ผิวหนังในผู้หญิงแต่ละวัย และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ในแต่ละช่วงชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ผิวหนังก็เช่นกัน โดยการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในบางวัยก็จะก่อให้เกิดปัญหาผิวหนังต่างๆตามมา เช่น การเป็นสิวในวัยรุ่น
เราจึงควรต้องทำความรู้จักกับผิวหนังและเกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัย เพื่อเตรียมตัวดูแลผิวหนังให้สดใส สมวัย
เริ่มที่วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น เป็นช่วงที่ผิวหนัง มีการเปลี่ยนแปลงมากด้านการเจริญเติบโต คือ มีการเพิ่มขึ้นของผิวหนังตามขนาดน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ผิวของผิวหนังจะขยายประมาณ 7 เท่า นับตั้งแต่แรกเกิดจนโตเต็มวัย อีกทั้งผิวหนังเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลของฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลง โดยฮอร์โมนที่สำคัญ คือ ฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (Growth Hormone) และฮอร์โมนเพศ
*วัยเด็ก ผิวหนังมักไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากมีการผิดปกติของผิวหนังที่ได้รับถ่ายทอดทางพันธุกรรมอยู่แล้ว จนเข้าสู่วัยเรียน เมื่อเข้าโรงเรียนจะมีโอกาสเกิดผิวหนังอักเสบติดเชื้อต่างๆได้ง่าย เช่น หัด หัดเยอรมัน , สุกใส , หูด , หูดข้าวสุก , แผลพุพอง จนไปถึงหิดและเหาซึ่งจะติดต่อกันง่ายในโรงเรียน
*วัยรุ่น ด้วยอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ ทำให้มีขนขึ้นตามที่ต่างๆของร่างกาย และต่อมไขมันทำงานมากขึ้นจึงทำให้เกิดสิว ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ในวัยรุ่นเกือบทุกคน รวมถึงผื่นแพ้สัมผัสจากเครื่องสำอางก็สามารถพบได้เพราะวัยรุ่น เป็นวัยที่รักสวยรักงาม และเริ่มมีการใช้เครื่องสำอางต่างๆมากขึ้น อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย คือ ปัญหากลิ่นตัว เนื่องด้วยอิทธิพลของฮอร์โมน ทำให้ต่อมเหงื่อ ต่อมสร้างกลิ่นทำงานมากขึ้นนั่นเอง
*วัยผู้ใหญ่วัยทำงาน เป็นวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน ซึ่งผิวหนังก็ได้รับอิทธิพลของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงนี้ด้วยที่พบได้บ่อย คือ ผิวหน้า , เส้นผม รู้สึกมันขึ้นหรือแห้งลง ผิวหนังบวมน้ำขึ้น เป็นสิว ถ้ามีโรคผิวหนังอยู่แล้ว เช่น สะเก็ดเงิน , ผื่นหน้าแดง , เริม ช่วงมีรอบเดือนจะมีอาการของโรคนั้นๆมากขึ้นได้
*วัยทำงาน ในบางอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี , โลหะบางอย่าง อาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังต่างๆและโรคที่เกิดจากอาชีพการงานได้ ผื่นแพ้สัมผัสที่เกิดจากเครื่องสำอาง ก็พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยนี้เพราะเป็นวัยที่มีการใช้เครื่องสำอางกันทั่วไป
*ผู้หญิงตั้งครรภ์ เป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆมากมาย ส่งผลทั้งต่อร่างกายและจิตใจและส่งผลต่อผิวหนัง คือ มีการสร้างเม็ดสีที่ผิวหนังบริเวณต่างๆมากขึ้น เช่น หัวนม , อวัยวะสืบพันธุ์ ผิวหนังบริเวณตรงกลางของหน้าท้อง ร่วมกับมีการขยายของผิวหนังมากในทุกส่วน ทั้งหน้าท้อง , แขนขา ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแตกลาย และผื่นคันได้มากกว่าปกติ ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อก็ทำงานมากขึ้นระหว่างที่ตั้งครรภ์ จึงอาจพบว่ามีเหงื่อออกมากจนเกิดผื่น ผิวหนังอักเสบจากเหงื่อ ผิวจะมันขึ้นจนอาจพบสิวที่ใบหน้า , หน้าอกและแผ่นหลังได้มากขึ้น เล็บ , ผมและขนตามร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน บางคนจะมีขนตามร่างกายมากขึ้นได้ เล็บมีการร่อนได้ ส่วนผมไม่พบว่ามีการร่วงมากขึ้นหรือขึ้นดกกว่าปกติ จนกระทั่งหลังคลอดซึ่งจะมีโอกาสเกิดผมร่วงบางหลังคลอดได้
*วัยหมดประจำเดือน เมื่อเข้าสู่อายุ 45- 55 ปี ผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ในวัยนี้ฮอร์โมนเพศจากรังไข่จะลดลงมาก ซึ่งมีผลต่อผิวหนังโดยตรง ทั้งผิวหนัง ร่างกายและอวัยวะสืบพันธุ์ ผิวหนังจะเสียความยืดหยุ่นไป ผิวจะแห้งและบางลง ทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของผิวหนังได้ง่ายขึ้น ผิวหนังที่แห้งก็เป็นผื่นได้ง่ายเช่นกัน
การใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยนี้ ก็มีผลโดยตรงต่อผิวหนัง โดยฮอร์โมนทดแทนสามารถกระตุ้นให้เกิดฝ้า , เส้นเลือดฝอยที่ผิวหน้าขยาย , ไฝที่มีอยู่เข้มขึ้น โตขึ้น นอกจากนี้ มีรายงานว่าการให้ฮอร์โมนทดแทน อาจเกี่ยวข้องกับ การเกิดผื่นลมพิษเรื้อรังและโรคผิวหนังบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับแสงแดด
*วัยหลังหมดประจำเดือน ผิวหนังของผู้หญิงวัยนี้ จะเสียความยืดหยุ่นไปมาก อีกทั้งเกิดริ้วรอย จุดด่างดำมากโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด ซึ่งผิวหนังบางลงและมีเนื้องอกของผิวหนังต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น กระเนื้อ ติ่งเนื้อ ซีสต์ ใต้ผิวหนังและมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆ ต่อมไขมันทำงานน้อยลงมาก ส่งผลให้ผิวหนังแห้ง ในบางคนผิวจะแห้งมาก จนเกิดอาการคันที่ผิวหนังเรื้อรัง และอาการคันที่ผิวหนังเรื้อรังบางครั้งก็เป็นอาการแสดงของโรคบางโรคได้ ผมจะบางลง และมีสีผมจางลง มีผมหงอกมากขึ้น เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังเปราะแตกง่าย จึงอาจเกิดรอยช้ำ จ้ำเลือดใต้ผิวหนังได้บ่อย