เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกว่า Stroke บางท่านอาจรู้จักโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็น โรคอัมพาต หรืออัมพฤกษ์ และมองว่าเป็นโรคหนึ่งที่น่ากลัว แต่หลาย ๆ คนก็อาจยังเพิกเฉยไม่ดูแลตัวเอง
รู้หรือไม่ โรคนี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด !
โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและความพิการลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย วันหนึ่งอาจเป็นเรา ที่นั่งทำงานอยู่ดี ๆ เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ขึ้นมากะทันหัน ทั้งที่ก่อนหน้าอาการก็ยังดี ๆ อยู่ ในอดีตโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน กลับพบในคนอายุน้อยและคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้น
โรคหลอดเลือดสมองจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง…
สารบัญ
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร ?
- โรคหลอดเลือดสมอง มีกี่ประเภท ?
- สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack หรือ TIA) เป็นอย่างไร ?
- สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองตามหลัก FAST
- เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ต้องทำอย่างไร ?
- ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง มีอะไรบ้าง?
- โรคหลอดเลือดสมอง ป้องกันได้หรือไม่ ?
- สรุป
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร ?
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติไป อาการมักจะเกิดขึ้นทันทีทันใด
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีกี่ประเภท ?
โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) ทำให้เนื้อเยื่อสมองขาดเลือด โดยอาจเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด และ หลอดเลือดสมองอุดตันจากการมีลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ซึ่งทั้งสองแบบทำให้การไหลเวียนเลือดในสมองเสียไป เกิดสมองขาดเลือดหรือเนื้อเยื่อสมองตาย ตามมาได้
- หลอดเลือดสมองแตกหรือฉีกขาด (Hemorrhagic stroke) เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางจากภาวะความดันเลือดสูง หรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้แตกง่าย ส่งผลทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และเกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองตามมา
สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack หรือ TIA) เป็นอย่างไร ?
สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack หรือ TIA) คือ การที่ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันที และสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ไม่เกิดภาวะเนื้อสมองตายจากการขาดเลือด อาการจะเป็นเหมือนโรคหลอดเลือดในสมองตีบ แต่จะหายได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง มักจะมีอาการเพียงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 5 -10 นาที ส่วนใหญ่เมื่อผู้ป่วยมาตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) มักจะไม่พบความผิดปกติ
โดยทั่วไปประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยสมองขาดเลือดชั่วคราว มักจะกลายไปเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic stroke) ภายใน 7 วัน ดังนั้นการที่ผู้ป่วยมีอาการสมองขาดเลือดชั่วคราว มักจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการจึงควรมาพบแพทย์ทันทีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น
สังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองตามหลัก FAST
อาการของโรคหลอดเลือดสมองมักเป็นทันทีทันใด ถ้าเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้
สามารถสังเกตอาการตามหลัก FAST ได้แก่
F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่าย ๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน แล้วสังเกตว่าปากเบี้ยวหรือมุมปากตกหรือไม่?
A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่าย ๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ
S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนอาจคิดว่าผู้ป่วยมีอาการสับสน ทดสอบได้ง่าย ๆ ด้วยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่าย ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น
T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมอง เพราะทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง
ปัจจุบัน หากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบขาดเลือด เข้ารับการรักษาทันเวลาภายใน “4 ชั่วโมงครึ่ง” ซึ่งเป็นเวลาที่เรียกกันว่า “Stroke Golden Hour” แพทย์จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือดและช่วยให้สมองบริเวณที่ขาดเลือดกลับมาทำงานอย่างปกติ
เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ต้องทำอย่างไร ?
โรคหลอดเลือดสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ประวัติเองได้ แพทย์จำเป็นที่จะต้องทราบเวลา ที่ญาติพบเห็นผู้ป่วยยังเป็นปกติครั้งสุดท้าย
หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ให้ดำเนินการดังนี้
- โทรศัพท์แจ้งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งอาการที่ผู้ป่วยเป็น เวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ โดยทางโรงพยาบาลจะจัดส่งรถโรงพยาบาลไปรับตัวผู้ป่วยในทันที โรงพยาบาลพระรามเก้า ติดต่อ 1270
- นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการ ไม่ควรรอหรือให้ผู้ป่วยนอนพักสังเกตอาการเอง
- หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวที่ต้องมียาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น เบาหวานหรือลดความดันเลือด ควรนำยามาโรงพยาบาลด้วย และไม่ควรให้ยาผู้ป่วยรับประทานก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล เช่น ยาเบาหวาน และยาลดความดัน เพราะยาลดความดันจะทำให้ผู้ป่วยมีความดันเลือดที่ต่ำลง และอาจจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
- หากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเองก่อนถึงโรงพยาบาล ก็ยังจำเป็นที่จะต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจจะเป็นภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมในทันที และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นอีกแพทย์จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มีอะไรบ้าง ?
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่
- โรคความดันสูง เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงจะไปทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ง่าย และทำให้เส้นเลือดในสมองมีความเปราะมากขึ้น
- โรคไขมันในเลือดสูง โดยไขมันจะเป็นตัวเร่งให้หลอดเลือดมีการแข็งตัว และมักจะเกาะตัวกันเป็นตะกอนในหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดในสมองตีบได้
- โรคเบาหวาน
- โรคไต
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหัวใจห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial fibrillation) จะทำให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ และอาจจะลอยไปอุดเส้นเลือดในสมองได้
- การสูบบุหรี่ บุหรี่เป็นปัจจัยเร่งสำคัญ ที่ทำให้หลอดเลือดในสมองเปราะ และเกิดตะกอนได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบได้ง่ายกว่าคนที่ไม่สูบ ทั้งนี้รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่จัด และได้รับควันบุหรี่ตลอดเวลาด้วย
- ดื่มสุรา เป็นประจำ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและเส้นเลือดในสมองแตก ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- การใช้สารเสพติด บางชนิด เช่น แอมเฟตามีน หรือโคเคน เนื่องจากสารเสพติดเหล่านี้ จะไปทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ในผู้ป่วยบางรายอาจจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งเป็นส่วนน้อย ได้แก่
- ปัจจัยด้านอายุ โดยปกติ โรคหลอดเลือดสมอง มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมาก แต่อย่างไรก็ดี ประมาณ 15% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เกิดในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 50 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
- เคยมีโรคหลอดเลือดอุดตันเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ที่หัวใจ ขา หรือที่ตา เป็นต้น
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ป้องกันได้หรือไม่ ?
โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค (ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) ในส่วนที่เราสามารถจัดการได้ ดังนี้
- ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความดันเลือดมากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์ และรับประทานยาลดความดันอย่างสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดอาหารเค็ม หวานจัด มันจัด เพิ่มผักผลไม้
- เลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา
- ลดน้ำหนัก ในกรณีที่มีน้ำหนักเกิน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยการออกกำลังกายควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ อย่างน้อย 10-20 ครั้ง ต่อนาที และอย่างน้อยครั้งละครึ่งชั่วโมง
- ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดและค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- ตรวจร่างกายทางด้านหัวใจว่ามีความผิดปกติของการเต้นของหัวใจหรือไม่
สรุป
ในอดีต โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน เราพบว่าแม้แต่คนอายุน้อย หรือคนในวัยทำงานก็มีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมอง มักเป็นทันทีทันใด ดังนั้น หากเราสามารถสังเกตอาการได้อย่างทันท่วงที จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต และยังช่วยเพิ่มโอกาสรักษาการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย
อีกทั้ง โรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรค ในส่วนที่เราสามารถจัดการได้ และควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรค