โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS) เป็นโรคของทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้มากถึง 10 – 20% ของประชากรทั่วโลก แต่พบว่าผู้ที่มีอาการของโรคลำไส้แปรปรวนเพียง 15% เท่านั้นที่มาปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการอยู่เรื่อยๆ ทำให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำงาน ที่สำคัญโรคลำไส้แปรปรวน อาจมีอาการคล้ายกับโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น โรคมะเร็งลำไส้ ดังนั้นผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS คือโรคอะไร ?
โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS) คือ ภาวะการทำงานผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัวมากเกินไป ส่งผลทำให้เกิดอาการ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยมักพบตั้งแต่อายุน้อยถึงวัยกลางคน และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการของโรคลำไส้แปรปรวนประกอบด้วยอาการหลัก คือ ปวดท้องเรื้อรัง หรืออึดอัดท้อง โดยมีลักษณะอาการสัมพันธ์กับการขับถ่ายอุจจาระที่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุอื่น ๆ
โรคลำไส้แปรปรวน มีอาการอย่างไร ?
อาการของโรคลำไส้แปรปรวนมักพบตั้งแต่อายุน้อย โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยอาการที่พบ ได้แก่
- ปวดท้อง: ปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ในช่วง 3 เดือน มักเป็นลักษณะบีบเกร็ง หรืออาจเป็นแบบอื่น เช่น ตื้อ ๆ หนัก ๆ อึดอัด มักปวดบริเวณท้องด้านล่างซ้าย หรืออาจเกิดได้ในตำแหน่งอื่น ๆ โดยความรุนแรง และตำแหน่งของการปวดจะแตกต่างกันในแต่ละคน บางคนเป็นรุนแรงขึ้น เมื่อเครียดหรือรับประทานอาหารบางอย่าง บางคนปวดมากขึ้นระหว่างมีรอบเดือน บางคนอาการดีขึ้นเมื่อได้ขับถ่าย
- มีลักษณะการขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม: ถือเป็นลักษณะพิเศษที่อาจช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ เช่น มีท้องเสีย ท้องผูก หรือ มีสลับท้องเสียและท้องผูกก็ได้ โรคนี้อาจมีอาการที่แบ่งเป็นท้องเสียเด่น (diarrhea predominant IBS) หรือท้องผูกเด่น (constipation dominant IBS)
- ท้องเสีย: มักมีอาการช่วงกลางวันหรือช่วงเวลาทำงาน และมักเป็นในช่วงเช้าหรือหลังทานอาหาร อาการท้องเสียในภาวะนี้มักมีอาการร่วมคือ รีบอยากเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย มักรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด และประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมีมูกเวลาขับถ่าย
- ท้องผูก: อาจมีอาการเป็นวัน หรือเป็นเดือน อุจจาระมีลักษณะแข็งคล้ายลูกกระสุน บางคนอาจมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมดร่วมด้วย ทำให้ต้องเบ่งถ่าย หรือนั่งถ่ายอุจจาระอยู่นานไม่ออก ทำให้บางคนต้องใช้ยาระบาย หรือ สวนถ่ายบ่อย ๆ
- อาการของทางเดินอาหารอื่น ๆ: เช่น ท้องเสียสลับท้องผูก อืดเฟ้อ ลมมาก เรอ แน่นแสบอก กลืนลำบาก อิ่มเร็ว หรือคลื่นไส้
- อาการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาการกลุ่มของทางเดินอาหาร: เช่น อยากปัสสาวะบ่อย ปวดประจำเดือน หรือมีปัญหาทางเพศ
สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง และไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถบอกสาเหตุของโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากสาเหตุดังนี้
- การบีบตัวผิดปกติของลำไส้ใหญ่ หรืออาจเรียกว่าตะคริว ทำให้ลำไส้เกร็งตัวผิดปกติ (spastic colon) เกิดการบีบตัวอย่างรุนแรงจึงทำให้เกิดการปวดเกร็งลำไส้
- ภาวะไวต่ออาหาร หรือภาวะย่อยอาหารบางอย่างได้ไม่ดี เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย อาจเกิดจากแพ้อาหาร หรือไวต่ออาหาร การจดบันทึกอาหารที่รับประทานอาจจะช่วยบอกถึงอาหารที่แพ้ได้
- ลำไส้ไวความต่อความรู้สึกมากเกินไป เป็นความผิดปกติที่ไม่ได้มีโรค หรือการบีบตัวผิดปกติใด ๆ แต่ลำไส้ไวต่อความรู้สึกมากเกินไป
- ความเครียดหรือภาวะทางจิตเวช เพราะภาวะเครียด กังวลใจ ทำให้ลำไส้รับความรู้สึกไวขึ้น เกิดการปวดขึ้นได้
- เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารและการติดเชื้ออื่น ๆ โดยมักพบอาการภายหลังจากมีการติดเชื้อ เช่น เชื้อไข้รากสาด หรือ เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ แต่กลไกที่ทำให้เกิดภาวะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด
- เกิดจากการใช้ยาบางชนิด
โรคลำไส้แปรปรวน รักษาหายได้หรือไม่ ?
การรักษาโรคลำไส้แปรปรวนทำได้หลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ทำให้หายชั่วคราว ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แนวทางในการรักษาในปัจจุบันได้แก่
- การรักษาด้วยยา :อาจต้องใช้ยาหลายกลุ่มร่วมกัน เนื่องมีหลายกลุ่มอาการ และการตอบสนองต่อยาของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ทำให้บางครั้งต้องใช้วิธีปรับยาหลายครั้ง ทั้งนี้แพทย์ต้องติดตามการรักษา และซักถามอาการจากผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง
- การติดตามการรักษา: ในระยะแรก แพทย์อาจต้องติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยต้องเล่าอาการ นิสัยความเป็นอยู่ การรับประทาน รวมไปถึงประวัติทุกอย่างที่อาจมีผลต่อลำไส้ ซึ่งจะทำให้แพทย์วางแผนการรักษาง่ายขึ้น เช่น บางคนอาจแพ้อาหารบางอย่าง หรือมีปัญหาย่อยอาหารกลุ่มนมไม่ได้ (lactose intolerance)มีรายงานว่าความเครียด และโรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของอาการของลำไส้แปรปรวนได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรมีสมุดบันทึกอาการและเรื่องเหล่านี้อย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ในการรักษา
- ปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทาน: มีข้อสันนิษฐานว่า อาการของผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งมีสาเหตุจากปัญหาการย่อย หรือแพ้อาหาร จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเป็นสาเหตุหรืออาหารที่แพ้ โดยแพทย์จะแนะนำให้ลองหลีกเลี่ยงอาหารบางกลุ่มได้แก่
- อาหารกลุ่มนม เพราะพบคนที่มีปัญหาย่อยอาหารกลุ่มนมได้บ่อย (มีอาการ คือ กินนมแล้วท้องเสีย หรือท้องอืด)
- อาหารที่ทำให้เกิดลมในท้อง เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง ดอกกะหล่ำ บรอกโคลี กะหล่ำปลี หัวหอม แคร์รอต ลูกเกด กล้วย แอพริคอท ลูกพรุน ถั่วงอกหรือแป้งสาลี เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการปวดบีบได้
- อาหารที่ย่อยยาก เช่น ผักบางอย่าง เนื้อบางอย่าง ของมัน ของทอด
โดยแพทย์มักจะแนะนำให้เลือกรับประทานอาหารกลุ่ม low FODMAP diet (กลุ่มอาหารที่ไม่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้หรือส่งเสริมน้อย) ซึ่งจะช่วยลดอาการของลำไส้แปรปรวนได้อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนอาจไม่เกี่ยวกับอาหารใด ๆ เลยก็ได้ ดังนั้นจึงควรจดบันทึกอาหารแต่ละมื้ออย่างละเอียด ร่วมกับจดบันทึกอาการที่เป็น อาจทำให้ค้นหาอาหารที่ทำให้เกิดอาการได้ชัดเจนขึ้น
แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีกากไยหรือไฟเบอร์ (fiber) มากขึ้น ซึ่งมักให้ผลดีในผู้ป่วยกลุ่มที่ปวดท้องแบบท้องผูก รวมถึงในกลุ่มที่ท้องเสียบางราย บางครั้งอาจต้องพิจารณาให้ไฟเบอร์ทางการแพทย์ โดยเชื่อว่าไฟเบอร์ทำให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น - ลดความเครียด หรือแก้ปัญหาภาวะซึมเศร้า: ความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้าอาจทำให้อาการของโรคลำไส้แปรปรวนแย่ลง การปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อลดปัญหาทางจิตใจดังกล่าวสามารถทำให้อาการของโรคนี้ดีขึ้นได้
- ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายสม่ำเสมอช่วยในการทำงานของลำไส้ดีขึ้นได้
การตรวจวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวนไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจใดการตรวจหนึ่ง จึงต้องการการตรวจหลาย ๆ อย่าง เพื่อวินิจฉัย และแยกออกจากโรคของระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ โรคภูมิแพ้ลำไส้อักเสบ เป็นต้น
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยจะถามถึงลักษณะอาการ ระยะเวลา ความรุนแรงของอาการ อาการที่สัมพันธ์กับอาหารหรือยา รวมไปถึงปัญหาความเครียด และโรคทางจิตเวช
และการตรวจอื่น ๆ ได้แก่ การตรวจเลือด การตรวจอุจจาระ การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) หรือลำใส้ใหญ่ส่วนปลาย (sigmoidoscopy) เพื่อแยกโรคลำไส้แปรปรวนออกจากโรคอื่น ๆ โดยการส่องกล้องสำไส้ใหญ่มักทำในคนที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หรือในคนที่อายุมากกว่า 40 ปีซึ่งมีความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้น
สรุป
โรคลำไส้แปรปรวนหรือ IBS แม้จะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่พบได้มากถึง 10 – 20% ของประชากรทั่วโลกและส่วนใหญ่ไม่ปรึกษาแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคนี้มักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้เกิดความหงุดหงิดรำคาญ ส่งผลต่อชิวิตประจำวันและการทำงานได้
นอกจากนี้อาการของโรคลำไส้แปรปรวนอาจมีอาการคล้ายกับอาการของโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น โรคมะเร็งลำไส้ ดังนั้นหากมีอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี