จิตเวช: ห้ามบ่อยๆ หรือจะปล่อยตามใจ
ห้ามบ่อยๆ หรือจะปล่อยตามใจ
โดย พญ.พยอม อิงคตานุวัฒน์
การเลี้ยงลูกถึงแม้จะเป็นเรื่องของชีวภาพ มนุษย์ไม่ว่าอยู่ที่มุมใดของโลกเมื่อมีลูกก็จะเลี้ยงลูกเป็น หากแต่การเลี้ยงลูกย่อมแตกต่างตามภูมิภาคและวัฒนธรรมรวมทั้งดินฟ้าอากาศของพื้นผิวโลกที่บุคคลนั้นอาศัยอยู่ ทารกหลังคลอดจะช่วยตัวเองไม่ได้เลยต้องมีแม่เป็นผู้ให้อาหารให้ความอบอุ่นดูแลความสะอาด และการหลับนอนโดยมีพ่อแม่เป็นผู้ช่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทารกจะช่วยตัวเองได้น้อยมากๆ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ลูกแมว ลูกสุนัข สามารถคลานไปหาเต้านมแม่เพื่อดูดน้ำนมเลี้ยงชีวิตให้เติบโตได้ แต่ทารกหาอาหารให้ตัวเองไม่ได้ แม่จะต้องเป็นผู้เอานมใส่ปากลูก ถ้าแม่ไม่เอาหัวนมไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมขวดใส่ปากทารก ทารกก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้
การเลี้ยงลูกเป็นปรัชญาที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนซึ่งต้องการพลังกายกำลังใจต้องการความอดทนสูง และต้องการปฏิภาณไหวพริบที่เฉียบแหลมด้วย พ่อแม่ไม่เพียงแต่เลี้ยงลูกให้ร่างกายเติบโตเท่านั้น จะต้องเลี้ยงลูกให้รู้จักปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามระเบียบวัฒนธรรมของถิ่นกำเนิดที่อาศัยอยู่ด้วย การให้อาหารเด็กอ่อนรวมทั้งการดูแลสุขอนามัยส่วนตัวเป็นเรื่องง่าย เพราะเด็กอ่อนหรือทารกทำหน้าที่รับอย่างเดียว พ่อแม่จะทำให้อย่างไรก็รับทั้งนั้น จนกระทั่งทารกเติบโตขึ้นมีความสามารถเพิ่มขึ้นตามพัฒนาการของสมองทำให้ไขว่คว้าได้ คลานได้ เริ่มเห็นวัตถุรอบตัวที่ผ่านเข้ามาในสายตาเกิดความสนใจ จึงคลานไปรอบห้องซึ่งเปรียบเหมือนโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลของเด็ก สำหรับตัวเด็กเองจะสนุก ตื่นเต้น มีความสุขกับสิ่งใหม่ๆ ที่ได้เห็นได้จับต้องลูบคลำ จึงไม่ยอมอยู่ใกล้แม่หรือพี่เลี้ยง จะพยายามคลานไปคว้าโน่นฉวยนี่ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ พฤติกรรมและความสามารถของลูกที่เพิ่มขึ้นทำให้มีปฏิกิริยาจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่รอบตัวเป็น 2 แบบ
แบบแรก เราจะได้ยินเสียงพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงคอยเรียก “มานี่เร็ว เอ๊ะบอกว่าอย่า หรือ แน้ะอย่านะ” เสียงเรียกเสียงห้ามต่างๆ นานา ซึ่งเด็กได้ยินเป็นประจำ ตั้งแต่เด็กเองก็ยังไม่รู้ความหมายของภาษาที่แม่สื่อความหมายกับตัวเด็กแล้วเด็กเองก็ยังพูดไม่เป็นอีกด้วย เมื่อได้ยินเสียงเรียกเสียงห้ามในระยะแรกๆ อาจจะหยุดคลานแล้วหันมายิ้มด้วย เพราะเข้าใจว่าพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงทักทายด้วยก็หยุดทักทายตอบด้วยการยิ้ม แล้วรีบคลานหนีไปมุ่งสู่สิ่งที่สนใจข้างหน้า ถ้าแม่หรือพี่เลี้ยงนั่งอยู่กับที่แล้วใช้เสียงตะโกนตามหลังเด็กไป “เอ๊ะอย่านะ! แน้ะอย่านะ บอกว่าอย่ายังไม่หยุดอีก” จะไม่เกิดประโยชน์ในการปลูกฝังนิสัยที่ดีงาม หรือปลูกฝังความประพฤติที่ถูกต้องให้กับลูกพร้อมๆ กันเด็กก็ไม่เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งใดถูกเล่นได้ สิ่งใดไม่ถูกไม่ควรเล่น การที่ผู้ใหญ่ห้ามด้วยเสียงแล้วไม่สามารถหยุดพฤติกรรมที่ขาดความเหมาะสมของเด็กได้ เด็กจะฟังจนเกิดความเคยชิน ตะโกนห้าม ตะโกนเรียกเสียงเอะอะ เด็กก็ไม่สนใจ คงทำตามความสนใจของตนเองตามพัฒนาการของสมอง ฉะนั้นในการเลี้ยงลูก คำพูดและน้ำเสียงของแม่หรือพี่เลี้ยงจะมีความหมายและมีความสำคัญในการปลูกฝังสิ่งที่ควรสิ่งที่ถูกต้องให้ก ับลูกก็ต่อเมื่อพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงได้แสดงพฤติกรรมประกอบด้วย เช่น เห็นลูกคลานตรงไปที่ปลั๊กไฟฟ้า แม่จะเปล่งเสียงลั่นห้าม “อย่านะ อย่านะ” แล้วต้องรีบลุกตามไปอุ้มลูกออกมาจากจุดที่จะเป็นอันตราย ทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ลูกเฉียดเข้าไปใกล้ปลั๊กไฟฟ้า ลูกจะได้เรียนรู้ว่าส่วนนั้นของห้องเข้าไปไม่ได้ และได้เรียนรู้ความหมายของคำที่แม่พูดด้วย เป็นการช่วยการพัฒนาภาษาทางอ้อมให้กับลูกอีกทางหนึ่ง
การร้องห้ามทุกครั้งที่เด็กเคลื่อนไหวห่างออกไปหรือแสดงท่าทางไขว่คว้าว่า “อย่าไปนะ มานี่ อย่าจับนะ อย่าเล่นนะ” โดยไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวโยงปฏิบัติต่อเด็กจากพ่อแม่ประกอบด้วยตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาของเด็กทำให้
เด็กขาดประสบการณ์ในการเรียนรู้ เนื่องจากแม่หรือพี่เลี้ยงจะหาทางไม่ให้ลูกไปไกลจากตัว เมื่อเด็กดิ้นจะไปก็พูดแต่ “ไม่ไปนะ อย่าไปนะ เอ๊ะอย่านะ” หมดโอกาสได้เรียนรู้จักของใหม่สำหรับชีวิตเด็ก เป็นการบั่นทอนพัฒนาการด้านสติปัญญา และด้านการปรับตัวของเด็กอย่างมาก ไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามวัย
เด็กขาดการริเริ่ม เพราะทุกครั้งที่เห็นของใหม่ในชีวิต เด็กจะอยากลูบคลำแตะต้อง แต่พ่อแม่พี่เลี้ยงจะร้อง “อย่านะ ไม่เอานะ” ไม่ว่าของสิ่งนั้นเด็กสมควรหรือไม่สมควรจะแตะต้อง เมื่อถูกขัดขวางบ่อยๆ ความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ อันพึงมีตามวัยก็หมดไป อีกทั้งยังไม่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งของหรือวัตถุใดที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ตนเองบ้าง จึงพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความคิดริเริ่ม
เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะทุกครั้งที่อยากแสดงออกจะถูกขัดขวางตลอดเวลา พอทำท่าจะคลานออกไปก็มีเสียงห้ามตั้ง 4 – 5 เสียง เด็กจะเข้าใจเอาเองว่าสิ่งที่ตนคิดหรือทำคงจะไม่ถูก เพราะมีแต่เสียง “อย่า! อย่า! อย่า!” ทำให้กลายเป็นเด็กลังเลทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจ คิดไม่ตกว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เนื่องจากขาดความมั่นใจในตัวเอง
แบบที่สอง ตรงข้ามกับแบบแรก ลูกจะขว้างปาขวดนมเมื่อกินหมดแล้วก็ปล่อยให้ทำซ้ำๆจนเป็นนิสัย ลูกจะคลานไปค้นรื้อของรอบห้องทั้งๆ ที่ไม่ใช่ของเล่นของเด็ก พ่อแม่ก็ปล่อย ลูกจะเล่นขวดแก้ว ขวดน้ำ ถ้วยแก้ว ก็ปล่อยให้คว้าตามใจ เคาะจนแตกก็ดุพี่เลี้ยง ของที่เป็นอันตรายก็ไม่เก็บให้พ้นมือเด็ก เช่น กระติกน้ำร้อน ของร้อนทั้งหลายหรือของมีคม เช่น มีด ไม่ควรให้เข้าใกล้จะเกิดอันตรายได้ พ่อแม่ปล่อยให้เล่นของทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในสายตาเด็กจนติดเป็นนิสัย เด็กที่พ่อแม่ปล่อยตามใจจึงได้เล่นของที่ไม่ควรเล่นและไม่เป็นอันตราย แต่เกิดความเสียหายได้ เช่น นาฬิกาข้อมือ แว่นตา ปากกา ถ้าลูกคว้าแว่นตาจากหน้าพ่อ พ่อจะหัวเราะชอบใจปล่อยให้เอาไปเล่น จนหักหรือแตก เช่นเดียวกับปากกาที่พ่อเสียบไว้ที่กระเป๋าเสื้อ หรือนาฬิกาข้อมือที่ใส่อยู่บนข้อมือ เวลาพ่ออุ้มลูกอายุ 7 – 8 เดือนอยู่ลูกก็จะดึงนาฬิกาข้อมือพ่อดึงเล่นตามประสาเด็กที่ไม่เคยเห็นของสิ่งนี้มาก่อน ลูกบางคนจะดึงเอาดึงเอา พ่อใจดีตามใจคิดว่าลูกอยากได้อีกทั้งได้ปล่อยตามใจมาแล้วโดยตลอดไม่ว่าจะสมควรหรือไม่สมควร พ่อก็จะถอดนาฬิกาข้อมือให้ลูก เด็ก 7 – 8 เดือน เมื่อรับของแล้วก็ขว้างทิ้ง นาฬิกาเสียพ่อหัวเราะชอบใจ เป็นอย่างนี้ตั้งแต่ในขวบปีแรกของชีวิตลูก ลูกไม่เคยได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดควรเล่นสิ่งใดไม่ควรเล่น ไม่เคยเรียนรู้ว่าการทำหรือการเล่นของที่ไม่ใช่ของเล่นทำให้เกิดความเสียหาย หรืออาจทำให้เกิดอันตรายได้ เวลาทำของเสียแล้วก็ได้ของใหม่มาแทนที่ ซึ่งอาจจะดีกว่าของเก่าที่เสียไปอีกด้วย หรือทำของเสียก็ไม่ถูกตำหนิ ไม่เคยถูกปรามให้รู้ว่าผิดอย่าทำอีก การปล่อยตามใจของพ่อแม่นี้ในบางครอบครัวตามใจมากจนกระทั่งลูกร้องอยากได้ของๆคนอื่น เช่น เด็ก 1 ขวบ เห็นเด็กเพื่อนบ้านมีลูกโป่งถือเล่น ก็ร้องจะเอาให้ได้ พ่อแม่ก็ขอร้องให้เขายอมยกลูกโป่งให้ลูกตัวด้วยการติดสินบนอย่างอื่นใช้แทนลูกโป่ง ลูกก็ยิ่งได้ใจ และเป็นการปลูกฝังนิสัยเอาแต่ใจตัว และระเมิดสิทธิของผู้อื่นโดยพ่อแม่ไม่ทันคิด ลูกที่ถูกเลี้ยงโดยปล่อยตามใจนี้ จะทำให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางสังคม เมื่อเติบโตไปในวันหน้าจะเป็นคน
เอาแต่ใจตัว ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย การดำเนินชีวิตในวัยผู้ใหญ่ก็จะไม่มีความสุขเพราะขาดเพื่อน
ไม่มีความรับผิดชอบต่อข้าวของเครื่องใช้ของตัวเอง และของสมาชิกในครอบครัว เพราะทำเสีย ไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนว่าไม่ควรทำอีก หรือถูกปล่อยตามใจให้ทำเสียจนกลายเป็นคนไม่รักของ ไม่เสียดายของเพราะความเคยชินกับการทิ้งของ เสียแล้วซื้อใหม่ สิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่จำเป็นเมื่อเป็นผู้ใหญ่จะสร้างหลักฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้
ผู้ที่เป็นพ่อแม่เคยเลี้ยงลูกจะรู้ว่าการเลี้ยงลูกเป็นศิลปที่ละเอียดอ่อนดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงควรเดินสายกลาง การห้ามตลอดเวลาหรือการตามใจปล่อยตามเรื่องตามราว จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูก ทำให้ประเทศชาติมีทรัพยากรมนุษย์ที่คุณภาพต่ำ หรือปราศจากคุณภาพซึ่งเห็นอยู่ทั่วไปในสังคมของเรา “ลูกไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความรู้ตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก”