ต้อกระจกคืออะไร เลนส์แก้วตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสอยู่หลังม่านตา ทำหน้าที่หักเหแสงให้ตกโฟกัสพอดีที่จอประสาทตา เมื่อเลนส์แก้วตาเสื่อม ทำให้สูญเสียความใสไป(เลนส์ขุ่น) ทำให้แสงเข้าสู่จอประสาทตาลดลง มองภาพไม่ชัด เกิดภาวะ “ต้อกระจก” ต้อกระจกพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยมักเป็นต้อกระจกระยะเริ่มต้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น เมื่อเวลาผ่านไป เลนส์จึงขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆช้าๆ จนเริ่มบดบังการมองเห็นในที่สุด อาการของต้อกระจก เนื่องจากการขุ่นของเลนส์ตาจะเป็นไปอย่างช้าๆ นานเป็นปี ทำให้ตาค่อยๆมัวลงช้าๆ โดยไม่มีอาการตาแดงหรือเจ็บปวด การมองเห็นจะลดลงเมื่ออยู่ในที่ที่แสงไม่เพียงพอ เหมือนมองผ่านหมอกหรือกระจกที่ขุ่น ต้อกระจกบางชนิดจะทำให้ตามัวลงเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือเมื่อขับรถกลางคืนแล้วเห็นไฟหน้ารถที่ขับสวนมาแตกกระจาย ผู้ป่วยบางรายเห็นภาพซ้อนเมื่อดูด้วยตาข้างเดียว หากทิ้งไว้นานจนต้อสุก จะเห็นตาเป็นฝ้าขาวตรงกลาง ซึ่งในปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจตาได้ง่ายขึ้น หากท่านมีอาการดังกล่าว ควรตรวจตากับจักษุแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าท่านมีภาวะต้อกระจกหรือไม่ หรือมีภาวะอื่นร่วมด้วย สาเหตุของต้อกระจก- ต้อกระจกส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามวัย ส่วนมากพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยอายุที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้โปรตีนในเลนส์เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้ความใสของเลนส์ตาลดลง- ผลจากยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ชนิดทาน หรือหยอด- มีโรคประจำตัวที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจก เช่น เบาหวาน โรคอ้วน- เคยได้รับการบาดเจ็บและอุบัติเหตุทางตา มีการอักเสบหรือติดเชื้อบริเวณตา- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อกระจก การป้องกันต้อกระจก เนื่องจากสาเหตุหลักของต้อกระจก คือ ความเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามวัย ในปัจจุบันจึงยังไม่มียากินหรือยาหยอดตาที่สามารถป้องกันต้อกระจกได้ อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ที่ทำงานโดนแดดจัดๆเป็นเวลานานๆ เลนส์แก้วตาจะเสื่อมเร็วกว่าคนที่ไม่โดนแดด จึงแนะนำให้สวมใส่แว่นกันแดดเวลาออกแดดจัดๆ การรักษาต้อกระจก ต้อกระจกสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากไม่มียาใดๆรักษาได้ โดยการผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง มีโอกาสในการติดเชื้อน้อยกว่า 1 เปอร์เซนต์ สามารถมองเห็นได้ดีขึ้นมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ หลังการนำเลนส์ที่ขุ่นออก จะมีการวางเลนส์แก้วตาเทียมใหม่เข้าไป ซึ่งจะอยู่ในตาอย่างถาวร ต้อกระจกจะไม่กลับมาเป็นอีก ปัจจุบันการรักษาแบ่งเป็น 2 วิธีคือ 1. การผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกมา (ECCE) เปิดแผลบริเวณขอบตาดำด้านบนยาวประมาณ 10 มม. เพื่อนำเลนส์ออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียม และเย็บปิดแผล 2. การผ่าตัดแผลเล็ก และใช้การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2.2-3.0 มม. และใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ ทำให้ใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่า ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็วกว่า ไม่ต้องเย็บแผล จักษุแพทย์ที่ชำนาญสามารถทำการผ่าตัดได้โดยใช้การหยอดยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องฉีดยาหรือดมยาสลบ การผ่าตัดจึงมีความปลอดภัยขึ้น ในปัจจุบันถือเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาต้อกระจก ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาต้อกระจก ควรได้รับการตรวจและประเมินสภาพตาโดยละเอียดก่อน เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าสภาพตาของท่านเหมาะสมกับการรักษาหรือไม่ และเลนส์แก้วตาเทียมชนิดใดเหมาะสมกับสภาพตาของท่านมากที่สุด ชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม (Intraocular lens – IOL) 1.เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสระยะเดียว (Standard IOL) เป็นเลนส์มาตรฐาน มีกำลังการรวมแสงเดียว ช่วยโฟกัสภาพในระยะไกล ส่วนการมองใกล้ต้องอาศัยแว่นอ่านหนังสือช่วย2.เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOL) เป็นเลนส์แก้วตาที่มีหลายวง แต่ละวงมีกำลังการรวมแสงที่แตกต่างกันเพื่อโฟกัสทั้งระยะไกลและใกล้ แต่ผู้รับการรักษาต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวพอสมควร เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการมองไกลและใกล้โดยไม่สวมแว่นอ่านหนังสือ3.เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) สามารถแก้ไขสายตาเอียงในตัว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่เดิม ผ่า…. ไม่ผ่า….เมื่อไหร่ดี? ผู้ที่เป็นต้อกระจกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทันทีหลังตรวจพบ โดยต้อกระจกสามารถปล่อยทิ้งไว้ได้หลายปีหากยังไม่มีปัญหาการมองเห็นในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามหากต้อกระจกแข็งหรือสุกเกินไป จะทำให้ต้อแข็งมากขึ้น การผ่าตัดยากมากขึ้น หรือเกิดอาการต้อหินแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงควรตรวจติดตามเป็นระยะๆกับจักษุแพทย์
ต้อกระจก……ผ่าหรือไม่ผ่า…..ผ่าเมื่อไหร่ดี
Knowledge
Praram 9 Hospital
Related articles
Diabetes Symptoms: Key Warning Signs Not to Ignore!
Discover key warning signs of diabetes and learn how to identify early symptoms, such as frequent urination, excessive thirst, and unexplained weight loss. Understand the importance of timely diagnosis and effective management strategies to prevent serious complications. Explore tips for managing diabetes risk through diet, exercise, and regular checkups. Take control of your health—consult a healthcare provider if you experience potential diabetes symptoms.
Cervical Cancer Vaccine: How Many Doses Do You Need?
Learn everything you need to know about the cervical cancer vaccine: where to get it, dosage recommendations, timing, and how to maximize its effectiveness. Protect yourself and loved ones from HPV-related cancers with this essential guide.
Treatment of Stroke and Prevention of Recurrence
A stroke, also known as paralysis or hemiplegia, is a dangerous and urgent condition that can affect both the elderly and working-age individuals.