(น.พ.วิโรจน์ เหล่าสุนทรสิริ) มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบมากในซีกโลกตะวันตกในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สำหรับในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียพบไม่บ่อย แต่มีแนวโน้มว่าจะพบเพิ่มมากขี้นเนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกินได้เปลี่ยนแปลงไป (เรากินอาหารตะวันตกซึ่งมีไขมันสูงและใยอาหารต่ำมากขึ้นครับ) และการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้นทำให้เราตรวจวินิจฉัยได้เพิ่มมากขึ้น การศึกษาเมื่อปี ค.ศ.1986-1987 พบว่าอัตราการตายจากมะเร็งในลำไส้ใหญ่ในคนไทยเท่ากับ 1.6 และ 1.0 ต่อประชากร 100,000 คน ในเพศชายและหญิงตามลำดับ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีอัตราการตายจากโรคนี้สูงกว่าคนไทยประมาณ 10 เท่า สาเหตุของโรคนี้คืออะไร ? จริงๆ แล้วเราไม่รู้แน่นอนหรอกครับถึงสาเหตุทุกอย่าง แต่ก็มีหลักฐานบ่งบอกว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นเองมีอุบัติการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำ แต่เมื่อพยพไปอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่ามีอุบัติการของมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้นมาก อันนี้น่าสนใจมากในทางการแพทย์จึงได้ศึกษาทางระบาดวิทยาแล้วพบว่า ในประเทศที่ประชากรบริโภคอาหารไขมันเป็นปริมาณสูงจะมีอุบัติการของมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง มีทฤษฎีอธิบายว่า การบริโภคอาหารไขมันสูงจะทำให้มีสารก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น (primary carcinogen) หรือเกิดสารที่ส่งเสริมการเกิดเนื้องอก (tumor promoter) นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรที่บริโภคอาหารที่มีเส้นใย (fiber) น้อย เช่น อาหารตะวันตกจะมีอุบัติการของมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าประชากรที่กินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น อาหารจีน และอาหารไทย เชื่อกันว่าเส้นใยปริมาณมากนี้เองจะไปเจือจางสารก่อมะเร็ง และ/หรือรวมตัวกับสารก่อมะเร็งทำให้มันไม่มีโอกาสสัมผัสกับผิวลำไส้ใหญ่ อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ กรรมพันธุ์ มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึง 25% ทีเดียวที่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว เราพบโรคบางชนิดที่มีโอกาสเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ เช่น โรค familial polyposis coli พวกนี้จะพบติ่งเนื้อ (polyp) เป็นจำนวนมากในลำไส้ใหญ่ บางคนมีมากเป็นพันๆเลย และ ployp เหล่านี้จะกลายเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้เรายังพบโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ที่ไม่มี ployp อยู่ก่อน และถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ด้วย แต่โรคนี้พบน้อยในเมืองไทย การมีติ่งเนื้อหรือ ployp ในลำไส้ใหญ่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะถ้ามีขนาดใหญ่กว่า 2 เซ็นติเมตร จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งสูงถึง 30-50% ทีเดียว โรคนี้จะมีอาการเป็นอย่างไร ? ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงอยากจะรู้ว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีอาการอะไร ที่พบบ่อยที่สุดคือการถ่ายอุจจาระผิดปกติไป เช่น มีท้องผูกสลับกับท้องเสีย ท้องผูกอย่างเดียวหรือก้อนอุจจาระมีขนาดเล็กลง ภาษาชาวบ้านเรียก “ขี้แพะ” ครับ บางรายอาจมีเลือดออกทางทวารหนักซึ่งอาจมีจำนวนมากจนน่าตกใจ หรืออาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเนื่องจากมีปริมาณน้อย ต้องตรวจอุจจาระด้วยวิธีพิเศษ ผู้ป่วยบางรายมีการเสียเลือดเรื้อรังเป็นเวลานานๆ ก็มีโลหิตจาง อ่อนเพลีย ใจสั่น เหนื่อยง่าย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง , ตรวจพบก้อนในท้อง และมีลำไส้อุดตันได้ มีบางส่วนที่มาพบแพทย์ค่อนข้างจะช้า คือ มาในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว เช่น ที่ตับ, ปอด หรือสมอง อันนี้ก็แย่หน่อยเพราะหมดโอกาสที่จะรักษาให้หาย การพยากรณ์โรค เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ มะเร็งในลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆ ก็มีผลการรักษาดี เราแบ่งระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น A,B,C และ D อัตราการอยู่รอด 5 ปี หลังการรักษามีดังนี้ A 90% , B 70-80% , C 50% และ D น้อยกว่า 30% การรักษาก็แล้วแต่ระยะอีกละครับว่าจะใช้วิธีไหน ประกอบด้วยการผ่าตัด , การให้ยาเคมีบำบัด , รังสีรักษาซึ่งอาจจะใช้หลายวิธีร่วมกัน ใครบ้างที่ควรตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่าเพิ่งตกใจนะครับ ตลอดชีวิตของแต่ละคนมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เพียง 5% เอง แต่ถ้ามีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้โอกาสก็มีมากขึ้นเป็น 15% ทีเดียว ดังนี้เราควรจะสืบค้นหา (screen) มะเร็งลำไส้ใหญ่ในบุคคลเหล่านี้ 1. อายุเกิน 50 ปี และไม่มีอาการอะไร 2. มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ polyp ในลำไส้ใหญ่ 3. มีโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ 4. มีประวัติส่วนตัวเป็น polyp ในลำไส้ใหญ่ , มะเร็งเต้านม , มะเร็งมดลูก , มะเร็ง รังไข่ 5. มีอาการต่างๆ ที่ชวนสงสัยดังได้กล่าวมาแล้ว จะตรวจด้วยวิธีไหนดี ? วัตถุประสงค์ในการตรวจนี้ก็เพื่อจะสืบค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกๆ (ก็ผลการรักษาดีกว่ากันเยอะนี่นา) วิธีการตรวจก็มีหลายวิธียากง่ายแตกต่างกันไป ได้แก่ 1. การตรวจสารฮีม (Heme) ในอุจจาระ สารฮีมเป็นส่วนประกอบของเม็ดเลือด การตรวจวิธีนี้ง่าย , ราคาถูก เหมาะกับประเทศที่มีอุบัติการโรคนี้สูง (เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย) ข้อเสีย คือ มีผลบวกเท็จ และผลลบลวงได้บ่อยๆ 2. การตรวจลำไส้ใหญ่ส่วน ซิกมอยด์ (Flexible sigmoidoscopy) ตรวจพบมะเร็งได้แค่ 50% 3. x-ray สวนแป้ง (Barium Enema) ถ้าทำได้ดีก็มีผลเกือบเท่าการตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดด้วยการส่องกล้อง ข้อด้อยคือ ถ้าพบความผิดปกติก็ต้องมาทำการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องอีกทำให้เสียเวลา 4. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) สามารถตรวจดูลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด ถ้าพบความผิดปกติก็สามารถตัดชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยาได้เลยเป็นการประหยัดขั้นตอนและเวลา