การกลับมามองโลกที่ชัดเจนโดยไม่ต้องใช้แว่น เป็นความปรารถนาของหลายๆ คนที่ใช้แว่นเป็นกิจวัตร ซึ่งอาจประสบความลำบากในการใช้แว่นสายตาหรือคอนเทคเลนส์ก็ตาม
ดังนั้นเลสิค LASIK จึงเป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ที่อยากมีอิสระจากแว่นตา หรือคอนเทคเลนส์ และเทคโนโลยียังคงพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่น PRK, LASIK, FemtoLASIK, ReLEx SMILE เป็นต้น ทำให้สามารถเลือกวิธีการรักษาสายตาจากเลสิคได้อย่างหลากหลาย แต่วิธีไหนจะเหมาะกับเรา หรือมีเกณฑ์การเลือกอย่างไร? ขึ้นอยู่สภาพสายตาและความพร้อมของเราเอง
เราจึงได้รวบรวมคำถาม และคำตอบที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนสงสัยและอยากรู้ รวมทั้งคำถามจากทุก ๆ ช่องทางมาไว้ที่นี่ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากทำเลสิคกันค่ะ
ปรึกษาเพิ่มเติม หรือนัดหมายได้ที่
สารบัญ
- เลสิค มีกี่แบบ อะไรบ้าง
- สายตาสั้นแค่ไหน ทำเลสิคไม่ได้
- สายตาเอียง ทำเลสิคได้ไหม
- สายตายาว ทำเลสิคได้ไหม
- สายตาทั้งยาวและสั้น รักษาได้ไหม
- ข้อดีของการทำเลสิค มีอะไรบ้าง
- ทำเลสิค ข้อเสียมีอะไรบ้าง
- ทำเลสิค ต้องมีอายุเท่าไหร่
- ผู้สูงอายุ ทำเลสิคได้หรือไม่
- ทำเลสิคแล้ว สายตากลับมาสั้นได้อีกไหม
- หากสายตากลับมาสั้นอีก จะทำเลสิคซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่
- ทำเลสิกแล้วตาแห้ง จริงหรือไม่
- ผลข้างเคียงหลังจากทำเลสิค มีอะไรบ้าง
- ทำเลสิค พักฟื้นกี่วัน
- ใส่แว่นตาป้องกัน UV ป้องกันสายตากลับมาสั้นอีกได้หรือไม่
- ทำไมคนที่จะสอบนักบิน แอร์โฮสเตส สอบเตรียมทหาร ตำรวจ ต้องทำเลสิคด้วยวิธี PRK เท่านั้น
- ใครไม่ควรทำเลสิคบ้าง
- ทำไมผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร จึงไม่ควรทำเลสิค
- หลังทำเลสิค ใส่คอนแทคเลนส์ได้หรือไม่
- แนวทางการเตรียมตัวก่อนทำเลสิค มีอะไรบ้าง
- พึ่งทำเลสิคมา มีข้อห้ามอะไรบ้าง
- ข้อปฏิบัติทั่วไปหลังทำเลสิค มีอะไรบ้าง
- ทำเลสิค ราคาเท่าไหร่
- อย่าให้ความสงสัย ปิดกั้นโอกาสของคุณ
เลสิค มีกี่แบบ อะไรบ้าง
ตอบ: การทำเลสิคที่นิยมในปัจจุบัน มีอยู่ 4 แบบ แตกต่างกันที่เทคนิคในการเปิดชั้นกระจกตาบน ก่อนปรับแต่งความโค้งของกระจกตา ได้แก่
- เลสิคแบบแผลเล็ก (ReLEx SMILE)
- เฟมโตเลสิค หรือเลสิคไร้ใบมีด (FemtoLASIK)
- เลสิคใบมีด (Blade LASIK or SBK)
- เลสิคแบบลอกผิว (PRK)
เลสิคแบบไหนเหมาะเรา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
สายตาสั้นแค่ไหน ทำเลสิคไม่ได้
ตอบ: การทำเลสิค ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีค่าสายตาสั้นมากกว่า 1,400 อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เข้ามาตรวจอย่างละเอียดก่อน หากค่าสายตาอยู่ในเกณฑ์ที่ทำได้ จักษุแพทย์จะแนะนำเทคนิคการทำเลสิคที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีระดับค่าสายตาสั้นแตกต่างกันไป
สายตาเอียง ทำเลสิคได้ไหม
ตอบ: สามารถทำได้ แต่ถ้าเอียงมาก จะเหมาะกับการรักษาโดยการใส่เลนส์เสริมแบบแก้ไขสายตาเอียง
คนไข้ที่สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการทำเลสิคได้ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น (Myopia), สายตายาว (Hyperopia), สายตาเอียง (Astigmatism) และอาจร่วมกับสายตายาวตามวัย (Presbyopia)
สายตายาว ทำเลสิคได้ไหม
ตอบ: ถ้ามีภาวะสายตายาว (Hyperopia) เล็กน้อย-ปานกลาง สามารถรักษาด้วยเลสิคได้ แต่ถ้าสายตายาวมาก แนะนำให้แก้ไขด้วยการใส่เลนส์เสริม
สายตาทั้งยาวและสั้น รักษาได้ไหม
ตอบ: สำหรับผู้ที่สายตาสั้น ร่วมกับภาวะสายตายาวตามอายุ ซึ่งมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การรักษาด้วยเลสิคจะมี 2 วิธี ได้แก่
- ทำเลสิคแก้ค่าสายตาให้มองเห็นไกลชัดทั้ง 2 ข้าง และต้องใส่แว่นทุกครั้งที่ต้องการมองใกล้
- ใช้เทคนิคที่ทำให้ค่าสายตาข้างใดข้างหนึ่งกลายเป็นสายตาสั้นเล็กน้อยเพื่อให้มองเห็นใกล้ ๆ ได้ชัด ในขณะที่ตาอีกข้างหนึ่ง จะทำให้มองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจน เมื่อใช้สายตาทั้งสองข้างพร้อมกัน จะทำให้มองเห็นได้ชัดเจนทั้งใกล้และไกล
ข้อดีของการทำเลสิค มีอะไรบ้าง
ตอบ: การทำเลสิค เป็นเทคนิคในการเจียระไนเนื้อกระจกตาให้ได้ความโค้งที่พอดีกับค่าสายตา เพื่อปรับให้ภาพคมชัด สามารถแก้ไขสายตาผิดปกติได้อย่างถาวร และไม่ต้องพึ่งพาแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน ทำให้ผู้ทำเลสิค สามารถเลือกใช้เทคนิคที่ใช้เวลาในการผ่าตัดและการพักฟื้นสั้น แผลหายเร็ว สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด
ในระยะยาว การทำเลสิค ช่วยให้เรามีอิสระในการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น สามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ (จากเดิมที่การใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์เคยเป็นอุปสรรค) แล้วยังเป็นการเสริมบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นได้อีกด้วย
ทำเลสิค ข้อเสียมีอะไรบ้าง
ตอบ: การรักษาค่าสายตาด้วยวิธีการเลสิค ก็จะมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ข้อจำกัดเรื่องโรคดวงตาบางชนิด รวมถึงเทคนิคการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน และผลข้างเคียงต่าง ๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นข้อเสียที่ผู้สนใจควรทำความเข้าใจให้ดีก่อน เพื่อให้มีความคาดหวังที่ถูกต้องเหมาะสมกับเทคนิคการรักษา
ทำเลสิค ต้องมีอายุเท่าไหร่
ตอบ: จักษุแพทย์แนะนำให้มีอายุอย่างน้อย 18 ปีขึ้นไป แต่อายุก็เป็นเพียงเกณฑ์หนึ่งของการทำเลสิค จริง ๆ แล้ว จักษุแพทย์จะให้ความสำคัญกับความนิ่งของค่าสายตามากกว่า ซึ่งผู้ที่จะทำเลสิคได้ ค่าสายตาต้องคงที่ เปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 50 (0.5D) เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่มีค่าสายตาไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก มักจะเป็นผู้ที่มีช่วงอายุระหว่าง 25-40 ปี
ผู้สูงอายุ ทำเลสิคได้หรือไม่
ตอบ: ผู้สูงอายุ มีเกณฑ์ที่เสี่ยงต่อภาวะต้อกระจก และโรคเกี่ยวกับตาบางชนิด เช่น โรคตาแห้ง โรคเบาหวานที่จอประสาทตา โรคต้อหิน ที่อาจกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาด้วยเลสิค จักษุแพทย์จึงต้องมีการประเมินเรื่องนี้ให้ก่อน หากไม่มีภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ก็สามารถเข้ารับการทำเลสิคได้
ทำเลสิคแล้ว สายตากลับมาสั้นได้อีกไหม
ตอบ: การทำเลสิคจะช่วยแก้ไขปัญหาสายตาได้อย่างถาวร (เป็นการ set zero ค่าสายตา) แต่ไม่ได้หมายความว่าสายตาจะกลับมาสั้นอีกไม่ได้ ซึ่งเหตุผลของการกลับมาสายตาสั้น ไม่ได้เกิดจากการทำเลสิค แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านร่างกาย และกรรมพันธุ์
นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ทำเลสิคหลังจากนั้น เช่น ถ้าหากมีการใช้สายตาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ครั้งละนาน ๆ โดยไม่พัก ก็อาจเพิ่มโอกาสที่สายตาจะกลับมาสั้นอีกได้ ดังนั้น ทางที่ดีคือ พยายามใช้สายตาให้น้อย พักสายตาบ่อย ๆ ด้วยการหลับตาหรือมองไกล ๆ
หากสายตากลับมาสั้นอีก จะทำเลสิคซ้ำอีกครั้งได้หรือไม่
ตอบ: ทำได้ ถ้าหากจักษุแพทย์ประเมินแล้วว่ากระจกตามีความหนามากเพียงพอ เพราะการจะทำเลสิคได้หรือไม่นั้น จะพิจารณาจากความหนาของกระจกตาเป็นหลัก รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ
ทำเลสิกแล้วตาแห้ง จริงหรือไม่
ตอบ: ภาวะตาแห้งหลังทำเลสิค สามารถเกิดขึ้นได้ โดยจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากทำเลสิคแล้วประมาณ 6 เดือน ทั้งนี้ จะตาแห้งมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของการทำเลสิค รวมถึงสภาพตาก่อนทำเลสิคด้วย
จักษุแพทย์จะมีการประเมินภาวะตาแห้งของผู้ป่วยก่อนทำเลสิคอยู่แล้ว หากผู้ป่วยมีอาการตาแห้งมาก่อน ก็จะเพิ่มโอกาสให้มีอาการตาแห้งมากยิ่งขึ้นหลังจากทำเลสิคได้ ต้องเลือกประเภทการเลสิคที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ตาแห้งน้อย หรือบางราย จักษุแพทย์อาจพิจารณาไม่ให้ทำเลสิคเลย
ผลข้างเคียงหลังจากทำเลสิค มีอะไรบ้าง
ตอบ: ผลข้างเคียงหลังการทำเลสิค ที่จักษุแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงที่สุด คือ กระจกตาโก่งย้วย เกิดจากผู้ป่วยที่กระจกตาหนาไม่เพียงพอ แต่โดยทั่วไปจะมีการตรวจประเมินให้ก่อนอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีภาวะฝากระจกตาเคลื่อน แต่พบได้น้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของการทำเลสิค และมักเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนภายหลังการทำเลสิค ป้องกันได้ด้วยการทำเลสิคแบบ ReLEX Smile
ผลข้างเคียงทั่วไป มักสามารถหายได้เอง
- ภาวะตาแห้ง โดยจะเป็นมากในช่วง 6 เดือนแรกหลังทำ แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมบ่อย ๆ
- มองเห็นแสงฟุ้งกระจาย โดยเฉพาะในเวลาที่มองแสงไฟตอนกลางคืน ใช้เวลาประมาณ 3 – 6 เดือนจึงจะเริ่มดีขึ้น
ทำเลสิค พักฟื้นกี่วัน
ตอบ: ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเลสิค เนื่องจากแต่ละเทคนิค จะก่อให้เกิดบาดแผลไม่เหมือนกัน ส่งผลต่อระยะเวลาพักฟื้น อย่างเร็วสุดคือ 2 วัน อย่างช้าสุดคือ 2 สัปดาห์ ผู้สนใจควรประเมินความเหมาะสมกับภาระ หน้าที่ และอาชีพดูว่า สามารถหยุดพักฟื้นได้นานหรือไม่ และตรวจสอบว่าตนเองเหมาะสำหรับทำเลสิคด้วยเทคนิคใด
สามารถเปรียบเทียบประเภทการเลสิคแต่ละชนิดได้ที่นี่
ใส่แว่นตาป้องกัน UV ป้องกันสายตากลับมาสั้นอีกได้หรือไม่
ตอบ: ไม่เกี่ยวข้องกัน สาเหตุหลักของภาวะสายตาสั้นมักมาจากปัจจัยทางสุขภาพ ร่างกาย กรรมพันธุ์ และพฤติกรรม การใส่แว่นตาป้องกัน UV จะช่วยในเรื่องการป้องกัน UV เพื่อความสบายตาเท่านั้น
ทำไมคนที่จะสอบนักบิน แอร์โฮสเตส สอบเตรียมทหาร ตำรวจ ต้องทำเลสิคด้วยวิธี PRK เท่านั้น
ตอบ: PRK (Photorefractive Keratectomy) จะไม่แยกชั้นกระจกตา แต่จะลอกผิวกระจกตาชั้นนอกสุดออกก่อน แล้วใช้เลเซอร์ปรับความโค้งของกระจกตาอีกที นับเป็นวิธีที่คงความแข็งแรงสมบูรณ์ของกระจกตาไว้เหมือนเดิม จึงเหมาะสำหรับผู้ที่อาจต้องปฏิบัติหน้าที่หรือมีอาชีพที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่อชั้นกระจกตาได้
ใครไม่ควรทำเลสิคบ้าง
ตอบ: ผู้ที่ไม่ควรทำเลสิค มีดังนี้
- ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน โรค SLE โรคเบาหวาน รูมาตอยด์ (ไขข้ออักเสบ) ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระจกตาหรือดวงตา
- ผู้ที่มีกระจกตาบาง โก่ง หรือผิดรูป
- ผู้ที่ค่าสายตาที่ยังไม่นิ่ง
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
ทำไมผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร จึงไม่ควรทำเลสิค
ตอบ: เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวของคุณผู้หญิง มักจะเกิดภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไปได้ ทำให้การตรวจวัดค่าสายตาเพื่อวางแผนทำเลสิค อาจไม่แม่นยำเท่าที่ควร จึงแนะนำให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปก่อน
หลังทำเลสิค ใส่คอนแทคเลนส์ได้หรือไม่
ตอบ: ใส่ได้ แต่จะต้องเป็นคอนแทคเลนส์ที่มีความโค้งเหมาะสมสอดคล้องกับความโค้งกระจกตา เพราะถ้าคอนแทคเลนส์ไปกดแน่นหรือหลวมเกินไป อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้คอนแทคเลนส์
แนวทางการเตรียมตัวก่อนทำเลสิค มีอะไรบ้าง ?
