาลดกรดได้แก่ยากลุ่ม, ยากลุ่ม H2 antagonists และยา sucralfate อาจดื่มยาน้ำขาวลดกรดช่วยบรรเทาอาการร่วมด้วย (ไม่ควรใช้ยาน้ำขาวพร้อมกับ sucralfate หรือยากลุ่ม H2 antagonists)
– รวมทั้งการหยุดสูบบุหรี่ ห้ามกินยาแก้ปวดเส้นข้อกล้ามเนื้อกระดูก ชนิดแอสไพริน และ NSAIDs แต่ยากลุ่มนี้ โดยเฉพาะแอสไพรินอาจจำเป็นในผู้ป่วยบางรายก่อนหยุดยาควรปรึกษากับแพทย์ก่อน
• อาหารที่ทำให้กระเพาะอักเสบควรหลีกเสี่ยง แม้การศึกษาส่วนใหญ่พบว่าไม่ช่วยในการทำให้แผลหายเร็วขึ้น หรือการเกิดแผลซ้ำไม่เกี่ยวกับอาหารก็ตาม อาหารกลุ่มที่มีปัญหาต่อกระเพาะได้ ได้แก่ อาหารที่มีคาเฟอีน Caffeine (เช่นชา กาแฟ ช๊อคโกแล๊ต chocolate)
• แม้พบว่าการดื่มเล็กน้อยอาจไม่เกี่ยวกับกระเพาะ แต่ยังแนะนำว่าควรเลี่ยงจนแน่ใจว่าแผลหายสนิท
• การเลี่ยงความเครียดช่วยสุขภาพโดยรวม และ อาจช่วยกระเพาะได้บ้าง (พบว่าผลเล็กน้อย และขณะได้ยาก็หายได้แม้ยังเครียดอยู่)
• สมุนไพร (Herbal medications) และอาหารเสริม ( supplements ) เช่น licorice, marshmallow, และ glutamine ดูแล้วอาจไม่มีผลช่วยในโรคนี้ และยาโรคกระเพาะที่มีอยู่ก็ปลอดภัยมาก และผลก็ดีกว่าอยู่แล้วด้วย
14. อาหารที่ควรทานขณะที่เป็นโรคกระเพาะ
ตอบ ได้แก่ ควรทานอาหารย่อยง่าย, หลีกเลี่ยงการกินผักหรือผลไม้ หรือเนื้อที่เหนียว (เนื้อวัว ย่อยยากกว่าเนื้อหมู เนื้อปลาย่อยง่ายที่สุด), อาหารที่ไม่เคี้ยว, เคี้ยวไม่ละเอียด หรือดูแล้วย่อยลำบาก
– ทานน้อย ๆ บ่อย ๆ แทนการทานมื้อหนัก
– เลี่ยงการทานมื้อหนักแล้วลงนอนเร็ว หลังทานควรเดินเพื่อช่วยย่อยอาหารพักหนึ่งก่อน
– ให้งดกาแฟ บุหรี่ เหล้า ยาและน้ำดื่มที่มีคาเฟอีน
– กรณีมีลมในท้องมาก ควรเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดลม ให้ดูบทความเรื่องลมในท้อง ท้องอืดของผมเพิ่มเติมครับ
15. การปฎิบัติตัวเพื่อลดกรดในกระเพาะ หรือ ให้หายเป็นโรคกระเพาะมีอะไรบ้าง