จิตเวช: ความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์
โดย อ.วรนันท์ ศรียากร
ในปัจจุบันผู้ปกครองหลายท่านให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับ “EQ” กันมาก หลายท่านพอจะเข้าใจบ้าง และอีกหลายท่านเพียงแต่เคยได้ยินเท่านั้น ผู้ปกครองท่านหนึ่ง เดินเข้ามาด้วยใบหน้าวิตกกังวลและบอกว่า “ครูประจำชั้นของลูกบอกว่า ลูกของดิฉัน “EQ” ต่ำ หมายความว่ายังไงคะ?”
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ เราควรมาทำความเข้าใจในเรื่องของ “EQ” กันก่อน “EQ” (Emotional Quotient หรือ Emotional Intelligence) หรือในภาษาไทย มีชื่อเรียกว่า ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ มีจิตใจที่มั่นคง การมองโลกในแง่ดี รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความมุ่งมั่นแน่วแน่ มีเหตุผล มีสติ สามารถควบคุมตนเอง มีความสามารถในการรับรู้ถึงความต้องการของคนอื่น และรู้จักมารยาททางสังคม พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่มี “EQ” ดี จะเป็นคนที่สามารถแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ตามวัยของตน และสามารถอยู่กับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างดีนั่นเอง
“EQ” และ “IQ” เป็นของคู่กัน “IQ” หมายถึง ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ ความสามารถในการจดจำสิ่งต่างๆ และสามารถนำมาประเมินค่าได้ เท่าที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักจะเน้นอยากให้บุตรหลานเรียนเก่งๆ ซึ่งนั่นก็คือ การเน้นที่ “IQ” อย่างเดียว ซึ่งในปัจจุบันความคิดนี้ไม่น่าจะถูกต้องนัก มีคนหลายคนที่เรียนเก่ง ได้คะแนนสูง ฉลาด แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ในหน้าที่การงาน ดังนั้น คนเราถ้าจะเก่ง จะดี จะฉลาด และประสบความสำเร็จในชีวิต ควรจะต้องมีทั้ง “EQ” และ “IQ” ควบคู่กันไป
ที่ผ่านมา ผู้ปกครอง พ่อ แม่ โรงเรียน มักจะเน้นการเรียนการสอนให้เด็กเป็นคนเก่งทางการเรียน เน้นการได้คะแนนสูงๆ คือ เน้นเฉพาะการพัฒนาด้าน IQ เพียงอย่างเดียว และมองข้ามการพัฒนาด้าน EQ ไป มองข้ามการพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมทางจิตใจและอารมณ์ ในการที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
มีวิธีการง่ายๆ ที่ พ่อ – แม่ ผู้ปกครอง จะสามารถพัฒนา EQ ของลูกได้ โดยการ
เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก ในการแสดงออกต่างๆ เช่น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น
เล่นกับลูก หรือให้ลูกได้มีโอกาสเล่นกับเพื่อนๆ การเล่นนี้ พ่อ – แม่ ผู้ปกครอง อาจจะเป็นผู้นำในการเล่น เช่น “การเล่นแม่งูเอ๋ย” เพื่อให้เด็กรู้จักเคารพกติกา ซึ่งเป็นการฝึกทักษะทางสังคมให้กับเด็กนั่นเอง
ฝึกการรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้เด็กเรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีม มากกว่า ข้าเก่งอยู่คนเดียว เพื่อเป็นการเข้าใจถึงการยอมรับความคิดเป็นของคนอื่น เพื่อให้รู้จักการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นๆ เป็นต้น
คุณพ่อ – คุณแม่ ทั้งหลาย ท่านหันมามองบุตรหลานของท่านกันหน่อย ว่าท่านสอนให้ลูกมี “EQ” คู่กับ “IQ” หรือว่าสอนแต่ให้ลูกมี “IQ” อย่างเดียว ถ้าอยากให้อนาคตของชาติเป็นคนดี มีประโยชน์ เป็นคนที่สังคมต้องการ พร้อมทั้งประสบความสำเร็จในชีวิต ถึงเวลาแล้วที่จะหันมาพัฒนา “EQ” ให้ลูกของท่าน ซึ่งการพัฒนา EQ นั้น ท่านสามารถลงมือปฏิบัติเองได้ อย่ามัวหลงเชื่อโฆษณาที่มุ่งเน้นแต่จะทำธุรกิจ หากินกับเด็กอยู่ต่อไปเลยนะคะ ตัวท่านเองนั่นแหละ ที่เป็นคนสำคัญ ที่จะพัฒนา “EQ” ให้กับลูกของท่านได้.