โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งโดยจะพบเป็นนิ่วในไตมากที่สุด รองลงมาเป็นนิ่วในทอไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อปัสสาวะตามลำดับ ในประเทศไทยโรคนิ่วสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ โดยจะพบบ่อยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอุบัติการณ์ของโรคนิ่วจะพบว่าเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 – 3 เท่า สำหรับสาเหตุของการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ จะเกิดหลายปัจจัย ได้แก่ 1. ความเข้มข้นของปัสสาวะ ถ้าหากดื่มน้ำน้อยหรือมีการเสียเหงื่อมากจะทำให้สารละลายที่ขับออกมา จากร่างกายทางปัสสาวะมีความเข้มข้นมาก และมีโอกาสที่จะตกตะกอนจับกันเป็นผลึกและเป็นก้อนนิ่วได้ 2. ความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ ในบางภาวะที่ปัสสาวะมีความเป็นกรดมากจะทำให้ผลึกนิ่วบางชนิดก่อตัวขึ้นง่าย เช่น ผลึกนิ่วยูริค 3. การขับสารบางชนิดของร่างกายออกมาทางปัสสาวะมากเกินไป พบว่าในบางคนมีความผิดปกติในการขับสารบางอย่าง เช่น แคลเซียม, ออกซาเลต, ฟอสเฟตหรือกรดยูริค ถ้าหากขับออกมาในปัสสาวะมากจะทำให้เป็นนิ่วได้ง่าย 4. ภาวะการติดเชื้อบางชนิดในทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะกลุ่มแบคทีเรียที่สามารถผลิตสารยูเรียได้ จะทำให้เป็นนิ่วง่าย 5. มีภาวะที่ขัดขวางการไหลของปัสสาวะ เช่น มีการตีบแคบของกรวยไต, ท่อไต, ท่อปัสสาวะหรือมีต่อมลูกหมากโต จะทำให้ปัสสาวะไหลไม่คล่องคล้ายกับมีฝายกั้นน้ำหรือเขื่อนกั้นอยู่ และทำให้เกิดการตกตะกอนของสารในปัสสาวะจนก่อตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้นได้ โดยทั่วไปชนิดของนิ่วจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1. นิ่วที่ทึบรังสี พบได้ประมาณ 90 % โดยนิ่วในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ การตรวจเอกซเรย์จะเห็นนิ่วได้2. นิ่วที่ไม่ทึบรังสี พบได้ประมาณ 10 % มักเป็นนิ่วยูริค การตรวจโดยเอกซเรย์จะมองไม่เห็นนิ่ว การวินิจฉัยจะยากกว่าปกติ บางครั้งแยกยากจากเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ อาจต้องตรวจเพิ่มเติมโดยการอัลตราซาวด์, ฉีดสี เอกซเรย์หรือทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในอดีตการรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะกระทำด้วยการผ่าตัดเปิด แต่ปัจจุบันนี้ได้ลดลงมากเนื่องจากมีวิธีการรักษานิ่วอีกหลายวิธีเพื่อเลี่ยงการผ่าตัด ได้แก่ 1. การทานยาละลายนิ่ว เหมาะสำหรับนิ่วชนิดยูริค สามารถละลายได้โดยให้ทานยาที่ทำให้ปัสสาวะเป็นด่าง สำหรับนิ่วที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบไม่มียาละลายนิ่ว โดยถ้านิ่วมีขนาดเล็กกว่า 0.5 ซ.ม. มีโอกาสหลุดเองได้ โดยการดื่มน้ำเพิ่มหรือให้ยาขับปัสสาวะช่วย 2. การใช้เครื่องสลายนิ่ว (ESWL) เป็นการใช้เครื่องมือที่มีต้นกำเนิดพลังงานจากภายนอกร่างกายส่งคลื่นพลังเข้าไปกระแทกนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และให้ร่างกายเป็นผู้ขับเศษนิ่วออกมาเอง การรักษานิ่วโดยใช้เครื่อง ESWL นี้ ผู้ป่วยควรจะเป็นนิ่วที่ไตหรือท่อไตส่วนต้น และมีขนาดของนิ่วน้อยกว่า 2 ซ.ม. รวมทั้งต้องมีการทำงานของไตข้างนั้นพอที่จะมีปัสสาวะขับเอาเศษนิ่วที่สลายแตกแล้วให้หลุดออกมานอกร่างกายได้ ยกเว้นนิ่วบางชนิดที่แข็งมากไม่สามารถยิงสลายให้แตกโดยวิธี ESWL ได้ 3. การรักษาโดยการส่องกล้อง ได้แก่ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะจะส่องกล้องผ่านรูท่อปัสสาวะเข้าไปขบนิ่วและนิ่วในท่อไตจะส่องกล้องเข้าไปในรูท่อไตเข้าไปคล้องหรือกรอนิ่วในท่อไตออกมา ซึ่งทั้ง 2 วิธีเป็นการส่องกล้องเข้าไปในรูท่อปัสสาวะหรือรูท่อไตที่มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้วจึงไม่มีรอยแผลผ่าตัด 4. การเจาะผ่านผิวหนังส่องกล้องกรอนิ่วในไต (PCNL) เป็นวิธีการรักษานิ่วในไตที่พัฒนามาเพื่อเลี่ยงการผ่าตัดโดยาใช้วิธีเจาะรูเล็ก ๆ ขนาดนิ้วชี้ทะลุจากผิวหนังเข้าไปในกรวยไต และใช้กล้องส่องตามเข้าไปจนพบก้อนนิ่ว จากนั้นจะใช้เครื่องมือเข้าไปกรอนิ่วให้แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และดูดหรือคีบนิ่วออกมาการรักษาโดยวิธี PCNL นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากแผลเจาะมีขนาดเล็ก 1-2 ซ.ม. เทียบกับบาดแผลผ่าตัดเปิดที่มีขนาดยาว 15 – 20 ซ.ม. อาการเจ็บแผลจะน้อยกว่า และกลับบ้านได้เร็วภาย ใน 3 – 5 วันหลังผ่าตัด สามารถฟื้นตัวกลับไปทำงานได้เร็วกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ถ้าหากเกิดเป็นนิ่วในไตซ้ำขึ้นมาอีก ก็สามารถรักษาโดยวิธี PCNL ซ้ำได้ไม่ยาก ภายหลังการรักษานิ่วแล้ว ผู้ป่วยพึงระลึกว่า ถ้าหากไม่ระมัดระวังป้องกันมีโอกาสที่จะกลับเป็นนิ่วซ้ำได้ใหม่สูงถึง 35 – 50 % ภายในระยะเวลา 5 – 10 ปี ซึ่งถ้าพบว่ามีการกีดขวางทางไหลของปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต, ท่อปัสสาวะหรือท่อไตตีบจะต้องผ่าตัดแก้ไขด้วย และ ถ้ามีการติดเชื้ออักเสบของทางเดินปัสสาวะต้องรักษาให้หายขาด และมีคำแนะนำโดยทั่วไปที่ควรปฏิบัติเพื่อลดการเกิดนิ่วซ้ำ ได้แก่ – ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 – 3 ลิตรต่อวัน เพื่อให้มีปริมาณน้ำปัสสาวะเพียงพอ ไม่ให้เข้มข้นมาก – ลดการทานอาหารที่เค็มจัด เนื่องจากปริมาณเกลือที่ทานเข้าไปจะขับออกทางปัสสาวะและมีส่วนชักนำให้ปริมาณแคลเซียมที่ขับออกมามากตามด้วย- ถ้ามีระดับกรดยูริคในเลือดสูง ต้องควบคุมให้ลงมาอยู่ในระดับปกติ โดยการทานยา หรือควบคุมอาหารที่มีกรดยูริคสูง – ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อที่จะให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นการเขย่าไม่ให้ผลึกนิ่วที่อาจเกิดขึ้น