จิตเวช: จาก I.Q. ถึง E.Q. สู่ A.Q.
จาก I.Q. ถึง E.Q. สู่ A.Q.
ศ.กิตติคุณ พ.ญ.พยอม อิงคตานุวัฒน์
E.Q. หรือ Emotional Quotient
ที่เรียก E.Q. เพราะต้องการให้สัมผัสกับ I.Q. ตามตำราที่ถูกต้อง
จะเรียกชื่อเต็มว่า Emotional Intelligence
E.Q. หรือ Emotional Intelligence หมายถึงความสามารถทางอารมณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งประกอบด้วย
1. ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง (Self Control)
2. ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นและของตนเอง (Knowing
one’s emotions)
3. ความสามารถในการแสดงออกซึ่งความมั่นคงของอารมณ์ ไม่หวั่น
ไหวง่าย รวมทั้งปฎิกริยาระหว่างบุคคลและปฎิกริยากับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้อง
และสัมพันธ์กับเหตุการณ์
4. ความสามารถที่ทำให้มีอารมณ์กระตือรือร้น อันจะก่อให้เกิดแรงจูงใจแล้วนำไปสู่ความสำเร็จส่วนตัว และความเจริญก้าวหน้าของสังคม
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง Self-control
หมายถึงความสามารถควบคุมการแสดงออกทาง กาย วาจา และสีหน้าได้ สมเหตุ
สมผล ตามแบบฉบับที่สังคมกำหนดไว้ หรือเป็นแบบฉบับซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมที่
เราดำรงชีวิตอยู่ เช่น การทักทายกันและกันสีหน้าก็ยิ้มแย้มแจ่มใส และใช้วาจาสุภาพ หรือ สามารถควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เห็นของ ๆ ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ของตนก็อยากได้ ถ้าไม่มี E.Q. ควบคุมให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ก็จะละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นโดยหยิบหรือขโมยไป ย่อมเป็นปัญหาของสังคมตามที่ท่านได้เคยพบเห็นมาแล้ว ความสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างบุคลิกภาพ
ให้น่าดูน่าชมทุกคนที่พบเห็นอยากติดต่อคบค้าสมาคมด้วย
1997 Mayer และ Salo กล่าวว่าบุคคลใดก็ตามที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ถึงแม้จะมีสติปัญญาเฉียบแหลม แต่ความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่อาจ
จะเกิดขึ้นได้ เช่น ในปี 1998 ประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศได้ นำไปสู่พฤติกรรมที่ขาดศีลธรรมเกิดเรื่องอื้อฉาวตามที่ทราบกันทั่วโลก ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ตัองใช้เงินในการสอบสวนหลาย 10 ล้านเหรียญ เพราะสติปัญญาที่เฉียบแหลมถูกครอบงำด้วยอารมณ์ทางเพศแล้วไม่สามารถควบคุมอารมณ์นั้น ๆ ได้ จึงประพฤติผิดศีลธรรมอันดีงามทั้ง ๆ ที่เป็นผู้นำชาติระดับโลก หรือในบางคนที่ควบคุมอารมณ์โกรธ อารมณ์อิจฉาของตัวเองไม่ได้ ก็จะทำให้พฤติกรรมที่แสดงออกขาดความเหมาะสม เพราะฉนั้น ความสามารถทางอารมณ์จะต้องควบคู่ไปกับความสามารถทางสติปัญหา จึงจะช่วยให้บุคคลนั้น ๆ ประสบความสำเร็จหรือมี A.Q. (Adversity Quotient) นั่นเอง
ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นและอารมณ์ของตัวเอง
เมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องด้วยก็จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีความอดทน มีความห่วงใยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทำให้เกิดความผูกพันทางอารมณ์ ผลที่ได้รับคือทำให้พฤติกรรมที่แสดงออกต่อกัน
สมเหตุ สมผล นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อกันแล้วรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน จึงทำให้สังคมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เจริญก้าวหน้า เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม (Social
Responsibility) ที่สำคัญที่ทำให้ทุกคนในสังคมมีความสุข และทำให้สังคมคงรูปอยู่ได้ไม่ปั่นป่วน การขาด E.Q. ในด้าน Social Responsibility สังคมจะมีแต่ความเดือดร้อน คนส่วนใหญ่หาความสุขไม่ได้ดังที่ปรากฎอยู่ในขณะนี้ ผู้นำครอบครัวผู้นำองค์กรหรือผู้นำประเทศถึงแม้จะมี I.Q. สูงมากสักปานใดแต่ถ้าขาด E.Q. หรือ Emotional Intelligence ก็จะขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง (Self Control) ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วยังขาด E.Q. ในส่วนของ Social Responsibility อีก ย่อมไม่อาจนำความเจริญมาสู่ครอบครัว สู่องค์กรหรือสู่ประเทศชาติได้