ตอบ: อย่างแรกควรนัดแพทย์ เพื่อเข้าไปทำการตรวจเช็คสายตาโดยละเอียดก่อน เพื่อความมั่นใจว่าตัวเองสามารถทำเลสิคได้ หลังจากนั้นจะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อเตรียมตัวก่อนทำเลสิค ดังนี้
- หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ต้องมีผู้ปกครองมาด้วย
- หากใช้คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกก่อน อย่างน้อย 3 วัน หากเป็นคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ให้ถอดอย่างน้อย 7 วัน เพราะจะช่วยให้แพทย์ตรวจวัดค่าสายตาได้อย่างแม่นยำขึ้น และทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- งดใช้ยารักษาสิว อย่างน้อย 1 เดือน (ทั้งก่อนตรวจสภาพตา และก่อนผ่าตัด) เพราะเป็นยาที่ส่งผลต่อเยื่อบุและผิวกระจกตา อาจทำให้การวัดประเมินดวงตามีความคลาดเคลื่อน
- ถ้าใช้ยาประจำอยู่ ต้องแจ้งให้จักษุแพทย์ทราบ
- วันที่มาตรวจประเมินสายตา ควรเตรียมแว่นกันแดดไว้ และพาเพื่อนหรือญาติมาด้วยเพื่อคอยดูแล เนื่องจากต้องมีการหยอดยาขยายม่านตา
พึ่งทำเลสิคมา มีข้อห้ามอะไรบ้าง
ตอบ: โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นข้อห้ามเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หรือกระทบกระเทือนกระจกตา ได้แก่
- สวมฝาครอบตา ห้ามแกะฝาครอบเด็กขาด
- หากน้ำตาไหล ให้ซับน้ำตารอบ ๆ ฝาครอบตา ห้ามแยงนิ้วเข้าไปซับน้ำตาในที่ครอบตา
- งดการใช้สายตาให้มากที่สุด พักผ่อนมาก ๆ ทำกิจกรรมต่าง ๆ เท่าที่จำเป็น
- ระวังอย่าให้น้ำ หรือฝุ่นผงต่าง ๆ เข้าตา
ข้อปฏิบัติทั่วไปหลังทำเลสิค มีอะไรบ้าง
ตอบ: เพื่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ผู้ทำเลสิค ควรปฏิบัติดังนี้
- เข้าพบจักษุแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- หยอดยาปฏิชีวนะที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- สามารถหยอดน้ำตาเทียมได้บ่อยตามต้องการ (ภายหลังจากที่แพทย์อนุญาต)
- ห้ามให้น้ำหรือฝุ่นเข้าตาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ห้ามขยี้ตา การขยี้ยาเป็นเรื่องที่พลั้งเผลอกันง่ายมาก จึงไม่ควรเปิดฝาครอบตาออกหากไม่จำเป็น และต้องใส่ไว้ตลอดแม้แต่ตอนนอน เพราะจะช่วยป้องกันการเผลอขยี้ตาได้
- งดการแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา อย่างน้อย 1 สัปดาห์ ลดโอกาสระคายเคืองต่อดวงตา
- สวมแว่นตากันแดด ลดความไม่สบายตา หรืออาการตาแห้งได้
- ใช้สายตาได้บ้าง แต่ควรหยุดพักสายตาบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการตาล้าได้
- งดกิจกรรมทุกชนิดที่ทำให้เหงื่อออก เป็นเวลา 1 สัปดาห์
- งดกิจกรรมทางน้ำ ได้แก่ งดว่ายน้ำ 1 เดือน และงดกิจกรรมดำน้ำ 3 เดือน นับจากวันผ่าตัด
ทำเลสิค ราคาเท่าไหร่
ตอบ: ค่าใช้จ่ายในการทำเลสิค ขึ้นอยู่กับประเภทของการเลสิค (ซึ่งควรพิจารณาเลือกจากความเหมาะสมกับสถานการณ์ของเราเป็นหลักก่อน) สำหรับศูนย์เลสิคพระรามเก้า มีค่าบริการทำเลสิคอยู่ในช่วงระหว่าง 35,900 – 90,000 บาท สนใจสอบถามค่าบริการได้ที่นี่
อย่าให้ความสงสัย ปิดกั้นโอกาสของคุณ
ศูนย์เลสิคพระรามเก้า ให้ความสำคัญกับทุกข้อปัญหาที่คุณสงสัย เพราะเราเข้าใจดีว่า การทำเลสิค เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการศึกษา วางแผน และตัดสินใจ และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เราจึงได้จัดทำบทความนี้ขึ้น เพื่อคลายความสงสัยและข้อกังวลของคุณโดยเฉพาะ
หากท่านมีข้อสงสัยอื่นใดนอกเหนือจากในบทความนี้ สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามกับเราได้ที่ศูนย์เลสิคพระรามเก้า อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.praram9.com/medical_centers/ศูนย์เลสิค/
ศูนย์เลสิคพระรามเก้า เปิดบริการทุกวัน 08.00-16.00 น.
อาคาร B ชั้น 9 โรงพยาบาลพระรามเก้า
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 1270
หรือแอดไลน์ Praram9Lasik