อาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขาที่เกิดจากการอักเสบภายในโพรงประสาทที่มีรากประสาทไขสันหลังอยู่ ซึ่งมักมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท กระดูกข้อต่ออักเสบ หรือโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ ทำให้มีอาการปวดหลัง ซึ่งมักเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน อาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา หากปวดมากอาจรบกวนการนอนหลับ หรือ อาการชา ขาอ่อนแรงก็จะเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหวร่างกาย และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
ปัจจุบันการรักษาการปวดหลังจากภาวะดังกล่าวข้างต้นมีหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การผ่าตัด และทางเลือกหนึ่งของการรักษาอาการปวดหลังดังกล่าวคือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง เพื่อยับยั้งการอักเสบในโพรงประสาท เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วยที่ยังไม่อยากรักษาด้วยการผ่าตัด และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากการผ่าตัดสูง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค หรือผู้ที่เคยผ่าตัดแล้วแต่ยังมีอาการปวดอยู่ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเป็นการรักษาที่ลดอาการปวดได้ดี ภาวะแทรกซ้อนน้อย ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีนี้จะมีอาการปวดลดลงอย่างชัดเจน โดยหลังฉีดผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น คืออาการปวดจะลดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ และฤทธิ์ของยาอยู่ได้นานหลายเดือน จึงเป็นวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
สารบัญ
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังคืออะไร?
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังรักษาอะไรได้บ้าง?
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเหมาะกับใครบ้าง?
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังทำอย่างไร?
- การเตรียมตัวก่อนการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง
- การปฏิบัติตัวหลังการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง
- ผลข้างเคียงของการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง
- สรุป
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังคืออะไร?
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง (epidural steroid injections; ESI) เป็นการรักษาอาการปวดหลังโดยการฉีดยาสเตียรอยด์ที่ผสมกับยาชา เข้าไปที่โพรงประสาทไขสันหลัง (โพรงประสาทไขสันหลังเป็นโพรงช่องว่างที่อยู่ในกระดูกสันหลังซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาท) เพื่อลดการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลัง ที่เกิดจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท โรคโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบในผู้สูงอายุ โรคที่มีการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลัง หรือผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้วแต่ยังมีอาการปวดหลัง และปวดร้าวลงขาอยู่ เพื่อลดอาการปวดหลัง ปวดเอว แล้วร้าวลงขา น่อง จนถึงปลายนิ้วเท้าได้
โดยยาสเตียรอยด์ที่มีส่วนผสมของยาชาที่ฉีดเข้าไปในโพรงประสาทหรือโพรงกระดูกสันหลังนี้จะไปออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของเส้นประสาทที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดจากการกดทับจากหมอนรองกระดูก การตีบแคบของโพรงประสาทกระดูกสันหลัง การบาดเจ็บจากการผ่าตัด หรือจากการอักเสบด้วยสาเหตุอื่น ๆ ยานี้จะช่วยลดการอักเสบและการบวมของเส้นประสาท โดยไปยับยั้งสารอักเสบต่าง ๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการที่มีการอักเสบของเส้นประสาท จึงทำให้การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดอาการปวดหลัง การปวดร้าวลงขาได้เป็นอย่างดี การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดอาการปวดได้นานเป็นเดือนหรือหลายเดือน และเป็นการรักษาที่มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ผลข้างเคียงต่ำ จึงเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย
อย่างไรก็ตามการรักษาต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ เพราะเป็นหัตถการที่ยากกว่าการเจาะน้ำไขสันหลังหรือการฉีดยาเข้าโพรงประสาททั่วไป และต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังรักษาอะไรได้บ้าง?
- โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท (lumbar disc herniation)
- โรคโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ (spinal stenosis)
- โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม (degenerative disc)
- โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (spondylosis)
- อาการปวดร้าวลงขาจากภาวะข้อต่อฟาเซ็ตเสื่อม (facet joint syndrome)
- ข้อบ่งชี้อื่น ๆ เช่น อาการปวดหลัง โดยเฉพาะอาการปวดหลังส่วนล่าง หรือส่วนเอว (localized low back pain) หรือการอักเสบของเส้นประสาทจากสาเหตุอื่น ๆ
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเหมาะกับใครบ้าง?
- ผู้ที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขาเรื้อรัง จากโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทหรือโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ
- ผู้ที่มีอาการปวดหลังจากการอักเสบของข้อต่อฟาเซท เป็นอาการปวดจากข้อต่อกระดูกสันหลังทางด้านหลัง ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุของอาการปวดเรื้อรังได้ทั้งบริเวณ คอ หลัง และเอว
- ผู้ที่มีอาการปวดหลังที่รักษาด้วยการรับประทานยาและกายภาพบำบัดแล้วยังไม่ดีขึ้น
- ผู้ที่มีอาการปวดหลังมากจนกระทบการนอนหลับหรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดได้
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ เพื่อการพิจารณาและการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังทำอย่างไร?
การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง มีขั้นตอนดังนี้
- ทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อลดความรู้สึกเจ็บบริเวณที่ฉีดยา
- แพทย์จะหาตำแหน่งที่ต้องการฉีดยาสเตียรอยด์ และสอดเข็มเข้าไปในช่องว่างของโพรงประสาทตำแหน่งนั้น โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ (ultrasound) หรือเครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคป (fluoroscopy) ช่วยในการระบุตำแหน่งเพื่อความแม่นยำ
- แพทย์จะทำการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังตำแหน่งที่มีการอักเสบของเส้นประสาท
- หลังฉีดยาเสร็จแพทย์จะกดห้ามเลือด ทำความสะอาดบริเวณที่ฉีดและปิดแผลแล้วให้ผู้ป่วยพักฟื้นสังเกตอาการ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
การเตรียมตัวก่อนการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง
แพทย์จะตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพ ประเมินว่าสามารถรับการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังได้หรือไม่ และนัดหมายวัน เวลาในการเข้ารับการรักษา พร้อมอธิบายการเตรียมตัว ดังต่อไปนี้
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- หากมีโรคประจำตัว แพ้อาหารทะเล มีประวัติการแพ้สารทึบรังสี แพ้ยาชาเฉพาะที่ ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อป้องกันอาการแพ้ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
- หากมีประวัติการทานยาละลายลิ่มเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (warfarin) หรือโคลพิโดเกรล (clopidogrel) ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการปรับยาหรือหยุดยาก่อนการรักษา
- ควรแจ้งแพทย์หากมีการตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
- กรณีที่รับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางอย่าง ควรปรึกษาแพทย์ว่าจำเป็นที่จะต้องงดก่อนฉีดยาสเตียรอยด์หรือไม่
- ต้องมีญาติหรือผู้ดูแลมาโรงพยาบาลกับผู้ป่วยด้วย เพราะแม้ว่าหลังฉีดยา ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่อาจจะรู้สึกชา ๆ หรือหนัก ๆ ที่ขา อาจทำให้เดินได้ไม่สะดวก จึงต้องมีคนช่วยดูแล ซึ่งอาการชานี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังการฉีดยา 2-3 ชั่วโมง
การปฏิบัติตัวหลังการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง
- หลังการฉีดยา แพทย์จะสังเกตอาการประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
- หลังการฉีดยาควรเดินด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจมีอาการขาชา อ่อนแรงในช่วงแรกได้
- หลังการฉีดยาสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ยกเว้น การขับรถด้วยตัวเอง
- หากมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา มีไข้ ปัสสาวะหรือขับถ่ายไม่ได้ตามปกติ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ให้กลับมาพบแพทย์
ผลข้างเคียงของการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ แต่การรักษาอาจพบผลข้างเคียงได้ ดังนี้
- อาจมีอาการปวด บวม ช้ำบริเวณที่ฉีด 2-3 วัน ซึ่งสามารถบรรเทาอาการโดยการประคบเย็น
- อาจมีอาการแพ้ยาชา แพ้สารทึบรังสีได้หลังการฉีด
- ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ อาจทำให้เป็นสิวมากขึ้น ประจำเดือนมาผิดปกติ ในคนที่เป็นโรคเบาหวานการฉีดสเตียรอยด์อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราว หน้าบวม หรือตัวบวมได้
- ในคนที่เป็นโรคต้อหินอาจทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้น
- อาจมีอาการปวดศีรษะชั่วคราวหลังการฉีดยาจากการรั่วของน้ำไขสันหลังได้
- อาจมีเลือดออกในบริเวณที่ฉีดยา
- การติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดยา (พบได้น้อย)
- การฉีดสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง หากทำบ่อยเกินไปอาจทำให้กระดูกสันหลังหรือกล้ามเนื้อบริเวณข้างเคียงอ่อนแรงลงได้
สรุป
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง เป็นการรักษาอาการปวดหลังจากการอักเสบของเส้นประสาท ที่มีอาจมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ภาวะโพรงประสาทกระดูกสันหลังตีบแคบ หรือการอักเสบจากสาเหตุอื่น ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือปวดหลังร้าวลงขาทำให้มีผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด ลดอาการปวดและการอักเสบได้ดี มีความเสี่ยงต่ำ มีระยะเวลาการออกฤทธิ์เป็นเดือนหรือหลายเดือน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดหลังควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลลัพท์การรักษาที่ดีที่สุด