ความสามารถในการแสดงออกซึ่งความมั่นคงของอารมณ์ (Emotional stability) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การดำรงชีวิตประจำวันของตนเอง ของผู้อยู่ร่วมด้วยตลอดจนบุคคลในสังคมรอบตัวมีความสุขและราบรื่น ทำให้มีคนอยากติดต่อด้วยอยากอยู่ใกล้ ๆ เพราะพูดคุยด้วยแล้วมีความสุข ในทางตรงข้ามผู้ที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง โกรธง่าย โกรธบ่อย โกรธรุนแรงไม่สมเหตุสมผล อารมณ์ไม่แน่นอน วันนี้ทักทายยิ้มแย้มดี พรุ่งนี้อาจจะไม่มองหน้าไม่พูดด้วย หรือในวันเดียวกันอาจจะมีหลายอารมณ์ เช่น เสียใจง่าย เสียใจบ่อย หรือโกรธบ่อยโดยไม่มีเหตุ ตลอดวัน อาจจะอารมณ์ไม่แจ่มใสไม่ยิ้มแย้ม แล้วจะมีใครอยากเข้าใกล้หรืออยากคบหาสมาคมด้วย ความสามารถในการแสดงออกซึ่งความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional Stability) จะทำให้ความสัมพันธ์ดีทุกระดับ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ครูกับนักเรียน
นายจ้างกับลูกจ้างหรือผู้บริหารประเทศกับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือในทางสร้างสรรค์ทุกระดับชั้นของสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศ
ความสามารถที่ทำให้มีอารมณ์กระตือรือร้น เกิดแรงจูงใจที่จะต่อสู้อุปสรรคทั้งมวล เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จส่วนตัว แล้วความเจริญของสังคมนั้น ๆ ย่อมเป็นผลตามมาอย่างแน่นอน
สังคมใดที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่มี E.Q. สูงทั้ง 4 องค์ประกอบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อันได้แก่ :-
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง
ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่นและของตนเอง
ความสามารถในการแสดงออกซึ่งความมั่นคงของอารมณ์
ความสามารถที่ทำให้เกิดอารมณ์กระตือรื้นร้น
บุคคลนั้นๆ ก็จะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมในทางสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ
ต่อสังคมที่บุคคลนั้น ๆ ดำรงชีวิตอยู่ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า I.Q. และ E.Q. จะนำท่านไปสู่ A.Q. (Adversity Quotient = ความสามารถสู่ความสำเร็จ) ด้วย
E.Q. หรือความสามารถทางอารมณ์พัฒนาพร้อมๆ กับ I.Q. และการพัฒนาของ E.Q. ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้
1. ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยได้พื้นของอารมณ์จากบรรพบุรุษถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ถ้าพื้นของอารมณ์ดีไม่หงุดหงิดจะทำให้ E.Q. ดี
2. สภาวะทางอารมณ์ของแม่ขณะตั้งครรภ์ พ่อมีอิทธิพลมากต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์
3. ท่าทีในการเลี้ยงดูอบรมของพ่อแม่ ให้ลูกได้เรียนรู้ตามวัย ว่าสิ่งใดดีควรทำ สิ่งใดไม่ดีไม่ควรทำ และเรียนรู้การแสดงออกของอารมณ์ให้สมวัย
4. การเลียนแบบอย่างของ E.Q. จากพ่อแม่ที่บ้านหรือภายในครอบครัว
การเลียนแบบอย่างของครูเมื่อถึงวัยออกสู่สังคมนอกบ้านแห่งแรกคือโรงเรียน นอกจากนั้นแล้วยังเลียนแบบ E.Q. ของของบุคคลรอบตัวในสังคมซึ่งขยายตัวกว้างขวางมากขึ้นตามวัยที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของเด็ก ในที่สุด E.Q. ก็จะพัฒนาจนเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลิกภาพเมื่อเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (Early Adulthood)
ฉนั้นผู้ที่มี I.Q. อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วมี E.Q. พัฒนาถึงวุฒิภาวะตามวัยดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็จะมี A.Q. พัฒนาตามมาด้วย ซึ่งท่านจะติดตามเรื่อง A.Q. ได้จาก “ 9 ทันโรค” ฉบับหน้า